นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (15 สิงหาคม 2565) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความพอใจต่อผลสำเร็จของการดำเนินการโครงการ EEC ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากและเป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ในการที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากรายได้ปานกลางและยกระดับความเป็นอยู่ให้ประชาชนทุกกลุ่มในพื้นที่ EEC มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ในภาพรวมจะเกิดความสำเร็จ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญไปถึงประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ของประเทศให้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการโครงการ EEC รวมถึงการทำให้เกิดการเชื่อมโยง Connectivity โครงสร้างพื้นฐานและคมนาคมอย่างเป็นระบบ ให้เกิดการเจริญเติบโตไปสู่ทุกภาคของประเทศไทยและเชื่อมต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคด้วย โดยนายกรัฐมนตรีย้ำให้ช่วยกันดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต และเพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของ EEC สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปได้ตามแผนที่กำหนดไว้
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของอีอีซี ในช่วง 4 ปีแรก (2561 ? 2565) ซึ่งเกิดการเติบโตที่ดีครบทุกมิติ และเกิดผลประโยชน์ตรงถึงประชาชนทุกกลุ่ม ได้แก่ 1) เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี 2) สามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดย 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve มีสัดส่วน 70% ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้ 3) สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน สิ้นปี 66 จะดำเนินการได้ 100,000 คน และ 4) ผลประโยชน์ตกถึงประชาชน และมีระบบดูแลอย่างยั่งยืน ได้แก่ (1) ผลประโยชน์ทางตรง โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ระบบสาธารณสุขทันสมัย สาธารณูปโภค (น้ำ ไฟฟ้า ขยะ) ทันสมัยเพียงพอ มีโอกาสมีงานทำ รายได้ดี (2) การพัฒนาตรงถึงประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต บูรณาการการลงทุนในชุมชน ผ่านแผนเกษตร แผนพัฒนาเชิงพื้นที่ Neo Pattaya-บ้านฉาง-บ้านอำเภอ-มาบตาพุด-ระยอง (3) โครงการลงถึงระดับชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมทั้งพลังสตรีดูแลสิ่งแวดล้อม อีอีซีสแควร์ บัณฑิตอาสา เยาวชนต้นแบบ โครงการต้นแบบสวนภาษาอังกฤษ และจีน หลักสูตรอีอีซีกับการบริหาร อปท. (4) โครงการสินเชื่อพ่อค้า-แม่ขาย และ SMEs หลังสถานการณ์โควิด กับ 9 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (ปล่อยไปแล้ว 51,420 ราย เป็นสินเชื่อ 34,548 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบถึงแนวทางการดำเนินงานใน 5 ปีข้างหน้าของ EEC บนพื้นฐาน ก้าวกระโดดใน 5 ปีข้างหน้า (2566-70) ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ (1) 5G ของไทยเร็วที่สุด ครอบคลุมมากที่สุดในอาเซียน นำหน้าประเทศอื่น ๆ ประมาณ 2 ปีทำให้บริษัทชั้นนำด้านดิจิตัล หันมาลงทุนใน EEC อนาคตจะเป็นธุรกิจไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี (2) EV นโยบาย EV ของรัฐบาลไทยนำหน้าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยตั้งใจจะเป็น Hub การผลิตของอาเซียนต่อไป ทำให้บริษัทรถยนต์ที่ตั้งใจจะผลิต EV เข้มาลงทุนใน EEC รวมทั้งธุรกิจแบตเตอรี ระบบไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถ EV (3) เทคโนโลยีการแพทย์ และ Wellness การที่ EEC ได้จัดระบบสาธารณสุขและการแพทย์ลงตัว โดยแบ่งงานกันทำทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเปิดฉากการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ทั้ง จีโนมิกส์ และ Digital Hospital ทำให้มีความสนใจการลงทุนทางการรักษาพยาบาลระดับสูง ระบบที่เชื่อมโยงดังกล่าวจะนำไปสู่เครือข่ายธุรกิจ Wellness ทั้ง รพ.ชั้นนำ เวชสำอาง ศูนย์พักฟื้น ธุรกิจโรงแรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ อุตสาหกรรมยา อุปกรณ์การแพทย์ (4) ศูนย์นวัตกรรมสำคัญ เริ่มดำเนินการ ได้แก่ EECi เสร็จระยะแรก กำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดความรู้ เกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ โดรน EV แบตเตอรี EECd ส่วน Digital Valley เปิดดำเนินการแล้ว และจะรับการลงทุน DATA Center แรกปลายปี 65 และ (5) โครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก เข้าสู่ช่วงการก่อสร้างปลายปีนี้ และจะแล้วเสร็จในปี 2568- 2569 ซึ่งจะทำให้ EEC ก้าวเข้าสู่ระยะการขยายตัวที่สำคัญในปี 2569 เป็นต้นไป
สำหรับเป้าหมายของอีอีซี ในช่วง 5 ปีต่อไป (2566-70) คือเป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท (2566-70) โดยจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท และ EEC น่าจะขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ทำให้ประเทศไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้มีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไปสู่หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมได้รับทราบด้วย เพื่อทุกฝ่ายจะได้รับทราบถึงการดำเนินงานดังกล่าวของรัฐบาล ในการเตรียมการประเทศสู่อนาคตในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง และทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก
--------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th