วันนี้ (17 ตุลาคม 2565) เวลา 09.30 น. พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ได้เดินทางลงภาคใต้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมการรับมือฤดูฝน รวมทั้งความคืบหน้าการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ โดยรับฟังการบรรยายสรุป ณ ศาลากลาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้ว่าการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ
โดยภาพรวมภาคใต้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน คาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ จากร่องมรสุมพาดผ่านและพายุโซนร้อนจากทะเลจีนใต้ ส่งผลให้ฝนตกหนัก ปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่มากขึ้น เสี่ยงต่อน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในจังหวัดชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล การบริหารจัดการลุ่มน้ำและโครงการแหล่งเก็บกักน้ำ มุ่งแก้ปัญหาอุทกภัยเป็นหลักและภัยแล้งไปพร้อมกัน
สำหรับการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมัน ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลปัจจุบันมาตลอด จากมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันดีขึ้นต่อเนื่องกว่าร้อยละ 150 และสามารถทำสถิติส่งออกสูงสุด 6.2 แสนตันในปี 2564 และคาดว่าราคาปาล์มน้ำมันในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 บาท/กิโลกรัม
พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จังหวัด และทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมการรับฤดูฝนภาคใต้ที่กำลังมาถึง โดยเน้น 13 มาตรการรับมือฤดูฝน และให้ความสำคัญ สำรวจพื้นที่เสี่ยงและความพร้อมของสถานีสูบน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยให้บริหารจัดการน้ำ ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด พร้อมทั้งขอให้นำบทเรียน การป้องกันและแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยงปีที่ผ่านมา มาบริหารจัดการลดความเสี่ยงและผลความเสียหายจากอุทกภัย และต้องให้ความสำคัญ แจ้งเตือนและนำประชาชนออกจากพื้นที่ให้ทันเหตุการณ์ หากเกิดน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม เพื่อความปลอดภัยของประชาชน พร้อมกันนี้ ขอให้ สทนช. เตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หากจำเป็น
พล.อ.ประวิตร ยังได้ย้ำถึงนโยบายรัฐบาลกับการบริหารจัดการปาล์มน้ำมัน ผ่าน คณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มุ่งแก้ปัญหาปาล์มล้นตลาดและราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำมาตลอด โดยออกมาตรการผลักดันการส่งออกและนำน้ำมันปาล์มส่วนเกินมาผลิตพลังงาน รวมทั้งติดมิเตอร์วัดน้ำมันปาล์มดิบ ส่งผลราคาปาล์มน้ำมันดีขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมออกมาตรการระยะยาว แปรรูป เพิ่มมูลค่าให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สำหรับ การบูรณาการพัฒนาปาล์มน้ำมันของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้มุ่งเป้า Oil Palm City ที่ส่งเสริมการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและดูให้มีการซื้อขายปาล์มน้ำมันที่เป็นธรรม เพื่อดูแลเกษตรกรอย่างทั่วถึงในพื้นที่ พร้อมขอขอบคุณ เกษตรกรปาล์มน้ำมันและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมขับเคลื่อนมาตรการปาล์มน้ำมันอย่างได้ผล
ที่มา: http://www.thaigov.go.th