นายกฯ ประชุม กพศ. เดินหน้านโยบายกระจายการพัฒนาสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษกับจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มโอกาสเติบโตจากฐานราก พร้อมมีมติ 3 เรื่องสำคัญเพิ่มแรงดึงดูดการลงทุน

ข่าวทั่วไป Friday October 21, 2022 14:56 —สำนักโฆษก

นายกฯ ประชุม กพศ. เดินหน้านโยบายกระจายการพัฒนาสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษกับจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มโอกาสเติบโตจากฐานราก พร้อมมีมติ 3 เรื่องสำคัญเพิ่มแรงดึงดูดการลงทุนใช้ศักยภาพของพื้นที่อย่างเต็มที่

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (21 ตุลาคม 2565) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวระหว่างการประชุมว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาการลงทุนเพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค สร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจฐานรากให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง ด้วยการพัฒนาทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 แห่งมีการเชื่อมโยงกับจังหวัดใกล้เคียง จังหวัดที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขออย่าได้กังวลว่าจะได้ไม่รับประโยชน์จากการพัฒนาที่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลและ ก.พ.ศ.ให้ความสำคัญในการพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยง และสร้างประโยชน์ให้เกิดกับพื้นที่และจังหวัดโดยรอบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์

?ขอให้ทุกภาคส่วนประสานงานกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป มีการกำหนดกิจการเป้าหมาย สิทธิประโยชน์สำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่ดึงดูดนักลงทุนและภาคเอกชนให้มาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อันจะทำให้เกิดการขยายตัวในกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่?นายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม กพศ. ได้พิจารณาเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการกำหนดกิจการเป้าหมายสำหรับส่งเสริมการลงทุนเป็นการเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมการพัฒนาสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ให้พร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน โดยมีมติ ใน 3 เรื่อง ดังนี้

1.การกำหนดกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 4 ภาค

เห็นชอบคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเป็นการเฉพาะและเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตามแนวทางที่ กพศ. ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยมีพื้นที่และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้

(1) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC ? Creative LANNA) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 2) อุตสาหกรรมดิจิทัล 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และ 4) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

(2) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC ? Bioeconomy) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมชีวภาพ และ 2) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

(3) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor : CWEC) ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และ 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

(4) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 2) อุตสาหกรรมชีวภาพ และ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) นอกจากนี้ ที่ประชุม กพศ. ได้เห็นชอบข้อเสนอมาตรการ/ปัจจัยสนับสนุนที่จะให้แก่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุน โดยมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ (1) การให้สิทธิประโยชน์ (ทางภาษีและมิใช่ภาษี) (2) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) การพัฒนากำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการ (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก (5) การสนับสนุนเงินทุน และ (6) การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการประกอบกิจการ รวมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมรายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป

2.การทบทวนกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง

โดยเห็นชอบการทบทวนกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง (ตาก สงขลา สระแก้ว ตราด เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กาญจนบุรี และนราธิวาส) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะ SMEs สรุปดังนี้

(1) เพิ่มเติมประเภทกิจการส่งเสริมการลงทุนอีก 17 ประเภทกิจการ (จาก 72 ประเภทกิจการ เป็น 89 ประเภทกิจการ) โดยตัวอย่างประเภทกิจการที่เสนอเพิ่มเติม เช่น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น (2) ปรับมาตรการสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน (โดยจะเริ่มปี 2566) ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนใน 13 กลุ่มกิจการ 89 ประเภทกิจการ ทั้ง 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด

โดยที่ประชุม กพศ. ได้มอบหมายให้ BOI เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามแนวทางที่ กพศ. ให้ความเห็นชอบ และมอบหมายอนุกรรมการภายใต้ กพศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน/การประกอบธุรกิจ (Business Ecosystems) อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศูนย์ OSS การลดขั้นตอนอนุมัติอนุญาตในการจัดตั้งและประกอบธุรกิจ

3.การพิจารณาผลการคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจตาก

โดย กพศ. เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนให้เป็นผู้ได้รับสิทธิพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ตามข้อเสนอของคณะทำงานสรรหา คัดเลือก เจรจา และกำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุนในที่ดินราชพัสดุ ที่กำหนดเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีรูปแบบโครงการลงทุนเป็นการจัดสรรพื้นที่ให้เช่าโดยเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ารวมประมาณ 830 ล้านบาท เนื้อที่ประมาณ 1,076 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม (Factory Zone) ร้อยละ 53 (564 ไร่) พื้นที่สำนักงาน/ศูนย์จำหน่ายสินค้า/ศูนย์ประชุม (Amenity Core) ร้อยละ 5 (57 ไร่) และพื้นที่สีเขียว (Green Space) ร้อยละ 15 (159 ไร่) และให้กรมธนารักษ์พิจารณาดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนทางราชการต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ