วันนี้ (วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2565) เวลา 09.00 น. ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมทางวิชาการ APEC University Leaders? Forum 2022 (AULF) ภายใต้หัวข้อ ?Preventing the Next Pandemic ? The Global Partnership Agenda: Government, Business and Research University? โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของคำกล่าว ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีต่อการจัดการประชุมทางวิชาการในวันนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ APEC รวมถึงเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดจนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน เช่นเดียวกับประเด็นสำคัญในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ ที่มุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือภายใต้แนวคิด ?Open. Connect. Balance.? นอกจากนี้ การประชุมฯ ยังขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการทำวิจัยชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ ที่พร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความถูกต้องของข้อมูล การเผยแพร่/รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ซึ่งภาคการศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการแก่สังคม นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤต โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศในการดำเนินนโยบายและมาตรการการควบคุมโควิด-19 รวมถึงการดูแลประชาชน ทำให้องค์การอนามัยโลกเลือกไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง ?การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า? ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาที่ร่วมมือกับ ศบค. ช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบ ?นวัตกรรมเพื่อสังคม? โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน
นายกรัฐมนตรีหวังว่าการประชุมฯ ในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบต่อไป
อนึ่ง การประชุมทางวิชาการ APEC University Leaders? Forum 2022 จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim University: APRU) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ และการศึกษาของไทยกับภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงเป็นการเสริมสร้างการตระหนักรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของไทย ?Open. Connect. Balance. เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล?
ที่มา: http://www.thaigov.go.th