วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2565) เวลา 09.40 น. ณ ห้อง Plenary Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ ?การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน? ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มี WTO เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ เอเปคสามารถมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล
การสนับสนุนสำคัญอย่างหนึ่งของเอเปคในระบบการค้าพหุภาคี คือ การขับเคลื่อนวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข
ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า นอกจากจะต้องดำเนินการตามแผนงานต่อเนื่องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงขั้นตอนต่อไปด้วย โดยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยรับมือและให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 รวมทั้งยังสนับสนุน MSMEs ที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโต ให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังขยายการเข้าถึงและสร้างโอกาสให้กับสตรี เยาวชน ตลอดจนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังคงมีช่องว่างอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านดิจิทัลและเสริมพลัง เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนทุกกลุ่ม
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปว่า เอเปคเห็นพ้องว่าต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ ยินดีที่เอเปคมุ่งมั่นสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มี WTO เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนวาระ FTAAP โดยเอเปคยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต โดยเฉพาะสำหรับ MSMEs และธุรกิจนอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ไทย หวังว่าแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะช่วยบ่มเพาะความคิดใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมร่วมกันต่อไป
โดยในตอนท้าย ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกันรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพิธีส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคให้สหรัฐอเมริกา โดยรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 พร้อมขอบคุณการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากทุกเขตเศรษฐกิจมาโดยตลอด ซึ่ง ?ชะลอม? ที่เป็นสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ เป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้ในการขนส่งสินค้า บรรจุของใช้ยามเดินทาง และใส่ของขวัญสำหรับมอบให้แก่ญาติมิตร โดย ?ชะลอม? สะท้อนการ ?เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล? และรูปแบบการทำงานของเอเปคได้เป็นอย่างดี ทั้งการผสานความเข้มแข็งที่หลากหลายและความพยายามของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน สาหรับชนรุ่นหลังของเรา โดยนายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะส่งมอบ ?ชะลอม? ใบนี้ ให้เป็นทั้งของขวัญ และสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ยืดหยุ่น และความต่อเนื่องของความร่วมมือของพวกเรา ให้แก่สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพเอเปคในปีถัดไป ทั้งนี้ เอเปคกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ขับเคลื่อนงานของเอเปคต่อไปอย่างไร้รอยต่อ และมั่นใจว่า ประเด็นด้านความยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งระบุในเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่เราได้ร่วมกันวางรากฐานไว้เป็นอย่างดี จะได้รับการสานต่อในปีหน้า ภายใต้หัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐอเมริกา เชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา เอเปคจะได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี พร้อมอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2566
ที่มา: http://www.thaigov.go.th