นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (23 พ.ย.65) เวลา 17.00 น. ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักช์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Thailand Corporate Excellence Awards 2022 และรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2022 พร้อมด้วยรางวัล Thailand Digital Excellence Awards 2022 เพื่อมุ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายชัยวุฒิ? ธนาคมานุสรณ์? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม? พร้อมด้วยกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจชั้นนำขนาดใหญ่และองค์กร SMEs ร่วมภายในงานด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีมอบรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Thailand Corporate Excellence Awards 2022 และรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2022 รับพระราชทานรางวัลหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2022 ประกอบด้วย (1) ประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ได้แก่ บริษัท เค-เฟรช จำกัด และ (2) ประเภทธุรกิจบริการ (Services) ได้แก่ บริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด
สำหรับรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2022 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 9 สาขารางวัลโดยแบ่งประเภทของสาขารางวัลออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ตามจำนวนรายได้รวมของปี พ.ศ. 2565 ดังต่อไปนี้ 1) สาขารางวัลสำหรับองค์กรรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 8 สาขา ได้แก่ (1) สาขาความเป็นเลิศด้านการบริหารทางการเงิน คือ ธนาคารกสิกรไทย (2) สาขาความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล คือ SCG (3) สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คือ Huawei (4) สาขาความเป็นเลิศด้านผู้นำ คือ SCG (5) สาขาความเป็นเลิศด้านการตลาด คือ AIS (6) สาขาความเป็นเลิศด้านสินค้า/การบริการ คือ ธนาคารกรุงไทย (7) สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ บางจาก (8) สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร คือ AIS และ 2) สาขารางวัลสำหรับองค์กรขนาดกลางที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 1 สาขา คือ สาขาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการโดยรวม ได้แก่ SCB X10
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังมอบโล่รางวัล รวมจำนวน 40 รางวัลให้กับองค์กรต่าง ๆ ด้วย แบ่งเป็น 1) Thailand Corporate Excellence Awards 2022 จำนวน 21 รางวัล 2) รางวัล SMEs Excellence Awards 2022 จำนวน 14 รางวัล โดยแบ่งลำดับรางวัล เป็น 2 ระดับ คือ Gold Award และระดับ Silver Award และ 3) รางวัล Thailand Digital Excellence Awards 2022 จำนวน 5 รางวัล
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับทุกองค์กรที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติครั้งนี้ พร้อมแสดงความชื่นชมผู้บริหารทุกคนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้องค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาบริหารจัดการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการสร้างศักยภาพของภาคธุรกิจไทยให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจเอกชนทั้งองค์กรขนาดใหญ่และ SMEs ในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาครัฐเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อมและเครื่องมือสนับสนุนที่ช่วยให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล รวมถึงการดูแลกติกา กฎระเบียบให้มีความเป็นธรรมและกระจายความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในสังคม
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจให้เข้มแข็งว่า มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เห็นได้จากแนวทางในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศของสถาบันระดับโลกทั้ง IMD (International Institute for Management Development) หรือ WEF (World Economic Forum) ที่ต่างมีการพิจารณาถึงประสิทธิภาพของทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ ควบคู่ไปกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเผชิญทั้งจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี การค้าและการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในโลก และปัจจัยภายใน เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัย การขาดแคลนกำลังแรงงานที่มีศักยภาพ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้านสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่มีความเกี่ยวพันกับปัญหาในระดับโลก ซึ่งผู้นำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ต้องสามารถรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง มองเห็นสัญญาณและคาดการณ์ไปข้างหน้า เพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต โดยใช้ความสามารถในการพัฒนาและบริหารทรัพยากรต่างๆ ทั้งคน เงิน เทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรม สินค้าและบริการที่เป็นเลิศ ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และมีความยั่งยืน โดยไม่สร้างปัญหาและผลกระทบทางลบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีภูมิคุ้มกันอย่างมั่นคง พร้อมย้ำขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายที่จะพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยการสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงจากเทคโนโลยี ขจัดข้อจำกัดที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นใดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรี ชื่นชมสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ TMA และองค์กรพันธมิตร ที่มีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจของไทย ให้มีความรู้ที่เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงและมีความพร้อมในการบริหารจัดการธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่ในโลกแห่งอนาคตแล้ว รวมทั้งได้ริเริ่มจัดให้มีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติ ให้กำลังใจ และเผยแพร่ผลงานขององค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัล เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีแก่องค์กรอื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จขององค์กรที่มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ควบคู่กับการผลักดันให้องค์กรธุรกิจไทยสามารถก้าวเดินเทียบเคียงไปกับประชาคมโลกได้ พร้อมย้ำถึงรางวัลที่องค์ต่าง ๆ ได้รับในวันนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่จะเดินหน้าพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ และขอเป็นกำลังใจให้ทุกองค์กรธุรกิจไทยมุ่งมั่นพัฒนาการบริหารจัดการองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับความสามารถของประเทศต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th