และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
วันนี้ (19 มกราคม 2566) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเปาโล ดีโอนีซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ ไทยและอิตาลีต่างมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนาน ซึ่งในปีนี้ครบรอบ 155 ปี และฝากความยินดีไปยังนางจอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลี พร้อมเชื่อมั่นว่าไทยและอิตาลีมีศักยภาพร่วมกันผลักดันความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา ความร่วมมือด้านอาหารและการเกษตร วิทยาศาสตร์ อวกาศ รวมถึงเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โดยไทยยินดีสนับสนุนการทำงานของเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือให้ก้าวหน้าและมีผลเป็นรูปธรรมต่อไป
เอกอัครราชทูตอิตาลีฯ ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในไทย ชื่นชมที่ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเสมอมา ยืนยันจะเป็นตัวแทนสานต่อภารกิจต่าง ๆ และส่งเสริมความร่วมมือให้เพิ่มพูนมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าไทยและอิตาลีสามารถเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรปได้ พร้อมชื่นชมการรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok goals on BCG) ที่รัฐบาลไทยได้นำเสนอในการจัดการประชุมเอเปคที่ผ่านมา ซึ่งอิตาลีพร้อมสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวผ่านการค้าการลงทุนร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองภูมิภาค
ด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เอกอัครราชทูตอิตาลีฯ เน้นย้ำว่า อิตาลีเห็นถึงศักยภาพของไทยที่มีเสถียรภาพ และสามารถเป็นพื้นที่ขยายการลงทุนในด้านต่าง ๆ ร่วมกันได้ในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งมีนักธุรกิจอิตาลีให้ความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มเติมจำนวนมาก เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ รวมทั้งยังมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อจัดงาน Road Show ของภาคธุรกิจในทวีปยุโรป ช่วงเดือนมีนาคม ปี 2566 นี้ ด้านนายกรัฐมนตรียินดีและพร้อมร่วมมือกับอิตาลีเพื่อผลักดันการค้าการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น
ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งในหลักสูตรการศึกษาที่มีให้กับโรงเรียนเสนาธิการทหารบกและนักเรียนนายร้อยของไทย รวมถึงหลักสูตรฝึกอบรมที่มีให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณอิตาลีที่ได้ส่งบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเข้าร่วมงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศที่ประเทศไทยจัดขึ้นด้วย
ด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการพัฒนาการศึกษารูปแบบใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรทั้งผู้เรียนและผู้สอน โดยเอกอัครราชทูตอิตาลีเห็นพ้องและพร้อมให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยเพิ่มเติมในสาขาที่ไทยต้องการเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการทางทักษะอาชีพในอนาคต
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกรัฐมนตรีเห็นพ้องที่จะสานต่อความร่วมมือระหว่าง GISTDA และ Italian Space Agency ในด้านอวกาศและดาวเทียม และความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทย (Thailand Center of Excellence for Life Sciences: TCELS) กับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของอิตาลีในด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมทั้งหวังว่าอิตาลีจะต่อยอดความร่วมมือและขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ของไทยในกรอบ EEC ด้วย
ด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีสนับสนุนบทบาทของอิตาลีในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งชื่นชมวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของอิตาลีในการจัดทำ Italy?s Contribution to the EU Strategy for the Indo-Pacific ด้านเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ ยินดีที่ทั้งสองประเทศจะสามารถส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ยินดีที่การเจรจาร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-สหภาพยุโรป (Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ประสบความสำเร็จ ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้รักษาพลวัตความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรปนี้ไว้ต่อไป บนพื้นฐานของความไว้วางใจและการเคารพซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตอิตาลีฯ กล่าวว่า นางจอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ฝากความปรารถนาดีมายังนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทย รวมทั้งแสดงความประสงค์จะมาเยือนไทยเป็นโอกาสแรก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th