บอร์ด กพช. เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางในช่วงวิกฤตพลังงาน ม.ค.-เม.ย. 66 วงเงินช่วยเหลือ 4,300 ล้านบาท นายกฯ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมประหยัดพลังงานต่อเนื่อง ควบคู่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น
วันนี้ (13 ก.พ.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2566 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีย้ำการทำงานของทุกหน่วยงานต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่น และเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการด้านพลังงานต่าง ๆ ทั้งเรื่องก๊าซ น้ำมัน ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องสร้างการรับรู้ต่อเนื่อง ให้สังคมเกิดความเข้าใจและเกิดความเชื่อมั่นต่อการทำงานและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และขอให้มีการประสานงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่องใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ตามเป้าหมาย รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานดังกล่าวให้สังคมและประชาชนได้รับทราบอย่างกว้างขวาง และขอให้รณรงค์ส่งเสริมประชาชนทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันให้เร่งส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดในประเทศให้มากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กรอบนโยบายพลังงานที่สนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) ตามที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมณ์ไว้ต่อประชาคมโลก
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ให้เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามแนวทางของอุตสาหกรรม New S Curve ของประเทศไทย โดยเน้นย้ำต้องทำให้ครบวงจรทั้งระบบ และมีการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่หมดอายุหลังการใช้งานแล้วให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและสร้างการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเดินหน้าไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยขอให้ทุกคนร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
ที่ประชุม กพช. ได้มีการพิจารณาการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่ กพช. ได้เคยมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคา LNG ในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน (พน.) ได้มีการดำเนินการโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รับใบอนุญาต Shipper (LNG Shipper) ทั้ง 8 ราย มาหารือถึงปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งได้ประเด็นปัญหาที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากสถานการณ์ราคา LNG ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ Shipper รายใหม่ ไม่สามารถแข่งขันกับ Shipper รายเดิมในกลุ่ม Regulated Market ได้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้พลังงาน ที่ประชุม กพช. จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยมีโครงสร้างกิจการ ดังนี้
1. ธุรกิจต้นน้ำ ให้ PTT Shipper บริหารจัดการ Old Supply และ Shipper ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้ โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจัดหา LNG ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay
2. ธุรกิจกลางน้ำ ให้ Shipper ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ขายก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่จัดหาได้ให้กับ Pool Manager เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) และให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ Pool Manager รวมทั้ง ให้ดำเนินการจัดตั้ง Transmission System Operator (TSO) เป็นนิติบุคคลใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566
3. ธุรกิจปลายน้ำ ให้ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Pool Manager ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ Shipper ในกลุ่ม Partially Regulated Market ให้ขาย LNG ให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ สนพ. และ กกพ. ร่วมกันพิจารณาเพิ่มเติมแนวทางบริหารและกำกับดูแลโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่มีการทบทวนครั้งนี้ ให้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการหลายราย และทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันดังกล่าว
รวมทั้งที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับวงเงินลงทุนโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของ ปตท. ที่ กพช. ได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 จากเดิมวงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็น 13,590 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในส่วนของพื้นที่และวิธีการวางท่อก๊าซธรรมชาติซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการปรับเพิ่มสูงขึ้น และ มอบหมายให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุนโครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน
พร้อมทั้งที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางในช่วงวิกฤตพลังงาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการให้ความร่วมมือของ ปตท. ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนในช่วงเดือน มกราคม - เมษายน 2566 วงเงินช่วยเหลือจะอยู่ที่ประมาณ 4,300 ล้านบาท และให้ กฟผ. สามารถนำต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงดังกล่าว ไปใช้ในการลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางข้างต้น โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มีการพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการตามข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเห็นชอบแนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ตามแนวทางการดำเนินการตามข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบให้ใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า แทนการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2575 ที่มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ให้เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามแนวทางของอุตสาหกรรม New S Curve ของประเทศไทย โดยมีแนวทางการส่งเสริมให้แบตเตอรี่เป็นอุตสาหกรรม New S Curve จะครอบคลุม 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ (1) การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการใช้แบตเตอรี่ในประเทศ (2) การผลิตระบบกักเก็บพลังงาน เป็นการส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการแข่งขันการผลิตของประเทศในห่วงโซ่มูลค่า และการผลิตแบตเตอรี่เพื่อความยั่งยืนในประเทศ (3) กฎหมาย และมาตรฐาน มุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการทางกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ และมาตรฐานของประเทศให้สามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และ (4) การวิจัยและพัฒนาและสร้างบุคลากรรองรับ เป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และเป็นการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรภายในประเทศ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ คณะกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน กำกับติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานประเภทแบตเตอรี่ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 - 2575 และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th