รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตรฯ พอใจทรัพยากรทางทะเลสมบูรณ์ขึ้น หนุนกระตุ้นประชาชนร่วมสร้างความสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืน
วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมมูลนิธิป่ารอยต่อฯ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้ง 1/2566 ผ่านระบบ VTC โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิภาครัฐและภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมรับทราบ ความคืบหน้าสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทย มีแนวโน้มทิศทางดีขึ้น จากผลสำรวจ พบแนวปะการัง 1.5 แสนไร่ สมบูรณ์มากถึงร้อยละ 52.3 และมีกว่า 280 ชนิด ด้านป่าชายเลน พบเป็นป่าสมบูรณ์จำนวน 1.74 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 9 ปีก่อน 2 แสนไร่ ด้านสัตว์ทะเลหายาก พบการวางไข่ของเต่าทะเลจำนวนมากถึง 502 รัง พะยูน 261 ตัว โลมาและวาฬ 3,025 ตัว ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ซึ่งจะเกื้อหนุนต่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สร้างรายได้และอาชีพให้ชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำการประมงของไทย
พร้อมทั้งรับทราบ การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้ดำเนินการแล้วระยะทาง 733.62 กม. จากพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะจำนวน 822.81 กม. เหลือเพียงระยะทาง 89.19 กม. ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แบ่งเป็นพื้นที่กัดเซาะรุนแรง ระยะทาง 11.11 กม. พื้นที่กัดเซาะปานกลาง ระยะทาง 45.03 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะน้อย ระยะทาง 33.05 กม.
ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบ ร่าง แผนดำเนินงานลดผลกระทบการระบาดของโรคปะการังสีเหลือง หมู่เกาะสัตหีบ - แสมสาร จว.ชลบุรี และเกาะเต่า จว.สุราษฎร์ธานี ระยะเร่งด่วนและระยะ 5 ปี พร้อมทั้งให้เร่งจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนฯ ระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ที่ได้ผลดียิ่ง สามารถประกาศให้แหล่งอาศัยของพะยูนใน อ.ปะเหลียน จว.ตรัง เป็นพื้นที่คุ้มครองและได้จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์พะยูนฯ ออกลาดตระเวนครบ ทั้ง 13 พื้นที่ โดยสามารถช่วยชีวิตพะยูนที่เกยตื้นได้ 5 ตัว โดยขอให้นำปัญหาของแผนระยะ 1 ไปพัฒนาปรับแผนให้เกิดประสิทธิภาพ
พลเอก ประวิตร ฯ กล่าวขอบคุณ คณะกรรมการฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เป็นระบบ เชื่อมโยงแก้ไขปัญหาในมิติต่าง ๆ อย่างมีพัฒนาการ โดยสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสร้างความสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากขึ้น โดยกำชับ ทส.ขอให้เร่งจัดทำแผนแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ยังคงเหลือ เพื่อรักษาพื้นที่ชายฝั่งและระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเลอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งหนุนให้สร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นไปพร้อมกัน โดยขอให้มุ่งการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสมดุล รู้คุณค่าและยั่งยืน พร้อมย้ำจะต้องให้ความสำคัญ เร่งรัดดำเนินการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มเติม การแก้ไขปัญหาขยะทะเลและการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ทศวรรษแห่งมหาสมุทร ที่ประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือก เป็นที่ตั้งสำนักงานประสานทศวรรษแห่งมหาสมุทร ให้บรรลุผลสำเร็จและเป็นรูปธรรม
ที่มา: http://www.thaigov.go.th