วันนี้ (5 เมษายน 2566) เวลา 09.30 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ครั้งที่ 2/2566 ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ โดยมี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมประชุมขับเคลื่อนการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า ทั้งในพื้นที่อนุรักษ์และในพื้นที่ชุมชน เพื่อกำหนดมาตรการและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า
โดยที่ประชุมเห็นชอบ กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน ได้แก่ (1) การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า (2) แนวป้องกันช้างป่า (3) ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า และเครือข่ายชุมชน (4) การช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า (5) การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และ (6)การควบคุมประชากรช้างป่า เพื่อเป็นแนวทางการจัดการช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ นำไปสู่การอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า ทำให้เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนต่อไป
ต่อจากนั้น เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร ฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/66 โดยมี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมประชุม
ที่ประชุมเห็นชอบ การเข้าร่วมดำเนินงานและขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนสูงถึง 265 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาดว่าการดำเนินงานดังกล่าว จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 130,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) แผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 135,000 ตารางกิโลเมตร โดยมอบหมายให้ ทส.และหน่วยเกี่ยวข้องนำไปประกอบใช้ประโยชน์ รับมือลดความสูญเสียและความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดย ทส. จะจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงระดับจังหวัดและระดับชุมชน ต่อไป
พร้อมทั้งรับทราบ โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF) เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินต่อกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ในการปรับเปลี่ยนวิถีของเกษตรกรไทย ไปสู่การทำนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ดำเนินการ 4.5 ล้านไร่ ครอบคลุม 21 จังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรับทราบการเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ การจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และการผลักดันโครงการเปลี่ยนรถโดยสารประจำทางสาธารณะของภาคเอกชนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (รถร่วมบริการ) ในพื้นที่ กทม.
โดย พลเอก ประวิตรฯ ย้ำทุกหน่วยงานอย่างมุ่งมั่นว่า ปัญหามลภาวะที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถรอช้าได้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายรัฐบาล จึงเป็นทางออกที่ต้องร่วมกันเร่งสนับสนุนขับเคลื่อน และปลดล็อคปัญหาต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น การดึงเอกชนในภาคอุตสาหกรรม เข้าร่วมด้วยสำนึกประโยชน์และความเข้าใจร่วมกัน จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น พร้อมทั้งขอให้เร่งการเปลี่ยนรถประจำทางในกรุงเทพมหานคร เป็นรถไฟฟ้าทั้งระบบให้เร็วขึ้นกว่ากำหนด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th