วันนี้ (15 พฤษภาคม 2566) เวลา 10.20 น. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงผ่านระบบวีดิทัศน์ ในพิธีเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก(ESCAP) สมัยที่ 79 ภายใต้หัวข้อ ?Accelerating climate action in Asia and the Pacific for sustainable development? นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าประเทศไทยตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ หลายพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประสบภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศบ่อยครั้ง และได้รับความเสียหายมากขึ้นซึ่งถือได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุ SDG ในภูมิภาค จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับการดำเนินการความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขีดความสามารถในการรับมือและปรับตัว ช่วยสร้างระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างสมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม
สำหรับประเทศไทยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ และได้ปรับปรุงเป้าหมายภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด และจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 และสนับสนุนการขยายความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอ 3 ประเด็นสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค ดังนี้
1. ความร่วมมือภายใต้ ESCAP ควรสอดประสานและต่อยอดจากความร่วมมือภายใต้กรอบอื่น ๆ ในภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น Bangkok Goals on BCG ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างความเติบโตอย่างสมดุลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการขับเคลื่อน SDG ควบคู่กับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ
2. การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ไทยมีดาวเทียมสำรวจเพื่อติดตามข้อมูลเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ รวมถึงการเฝ้าระวังสภาวะอากาศแห้งแล้งและจุดความร้อนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหามลพิษและหมอกควันข้ามแดน ซึ่งไทยพร้อมเพิ่มความร่วมมือผ่านกลไกทุกระดับ
3. การจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพและเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขจะช่วยบรรเทาผลกระทบการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ESCAP มีความเชี่ยวชาญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคได้ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิก
โดยการประชุม ESCAP ปีนี้มุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค ให้ผลลัพธ์ของการหารือต่อยอดในการประชุมสุดยอดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ ในการประชุม UNGA สมัยที่ 78 เดือนกันยายนปีนี้ เพื่อสะท้อนแนวทางการพัฒนา และดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ไทยได้เสนอให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ ปี ค.ศ. 2028 ภายใต้แนวคิด ?ชีวิตแห่งอนาคต: แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว? นำเสนอตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนของจังหวัดภูเก็ต มุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม
ในท้ายของการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมและสนับสนุนการดำเนินงานของ ESCAP ในการเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การประชุม ESCAP สมัยที่ 79 จะประสบผลสำเร็จไปด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านจะประทับใจกับการต้อนรับที่อบอุ่นของคนไทยตลอดการเยือนประเทศไทยครั้งนี้
อนึ่ง การประชุม ESCAP จัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ เป็นสมัยที่ 79 ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 19 พฤษภาคม 2566 ในรูปแบบผสม (hybrid) หัวข้อหลักคือ ?Accelerating climate action in Asia and the Pacific for sustainable development? เกี่ยวกับการเร่งรัดการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตองกาเป็นประธานการประชุมเนื่องจากในครั้งนี้เป็นวาระการเป็นประธานการประชุมของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th