นายกรัฐมนตรีประกาศต่อต้านคอรัปชัน ยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส เป็นรัฐบาลดิจิทัล เปลี่ยน “รัฐอุปสรรค” เป็น “รัฐสนับสนุน”

ข่าวทั่วไป Wednesday September 6, 2023 14:45 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีประกาศต่อต้านคอรัปชัน ยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส เป็นรัฐบาลดิจิทัล เปลี่ยน ?รัฐอุปสรรค? เป็น ?รัฐสนับสนุน?

วันนี้ (6 กันยายน 2566) เวลา 11.45 น. ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมงานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมพลังคนไทยต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้าร่วม โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านคอรัปชันร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกองค์กรทุกภาคส่วน

นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า การปราบปรามการทุจริตและเรื่องความโปร่งใสของรัฐบาล เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของรัฐบาล และเป็น ?หน้าที่? ของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องสนับสนุน และปฏิบัติตาม อย่างไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เป็นอันดับที่ 101 ของโลก ในด้านของดัชนีการรับรู้การทุจริต เป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากที่จะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อภาครัฐแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เศรษกิจไทยถดถอย และมีผลต่อเนื่องไปสู่ปัญหาการขับเคลื่อน GDP ของประเทศอีกด้วย เพื่อที่จะขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไป ทางรัฐบาลมีนโยบาย ทั้งด้านการใช้หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law ที่เข้มแข็ง และนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในกระบวนการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทำให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะช่วยพี่น้องประชาชนได้ทั้งความโปร่งใส และการให้บริการภาครัฐที่เร็วยิ่งขึ้น ใช้หลักนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงมาจากระบบการเขียนกฎหมาย และการออกกฎหมายที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันกำหนดทิศทางและอนาคตของตัวเองและของประเทศ ปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดกระบวนการและเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เปลี่ยน ?รัฐอุปสรรค? ให้เป็น ?รัฐสนับสนุน? และป้องกันการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เรียกรับเงินสินบนจากประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า นอกจากกฎหมายที่เข้มแข็งแล้ว รัฐบาลของเราจะให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษที่เฉียบขาดและครอบคลุม เจ้าหน้าที่รัฐในหลาย ๆ ตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และในระดับสูงจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อแสดงความโปร่งใส และเปิดให้ประชาชนร่วมตรวจสอบการมีกฎหมายที่เข้มแข็ง เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และการบังคับใช้กฎหมายที่โปร่งใส ยุติธรรม มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้นี้จะส่งเสริมความแข็งแกร่งและสร้างรากฐานของสังคมที่เคารพในกฎหมายร่วมกัน และขจัดการคอร์รัปชันให้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งนอกจากนิติธรรมที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว เราจะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้เราสามารถเกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตัวอย่าง นโยบายที่จะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้คือ

1) ใช้ระบบการจ่ายเงินภาครัฐผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด

2) เปิดให้ขอใบอนุญาตและการติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ขอได้โดย ?ง่าย? เป็น One-stop service (พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565)

3) ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ทันสมัยและโปร่งใส เพื่อป้องกันการทุจริต และเปิดข้อมูลให้ตรวจสอบได้ตามแนวทาง Open Government

4) ปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศของรัฐบาลให้เป็น Digital Government และปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับระบบการอนุมัติ การอนุญาต การควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้มีความโปร่งใส และลดการต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ติดต่อกับประชาชน

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าภายใต้การทำงานของรัฐบาล ปัญหาการคอร์รัปชันจะลดลง ความโปร่งใสและเป็นธรรมจะเพิ่มมากขึ้น และตามมาด้วยความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชนและนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ดีต่อเศรษกิจของประเทศต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอจากนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จำนวน 5 ข้อ ดังนี้

1. กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วนมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์

2. สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล

3. เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น

4. ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง

5. แก้ไขกฎระเบียบราชการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันที อย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาเชิงรุก ปลุกพลังคนไทยร่วมตรวจสอบโครงการเสี่ยงทุจริตคอร์รัปชัน ด้วยเว็บไซต์ ?ACT Ai? ?แค่สงสัยก็เสิร์ชเลย? องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงาน ?วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566?

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ