นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทย ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา / 22 กันยายน 2566
วันนี้ (22 กันยายน 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงภาพรวมการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลว่ามีภารกิจที่หลากหลาย รวมถึงคณะที่ร่วมเดินทางมาด้วย ทั้งรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีการโอกาสขึ้นพูดในหลายเวที เช่น ประเด็นโลกร้อน สันติภาพ อากาศบริสุทธิ์ ความมั่นคงทางอาหาร ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อารยะเกษตร และยังได้พบปะพูดคุยกับผู้นำหลายประเทศ อาทิ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ได้มีการหารือเรื่องความมั่นคงชายแดน สนับสนุนให้มีการค้าสูงขึ้น
สำหรับบทบาทของไทยในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ในครั้งนี้ โดยกล่าวถึงปัญหาของโลกจากอากาศร้อนที่ปัจจุบันเป็นโลกเดือด ที่หลายประเทศยัง fall behind ในดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ซึ่งเราต้องรวมพลังกัน ทั้งนี้ การประชุมก็มีเรื่องที่เห็นต่างกัน และเห็นตรงกัน ความมั่นคงทางอาหาร ที่โลกร้อน โลกเดือดทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีความมั่นคงทางอาหารสูง ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้ง อากาศที่ผันผวน ทำให้ไทยต้องกลับมาดูในเรื่องนี้ว่าทำอะไรได้บ้าง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อดึงภาคการเกษตรในการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม การเพาะปลูก การใช้หนองน้ำเลี้ยงปลา ซึ่งหลายอย่างสามารถนำมาปรับใช้ได้
นอกจากนี้ยังถือเป็น wake up call ที่ให้รู้ว่ามีโรคระบาด ซึ่งทำให้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ถูกจำกัด หรือได้รับการดูแลเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ประเทศไทยโชคดีที่มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวของประชากรมาก การดูแลดียังไงก็ไม่เพียงพอ ถ้าประเทศอื่นไม่ดูแล ซึ่งสหประชาชาติควรเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกประเทศมีระบบ Healthcare ที่ดีเหมือนประเทศไทย โดยประเทศไทยจะไม่หยุดยั้ง มีการยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุข
ขณะที่ด้านสันติภาพที่ยั่งยืน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ไทยมีความเชื่อในความสงบ ความเจริญที่ยั่งยืน โดยไม่ไปก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศ ปัจจุบันมีสถานการณ์ความไม่สงบ ไทยเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก แต่มีความภูมิใจในเอกราชที่เรามี สบายใจที่เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ เป็นหน้าที่ผู้นำและรัฐบาลที่ดำรงไว้ซึ่งเอกราช เชื่อในสันติสุขและความเจริญที่ยั่งยืน รวมทั้งรัฐบาลยังคำนึงถึงการดูแลสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่ใช่แค่การดูแลภายในประเทศอย่างเดียว แต่ไทยเองมีประเทศเพื่อนบ้าน ต้องดูแลผู้อพยพ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ช่วยดูแลนักธุรกิจให้มีโอกาสพบปะร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งตลอด 4 วัน ได้ทำหน้าที่ที่ถือเป็นก้าวแรกในการประกาศให้โลกรู้ว่า ไทยเปิดประเทศแล้ว พร้อมแล้วที่จะลงทุนข้ามชาติ ทั้งสองทาง ทุกคนยินดี และเข้าใจว่าถึงเวลาที่ต้องมีผู้นำและมีการค้าขายระหว่างกัน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th