รองนายกฯ นายปานปรีย์ เผยรัฐบาลมุ่งส่งเสริมทุนมนุษย์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกก้าวสู่ยุค 5.0 ที่เป็น Sustainable Intelligence-Based Society หรือ สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday November 22, 2023 14:57 —สำนักโฆษก

เตรียมพร้อมคนที่มีความรู้และทักษะเชิงเทคโนโลยี ควบคู่กับการตระหนักรู้ด้านความยั่งยืน

วันนี้ (22 พ.ย. 2566) เวลา 10.00 น. ณ ESCAP Hall ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมาย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม UN Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum) ประจำปี 2566 ในหัวข้อ ?Partnership for Human Capital 5.0 towards Sustainable Intelligence-Based Society ขับเคลื่อนศักยภาพทุนมนุษย์สู่ยุคเศรษฐกิจ 5.0 เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน? สรุปสาระสำคัญดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่โลกให้ความสำคัญสูงสุดซึ่งทุกภาคส่วนในไทยต้องร่วมมือกัน เพื่อเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ได้หารือและมอบนโยบายกับเอกอัครราชทูตและกงสุลไทยทั่วโลกในเรื่องนี้ และในวันนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยินดีที่ได้มาหารือในวันนี้เพราะภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกัน

ปัจจุบันโลกรวมถึงไทยต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่บัดนี้เข้าสู่สภาวะโลกเดือด และ Digital disruption ซึ่งส่งผลกระทบความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน ห่วงโซ่อุปทาน และเศรษฐกิจโลก รวมถึงกระทบต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งขับเคลื่อน SDGs ทุกเป้าหมาย เพราะเชื่อมโยงกับหลายประเด็น เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีหลายมิติ ความยากจน และปัญหาสุขภาพ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องทำงานด้วยกันทุกภาคส่วน รัฐบาลยังส่งเสริมการทำงานในระดับพื้นที่ที่เรียกว่า SDGs Localization เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่และชุมชน

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ เพราะคนที่เป็น Key Driver ของทุกสิ่งแม้กระทั่ง AI เพราะคนมีสติปัญญา อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งหุ่นยนต์ก็ยังไม่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้ การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมา ไทยได้น้อมแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับ SDGs โดยเน้นการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับคนเป็นศูนย์กลาง

รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้นำเสนอแนวทางเศรษฐกิจใหม่ที่จะต่อยอดสิ่งเหล่านี้ โดยประกอบด้วย 3 มิติ ที่มีคนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานในทุกด้าน คือ

1) Green Growth ต้องคำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยปัจจุบันประเทศไทยมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินการหลายด้าน เช่น การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการใช้พลังงานฟอสซิล และการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด การออก Sustainability-Linked Bond นอกจากนี้ ไทยยังส่งเสริมให้เอกชนให้ความสำคัญกับรองรับมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและเกณฑ์ต่างๆ ในการประกอบทุกธุรกิจ เพื่อเป็นมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม

2) Innovation-driven Growth ซึ่งต้องใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI และเทคโนโลยีดิจิทัล ในการดำเนินนโยบายภาครัฐ และการทำธุรกิจของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ big data เพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาความยากจน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการตรวจสุขภาพทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทางมาพบแพทย์ การเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงการเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการภาครัฐ รวมทั้งการสร้างระบบการเงินบนพื้นฐานของเทคโนโลยี Block chain

3) Community based-growth ต้องตระหนักว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้หมายถึงตัวเลขผลประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งการยกระดับแรงงาน การพัฒนากระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ การสร้างงานโดยมีนโยบายด้านแรงงานที่นำไปสู่การจ้างงานเต็มที่และมีคุณภาพสำหรับทุกคน

โดยในระยะต่อไปต้องเน้นการพัฒนาในระดับท้องถิ่นหรือ SDGs Localization เพื่อกระจายรายได้ และความเจริญไปทั่วประเทศ สร้างประโยชน์สำหรับธุรกิจและคน ตลอดจน Supply chain และต้องสร้างความเข้มแข็งให้คน เพื่อให้คนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนและประเทศ พัฒนาคนให้เต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย ให้ความคิดสร้างสรรค์และริเริ่ม เพื่อตอบโจทย์ด้าน Creativity เพื่อเสริมสร้างผลิตภัณฑ์และประเทศในภาพรวม สำหรับในด้านการศึกษา ภาครัฐเร่งดำเนินการกำลังปฏิรูปการศึกษาแบบองค์รวม เพื่อให้การศึกษาตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ระบบการศึกษาไทยยังต้องปลูกฝังเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและการดำเนินธุรกิจตามแนวทางข้างต้น โดยภาครัฐกำลังเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงสนามบิน การริเริ่มโครงการ Landbridge เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ และเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ขยายโอกาสทางการค้ากับประเทศต่างๆ และผลักดันการทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA รวมถึงร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค ผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกหรือ IPEF เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนคุณภาพสูง รวมถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจดิจิทัล

ในภาคส่วนอื่นๆ ก็มีบทบาทและความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างความเติบโตให้กับประเทศ อาทิ ภาคการเงิน การธนาคาร และตลาดทุน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ชุมชน อาสาสมัคร เยาวชน สื่อสารมวลชน โดยทุกภาคส่วนล้วนมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น หากทุกภาคส่วนสามารถบูรณาการการทำงานได้มากขึ้น ก็จะลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน โดยเน้นการทำงานที่เสริมและเกื้อกูลกัน เพื่อประสิทธิภาพและผลที่เป็นรูปธรรม

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะคืออนาคตของประเทศและจะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมต่อไป รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ สำหรับภาคเอกชน ก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ ด้วยการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในหลากหลายมิติ เช่นกัน วัด Carbon footprint ขององค์กร การสนับสนุน Supply chain ในธุรกิจให้เป็นธุรกิจสีเขียว การให้โอกาสธุรกิจเล็กๆ หรือสร้างสรรค์ business model ใหม่ พร้อมยังกล่าวชื่นชมที่ภาคเอกชนหลายราย ได้ริเริ่มดำเนินการเองโดยความสมัครใจ และขอสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป

ในช่วงท้าย รองนายกรัฐมนตรีฯ ขอบคุณสมาคมเครือข่าย Global Compact แห่งประเทศไทยอีกครั้ง สำหรับการจัดงานในวันนี้ โดยชื่นชมบทบาทที่แข่งขันในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การประกาศเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมทั้งการส่งเสริมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และจึงเป็นเหตุผลที่ไทยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวาระปี ค.ศ. 2025-2027 เพื่อให้ไทยได้มีส่วนร่วมกับนานาประเทศ ในการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป

ทั้งนี้ การประชุม GCNT Forum จัดโดยสมาคมเครือข่าย Global Compact แห่งประเทศไทย เพื่อหารือระหว่างสมาชิกของสมาคมมากกว่า 100 บริษัท พร้อมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งไทยและต่างประเทศ ในการส่งเสริมการสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อเตรียมพร้อม ?คน? ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและต่อประเทศ สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกก้าวสู่ยุค 5.0 ที่เป็น Sustainable Intelligence-Based Society หรือ สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ซึ่งมนุษย์และเทคโนโลยีประสานรวมกัน ที่มนุษย์มีความรู้และทักษะเชิงเทคโนโลยี ควบคู่กับการตระหนักรู้ด้านความยั่งยืน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ