?รองนายกฯสมศักดิ์? นั่งหัวโต๊ะ กพต. ตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายจังหวัดชายแดนใต้ หวัง ทบทวน?พรก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ความมั่นคง? ชง แก้มาตรา 21 เปิดโอกาสให้กลับตัว จี้ เดินหน้าทำงานเต็มที่ ขณะที่ ?ทรงศักดิ์? ชี้ แก้แบบเดิมไม่ได้ ต้องทบทวน พร้อมเปรียบงบแก้ใต้
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) โดยมีนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุม กพต.มีเรื่องพิจารณาที่สำคัญคือ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังตนได้มีโอกาสปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ จึงมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ เพื่อทบทวนการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน และการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง รวมถึงการคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ให้เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาล ที่บังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะจำกัดสิทธิเท่าที่จำเป็น เพื่อให้นำไปสู่การสร้างสันติสุขในพื้นที่ รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย
?ในสภาผู้แทนราษฎร มักมีการอภิปรายถึงการบังคับใช้กฎหมาย 3 พี่น้อง ซึ่งผมได้เป็นประธานการพิจารณาการต่อ พรก.ฉุกเฉิน ก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เพราะขณะนี้ ต้องยอมรับว่า การต่อ พรก.ฉุกเฉิน ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ จึงทำให้เราต้องทำงานอย่างหนักมาตลอด ดังนั้น เราต้องช่วยกันพิจารณาว่า สิ่งใดที่ยังไม่สะดวก ก็ต้องมีการพิจารณาปรับแก้ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหา และตรงตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินทั้งหมดในปี 2570 ซึ่งถ้านับระยะเวลาก็พอดีกับอายุรัฐบาลพอดี โดยทำให้เรา จะเดินหน้าอย่างเดิมไม่ได้ ซึ่งต้องเร่งขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่? รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหา กลับตัวและร่วมมือกับภาครัฐ โดยให้เข้าอบรมแทนการดำเนินคดี เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคง แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีการนำมาใช้ หลายฝ่ายจึงเห็นสมควรให้มีการปรับแก้ไข เพราะพบปัญหาอุปสรรคจำนวนมาก เช่น บุคคลต้องอยู่ในพื้นที่เท่านั้นถึงเข้าร่วมได้ ระยะเวลาอบรม 6 เดือน อาจไม่เพียงพอ สิทธิทางคดีในชั้นศาลยังไม่ชัดเจน ผู้เข้ารับการอบรมกลับใจ ไม่ยินยอมในภายหลัง รวมถึงตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ผ่านการอบรมเพียง 7 คนเท่านั้น ทำให้ กอ.รมน. ได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคง ในมาตรา 21 เรียบร้อยแล้ว โดยจะเพิ่มระยะเวลาอบรม 6 เดือน - 2 ปี และจะขยายให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่ยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาด้วย รวมถึงกำหนดหน่วยงานช่วยเหลือดูแลหลังการอบรมอย่างชัดเจน ดังนั้น ตนขอฝากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันพิจารณาการปรับแก้กฎหมายนี้ด้วย
ขณะที่ นายทรงศักดิ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายสมศักดิ์ เพราะการแก้ปัญหาผ่านมาแล้ว 18 ปี แต่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนนโยบายต่างๆว่า สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะจากข้อมูลการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 33 อำเภอ พบว่า แก้ได้ไม่ถึง 50% รวมถึงมีบางพื้นที่ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ไปแล้ว แต่ก็ต้องมีการกลับมาประกาศใช้ เนื่องจากมีเหตุเพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้ามีการเปรียบเทียบงบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาภาคใต้ทั้งหมด ไปซื้อเป็ด ก็จะพบว่า เป็ดเดินชนกันตายอย่างแน่นอน โดยเราต้องมาช่วยกับทบทวนแล้วว่า นโยบายที่ผ่านมาใช่หรือไม่ ซึ่งถ้าใช่ต้องมีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน โดยตนมองว่า ข้อกฎหมายใดที่ยังพบปัญหา ก็ต้องนำมาปรับปรุงและทบทวนใหม่ เพื่อให้การขับเคลื่อนงาน เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา: http://www.thaigov.go.th