นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ กำชับทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จ เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของลูกหนี้
วันนี้ (23 ธันวาคม 2566) เวลา 14.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดน่าน ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ติดตามประเด็นการเจรจาแก้หนี้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดน่าน พร้อมประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดน่าน และร่วมรับฟังการเจรจาแก้ปัญหาหนี้ระหว่างประชาชน (ลูกหนี้) กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมด้วย
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายว่า วันนี้มาลงพื้นที่จังหวัดน่านเป็นจังหวัดแรก ตั้งเป้าหมายให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว การดำเนินการแก้ไขหนี้ที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย แต่เป็นที่ทราบดีว่าปัญหานี้อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน และได้แก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของพื้นที่ที่สามารถทำได้ วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่มีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่รับฟังพร้อมแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ถ้าปัญหาไม่ถูกแก้ไข จะกลายเป็นสารตั้งต้นเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคม ปัญหาความไม่ปลอดภัยของประชาชน ถึงแม้ว่าจังหวัดน่านจะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่มีหน่วยงานครบทุกหน่วยงาน หากสามารถร่วมกันทำงาน พัฒนาแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ เรื่องหนี้นอกระบบเป็นปัญหาทุกข์ใจของประชาชน เป็นปัญหาที่ไม่ใช่ความผิด ซึ่งปัญหาไม่ได้เกิดจากการพนันหรือการซื้อยาเสพติด แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทุกท่านรู้กันดี รวมถึงการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม
?วันนี้รัฐบาลจะมาเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหาให้ความเป็นธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง ถ้าสามารถทำได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งดี ๆ ตามมาในชีวิตของประชาชน ขอให้ทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้เป็นผู้รับใช้ของประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่รัฐบาลชุดนี้กำหนดต้องดำเนินการให้สำเร็จ ขอให้จังหวัดน่านเป็นจังหวัดต้นแบบในการแก้ไขปัญหา ขอให้กระทรวงมหาดไทยกำชับหน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ ขอฝากความหวังให้เจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกหน่วยงานคืนรอยยิ้มให้คนไทยทุกคน?นายกรัฐมนตรี ย้ำ
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการดำเนินการ จากจำนวนผู้มาลงทะเบียนจำนวนมาก แต่พอถึงเวลาเจรจาไกล่เกลี่ย กลับมีลูกหนี้เดินทางมาเข้าสู่ระบบจำนวนไม่มาก ขอให้พิจารณากระบวนการทำงาน ปรับเปลี่ยนจากที่ลูกหนี้เดินทางมาจังหวัด ให้จัดตลาดนัดแก้ไขหนี้ในตำบล ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เดินทางมาสะดวกขึ้น พร้อมมอบหมายให้กรมการปกครองสั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองลงพื้นที่เก็บข้อมูล อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากขึ้น พร้อมกับฝากให้ฝ่ายความมั่นคงดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของลูกหนี้ และมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน คำนวณอัตราหนี้และจำนวนเงินดอกเบี้ยที่ส่งไปแล้ว หากเกินจำนวนเงินที่กู้ ขอให้เจรจายุติหนี้
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ พร้อมกับยืนยันว่ากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศนโยบายชัดเจน ให้ข้าราชการในสังกัดลงพื้นที่พบชาวบ้านสอบถามข้อมูล ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมกำชับฝ่ายปกครองให้ขับเคลื่อนการทำงานแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจังหวัดน่าน ตามแนวทางที่กรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทยกำหนด มีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ธันวาคม) จำนวนลูกหนี้ 563 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 518 ราย ยอดหนี้มูลค่ารวม 33,041,242 บาท ส่วนสาเหตุการเป็นหนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ด้านอุปโภค 602 ราย ด้านการลงทุน 496 ราย ต่อเติมที่อยู่อาศัย 109 ราย ค่าเทอม 288 ราย และการพนัน 17 ราย
โดยจังหวัดน่านกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดไว้ ดังนี้ 1. กำหนดการเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ของลูกหนี้ในระบบและเจ้าหนี้ตามฐานข้อมูล โดยสามารถตกลงกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 2. เจ้าพนักงานตำรวจ สามารถดำเนินคดีได้ทั้งหมดร้อยละ 70 ของเรื่องรับดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการหากเป็นสำนวนไม่ยุ่งยากดำเนินการเสร็จก่อน 3 เดือน กรณีมีความซับซ้อนไม่เกิน 3 เดือน 3. การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งจะต้องได้รับการให้สินเชื่อโดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีเป้าหมายผู้ได้รับความช่วยเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของผู้ลงทะเบียน 4. ทุกอำเภอต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยให้สำเร็จอย่างน้อย 1 กรณีตัวอย่าง (Best Practice) และ 5. จังหวัดน่านกำหนดให้แก้ไขปัญหาในภาพรวม ได้อย่างน้อย 10% ของผู้ลงทะเบียน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566
สำหรับผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาฯ ที่ผ่านมาของจังหวัดน่าน จากจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 563 ราย ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 52 ราย คิดเป็น 32.70% ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการไกล่เกลี่ย 48 ราย และให้รัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 28 ราย คิดเป็น 17.61 % รวมผลการดำเนินการแก้ไขให้ความช่วยเหลือแล้วจำนวน 80 ราย คิดเป็น 50.31%
ที่มา: http://www.thaigov.go.th