นายกฯ ประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าฯ จ.เชียงใหม่ เน้นย้ำทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือ ให้ยึดหลักตาม 6 แนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา
วันนี้ (11 ม.ค.67) เวลา 09.45 น. ณ ห้องประชุมกองบิน 41 อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และการเชื่อมโยงระบบขนส่งและเดินทางในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมด้วย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมาพบกับทุกคนที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีความห่วงใยในสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนภาคเหนือหลายจังหวัดในขณะนี้ จึงต้องการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา และวิธีการป้องกันร่วมกับผู้เกี่ยวข้องโดยได้สั่งการ การดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือกัน โดยยึดหลักแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1. สถานการณ์ต้องดีขึ้นทุกวัน ด้วยการทำหน้าที่อย่างจริงจัง ขอให้แบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ X-Ray พื้นที่ในความรับผิดชอบของท่านว่ายังมีปัญหาที่ใดและรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบทุกวัน ถ้าไม่ดีกว่าเดิมต้องแจ้งด้วยว่าเพราะอะไร มีอุปสรรคอะไร นายกฯ อยากคืนอากาศบริสุทธิ์แก่พี่น้องประชาชนภาคเหนือให้เร็วที่สุด
2. การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อความยั่งยืน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
3. การดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพ ขอให้จังหวัดและทุกส่วนราชการ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ เช่น เรื่องสุขภาพอนามัยของเด็กและผู้สูงอายุ และชีวิตความเป็นอยู่ การรณรงค์ใส่หน้ากากกรองฝุ่น การจัด Safety Zone หรือศูนย์พักพิงสำหรับประชาชน
4. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ประชาชนได้รับอากาศที่ดีในตอนนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลเรื่องการให้ประชาชนมีหน้ากากกรองฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพ และราคาที่เข้าถึงได้
5. ให้ความสำคัญแก่การสร้างจิตสำนึกร่วมกัน ให้ประชาชนรับรู้ข่าวสาร และการยกระดับความตื่นตัวให้ประชาชนรู้ถึงพิษภัยของ PM2.5 การขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันดูแลพื้นที่ป่า ลดการเผา การแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
6. ในระยะยาว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ภาคเหนือขอให้ช่วยกันคิดและรีบปฏิบัติให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคมนาคม และการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากการลงพื้นที่เมื่อวานนี้ (10 ม.ค. 67) ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด มีความรู้สึกยินดีหากเปรียบเทียบตัวเลขปีนี้กับปีที่แล้วปัญหาฝุ่นลดลงหลายเท่าตัว มีการแสดงแผนที่ Red Zone อย่างมีนัยยะพิสูจน์ได้ว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่และให้ความใส่ใจเรื่องนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้ตัวเลขฝุ่น PM2.5 ลดลงได้อย่างมีนัยยะ ส่งผลให้เศรษฐกิจของภาคเหนือดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว การขึ้นดอยอินทนนท์เมื่อปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวกว่า 13,000 คน ปีนี้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 17,000 คน จากการที่ฝุ่น PM2.5 ลดน้อยลงไป นอกจากนั้น การที่ประชาชนสามารถตรวจสอบค่าฝุ่น PM2.5 ได้จากแอพพลิเคชันนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันบูรณาการ ทั้งนี้ การประชุมวันนี้จะมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ซึ่งหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องของฝุ่น PM2.5 ด้วย ไม่ใช่แค่การเผาป่าอย่างเดียว รวมถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบการคมนาคม การสร้างถนนเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอเรื่องนี้และจะมีการจัดสรรงบประมาณในการจัดการเรื่องเหล่านี้ต่อไป อีกทั้งตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ต้องขอบคุณและชื่นชมทุกคน ทุกหน่วยงานที่ประสานงานกันได้อย่างดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจในการบริหารงาน เหมาะแก่การเป็นแม่แบบที่จะไปใช้ในจังหวัดต่าง ๆ ให้มีการปฏิบัติร่วมกันอย่างดีเยี่ยมในทุกจังหวัด
ที่มา: http://www.thaigov.go.th