นายกฯ ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ?Thailand 2024 The Great Challenge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส? ย้ำการขยายโอกาส ทั้งด้านสังคม-เศรษฐกิจ มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค
วันนี้ (24 ม.ค.67) เวลา 09.00 น. ณ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ?Thailand 2024 The Great Challenge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส? เนื่องในโอกาสหนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมรับทราบแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในปี 2567 และให้เกิดความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยผู้ร่วมงานประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี คณะผู้บริหารมติชน ภาคเอกชน และสื่อมวลชน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสว่า เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารัฐบาลนี้ได้ทำอะไรไปแล้วบ้างถึงแม้จะยังทำไม่ครบและยังทำไม่ได้ถูกใจทุกคน แต่รัฐบาลก็พยายามดำเนินอย่างเต็มที่ต่อไป โดยย้ำถึงการสร้างโอกาสให้กับประชาชนเพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีให้คนไทยทุกคนว่า เรื่องการลงทุนเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะไม่อยากให้เมื่อมองไปในอีก 10 ปี 20 ปี แล้วเรามาพูดว่า ?รู้งี้? เราน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ อยากจะเอาคำนี้ออกไปจากพจนานุกรม ไม่อยากให้มีคำว่า ?รู้งี้? อีกต่อไป ฉะนั้นถ้าเราต้องรอให้ทุกอย่างครบหมดหรือรอบรู้หมดถึงทำ มีรายจ่ายที่ต้องใช้ ซึ่งรายจ่ายหรือต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เราเสียโอกาสไป ซึ่งตลอดกว่า 4 เดือนที่ผ่านมาที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศได้มีการดูแลประชาชนเรื่องของเศรษฐกิจ ปากท้อง ปัญหาสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงถึงความสำเร็จจาก World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ว่า การประชุมดังกล่าวมีผู้นำจากทั่วโลกและนักธุรกิจชั้นนำเข้ามาร่วม ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีผู้นำรัฐบาลไปมาเลยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาจะมีเพียงแต่ระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเท่านั้นที่เข้าร่วม ดังนั้นครั้งนี้ของการเดินทางไปร่วมประชุม WEF ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ในการที่ได้ไปพบปะกับผู้นำประเทศต่าง ๆ และผู้นำองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งมีนักลงทุนต่างประเทศหลายรายสนใจที่จะมาลงทุนในไทยทั้งจากอินเดีย และดูไบ รวมถึงการทำในเรื่องของ FTA กับ EU ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพราะตระหนักว่าไทยยังล้าหลังคู่แข่งสำคัญอยู่ คือ เวียดนาม ซึ่งการทำ FTA ครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นในการที่จะนำประเทศไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศและดึงนักลงทุนกับมาลงทุนในประเทศไทยให้ได้ นอกจากนี้ยังได้มีการหารือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ซึ่งต่างก็ให้ความสนใจในการที่จะมาทำธุรกิจกับไทยด้วยเช่นกัน โดยการให้ความสำคัญในเรื่องของ Ease of Doing Business ของประเทศไทย รวมทั้งมีบริษัทชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ก็ให้ความสนใจในการที่จะให้ประเทศไทยเป็นตลาดสินค้าเรื่องยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ แต่การเข้ามายังติดอุปสรรคปัญหาอยู่มากต้องผ่านหลายขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนของ อย. โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เรื่อง Ease of Doing Business เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญมาก และการเข้าร่วมประชุม WEF ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เกิดผลสำเร็จด้วยดีและในอนาคตต้องไปเข้าร่วมอีกและทำให้ใหญ่ขึ้นให้เป็นในลักษณะ Thailand Pavilion โดยจะเชิญรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายท่านเดินทางไปด้วยเพื่อนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ประเทศให้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวซึ่งมีหลายมิติ โดยย้ำอะไรที่ทำได้ให้ทำก่อน เช่น เรื่องของวีซ่าฟรี ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มต้นไปแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งจะมีการดำเนินการเรื่องวีซ่าฟรีกับประเทศจีนซึ่งสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยและจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นถาวรทั้งสองประเทศระหว่างไทยกับจีน ตรงนี้เป็นการยกระดับพาสปอร์ตของไทยขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง รวมทั้งจากการที่ได้พบกับประธานสภา EU และประธานาธิบดีเบลเยียม ได้มีการพูดคุยเรื่องวีซ่า SCHENGEN ที่ต้องการให้สามารถเข้า-ออกฟรีได้ทั้งสองประเทศเช่นกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะยกระดับเรื่องนี้ให้ดีขึ้น อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ทำได้ให้ทำก่อน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค หรือ Aviation Hub โดยมีการดำเนินการพัฒนาในหลายด้านตั้งแต่สนามบิน วิธีการจัดการเข้าเมือง วิธีการจัดการและขนส่งกระเป๋า วิธีการจัดตารางการบินใหม่ ขยายสนามบินในเมืองรอง หรือเมืองใหญ่ ๆ ก็มีการพัฒนาและสร้างสนามบินใหม่ เช่น จ.ภูเก็ต จ. เชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการได้พบปะกับประธานาธิบดีเวียดนามซึ่งกล่าวว่าไทยถือเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวจึงขอให้ไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ของลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งอาทิตย์หน้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเดินทางไปประเทศลาว เพื่อร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีการออกแบบแพ็คเกจร่วมกัน โปรโมทร่วมกันให้เป็น five country destination เข้ามาถึงแล้วสามารถท่องเที่ยวได้ทุกประเทศ ดังนั้นการที่จะยกระดับให้ไทยเป็น Aviation Hub จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะไทยมีศักยภาพด้านการบินมีจุดแข็งอยู่แล้วถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว ไทยสามารถเป็น Aviation Hub ได้ ตรงนี้เป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้กับประเทศไทยอย่างมาก
นายกรัฐมนตรีย้ำพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและการเป็น Aviation Hub ของไทยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ รวมถึงการยกตัวอย่างการตัดสินใจสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ สมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เพื่อรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นของสนามบินดอนเมือง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวส่งผลดีต่อประเทศไทยอย่างมากในเรื่องของโอกาส อย่างไรก็ตามการทำโครงการขนาดใหญ่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้าพื้นฐานสำคัญของประเทศ เช่น โครงการ Landbridge นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และนักลงทุน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชนพื้นเมือง โดยย้ำให้มีการศึกษาอย่างเป็นธรรมไม่ก้าวก่ายโดยองค์กรอิสระ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนคนไทยทุกคน ทั้งนี้อยากให้นำกรณีของสนามบินสุวรรณภูมิมาพิจารณาด้วยหากไม่ดำเนินการตรงนี้ก็อาจทำให้ไทยเสียโอกาสไปได้ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีย้ำว่าโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำขึ้นนี้แสดงจุดยืนให้เห็นว่าไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศและยินดีที่จะร่วมทำธุรกรรมต่าง ๆ กับหลายประเทศ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นกับเยาวชน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่บั่นทอนสังคมไทยมายาวนาน โดยไตรมาสที่สี่ปีที่แล้ว เราสามารถจับยาบ้าได้มากกว่าปีก่อนหน้านั้นทั้งปี ซึ่งการจับได้มากขนาดนี้แต่ราคายาบ้าไม่ขึ้นนั่นแสดงว่ามีเข้ามามาก โดยทราบว่าจะเข้ามาทางชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งจากการที่เดินทางไปลงพื้นที่ภาคเหนือและได้มีการพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างมากในการที่จะตรวจจับโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยทำให้สามารถตรวจจับได้จำนวนมากจนทำให้ยาบ้าลดลงไป แต่ขณะนี้เริ่มเป็นห่วงที่กาญจนบุรี ซึ่งยาบ้าเป็นสิ่งที่บั่นทอนสังคมไทยอย่างมาก ดังนั้นการบริหารจัดการต้องมีการบูรณาการทั้งระบบ ทั้งการเผายาให้เร็วขึ้น การบังคับใช้กฎหมาย การอายัดทรัพย์ การเสริมสรรพกำลังด้านกำลังพลหรืออุปกรณ์ที่ทันสมัยต่าง ๆ ตลอดจนสิ่งสำคัญคือการใส่ใจ สถาบันครอบครัวแข็งแรง ปรับผู้เสพให้เป็นผู้ป่วยและให้มีการบำบัดรักษา ฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ป่วยเหล่านั้นเพื่อคืนคนเหล่านั้นกลับคืนสู่อ้อมกอดของพ่อแม่และครอบครัว โดยให้มีการติดตามงานอย่างใกล้ชิดจากกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายปกครอง เชื่อมั่นว่าสังคมไทยจะดีขึ้นในเรื่องของการใส่ใจ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยให้ดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการตัด supply และการเยียวยา ยืนยันรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้เป็นการทำลายโอกาสของเยาวชนคนไทยที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงด้านสาธารณสุขของประเทศไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ทำให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งรัฐบาลนี้จะได้มีการยกระดับเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคเพิ่มขึ้น โดยขอให้ติดตามเกี่ยวกับขั้นตอนรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะมีการดำเนินการในโอกาสต่อไป รวมถึงดำเนินการเรื่องของ อย. ที่จะทำให้การทำธุรกิจและการลงทุนจากต่างประเทศดีขึ้น โดยยังให้ความสำคัญในเรื่องของการตรวจสอบและความปลอดภัยเรื่องยาที่ต้องให้คงมาตรฐานไว้ด้วย โดยรัฐบาลนี้จะลงไปดูเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องควบคุมดูแลโดย อย. มีสินค้าใดที่จะต้องตัดออกไปหรือไม่ รวมถึงการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในกรณีที่ อย. ต่างประเทศเข้ามาแล้วมีอะไรที่สามารถจะตัดขั้นตอนไปได้หรือไม่ เพื่อประชาชนทุกคนได้รับยาที่ดีเข้ามาได้รวดเร็วขึ้นและดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราได้ดีขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลักดันรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ E-government ที่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นทำให้การดูแลประชาชนมีปัญหา เสียโอกาสในการไปสถานที่ราชการต่าง ๆ เวลาติดต่อหน่วยงานราชการก็ทำให้ประชาชนต้องรอคอยหลายชั่วโมง ดังนั้นตรงนี้เราต้องมีการศึกษาให้ดีรวมทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการทำงาน เช่น การใช้ Cloud โดยจะให้นำทุกอย่าง ขึ้น Cloud ให้หมด เพื่อจะได้ทำได้ดีและรวดเร็วขึ้น โดยได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา นำโดยศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ ที่จะดูแลเรื่องของ Ease of Doing Business ทำให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และทำให้ได้รวดเร็วขึ้น การดำเนินการตรงนี้รัฐบาลให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของ Hardware และ Software เพื่อรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนมีความคุ้มค่าเกิดประโยชน์สุงสูดอย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดตามนโยบายรัฐบาลว่า พลังงานสะอาดถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย โดยขอชื่มชมหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ดีมากทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่ง และประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ซึ่งทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนให้สนใจมาลงทุนในประเทศไทยได้ แต่สิ่งที่ต้องทำคือเรื่องของการลดราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลนี้กำลังพยายามดำเนินการอยู่ โดยถ้าสามารถทำเรื่องนี้ได้ก็จะทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น สำหรับภาคเกษตรนั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการสร้างโอกาสและการให้องค์ความรู้ต่าง ๆ เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐบาลนี้ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้ให้ได้ 3 เท่าภายในระยะเวลา 4 ปี พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าสังคมไทยมีการอบรมหลายหลักสูตรและการอบรมสัมมนากันมากซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงได้มีการนำกลไกนักธุรกิจลงไปในพื้นที่เพื่อพบเกษตรกรโดยตรง เช่น การดำเนินการล่าสุดที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ได้นำภาคธุรกิจกลุ่มรวมมิตร ไปพบกับ Supply (เกษตรกร) ในภาคเหนือ โดยเริ่มต้นที่การไปดูการดำเนินการของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางทางการตลาดในการที่จะนำสินค้าชุมชนและผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรไปช่วยขายผ่านห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีและคนที่ไม่มีได้ด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th