นายกฯ หารือประธานาธิบดีเยอรมนีฯ เดินหน้าความสัมพันธ์สู่ ?หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์? ผลักดันความร่วมมือ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
วันนี้ (วันที่ 25 มกราคม 2567) เวลา 10.00 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
โดยผู้นำไทยและเยอรมนีได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญประธานาธิบดีเยอรมนีฯ และภริยา ไปยังห้องสีม่วง เพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี แล้วจึงเชิญประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน และทั้งสองฝ่ายร่วมหารือกลุ่มเล็ก ณ ห้องสีงาช้างด้านใน โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเยือนไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนี ในรอบ 22 ปี เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือแนวทางเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ต่อไป
ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ให้ต้อนรับอย่างอบอุ่น การเยือนไทยครั้งนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับทั้งสอง ในการหารือแนวทางยกระดับความร่วมมือระหว่างกันที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยถือเป็น 1 ในประเทศเป้าหมายที่ภาคเอกชนเยอรมนีให้ความสนใจ ด้วยเสถียรภาพทางการเมือง และการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนีฯ ต้องการมีความร่วมมือกับไทยมากขึ้นในด้านแรงงาน โดยจะทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ เห็นพ้องกันว่า ไทยและเยอรมนียังมีศักยภาพเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านการลงทุน ซึ่งภาคเอกชนเยอรมนีลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก และให้ความสนใจขยายการลงทุนเพิ่ม โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนภาคเอกชนเยอรมนีเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในโครงการ Landbridge เพื่อสร้างโอกาส ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการขนส่งของภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยพร้อมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญร่วมกับเยอรมนี โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
ด้านการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ในระดับประชาชน นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือในระดับประชาชนที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเป็นกลุ่มที่เดินทางมานักท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดในสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวไทยก็นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเยอรมนีเช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น
ความร่วมมือในกรอบสหภาพยุโรป (EU) นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนีในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งประธานาธิบดีเยอรมนีฯ พร้อมสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถบรรลุการเจรจาดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญสนับสนุนการค้าทวิภาคีระหว่างกัน พร้อมยกระดับห่วงโซ่อุปทานระหว่างภาคเอกชนทั้งสองประเทศ เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำจุดยืนของไทยในการเป็นกลาง และสนับสนุนการหาทางออกในความขัดแย้งร่วมกันโดยสันติวิธี
ที่มา: http://www.thaigov.go.th