นายกฯ ยืนยันการแก้ไขหนี้ฯ เป็นกระบวนการที่ต้องการความใส่ใจ ความร่วมมือ และความต่อเนื่อง เผยเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลสวัสดิภาพข้าราชการ และบุคลากรของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขอให้ทุกฝ่ายมีความทะเยอทะยานในการแก้ไขปัญหามากขึ้น
วันนี้ (15 มีนาคม 2567) เวลา 10.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเงินกู้แก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ โดยมีผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานของรัฐ 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการการทหารอากาศ ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ) กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ประธานสมาคมธนาคารไทย) ร่วมแถลงข่าว นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวรายงานความคืบหน้าภารกิจ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการและบุคลากรของรัฐว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี แถลงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนหนี้รวมสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท และสถานการณ์หนี้เสียในทุกประเภทสินเชื่อกำลังทวีความรุนแรงกำลังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมากในขณะนี้ โดยภาพรวมว่า ?หนี้สินทั้งนอกระบบ และ ในระบบ ในภาพใหญ่? ซึ่งแยกเป็นประเภทหนี้ต่าง ๆ ทั้งบ้าน เช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อเกษตร หนี้ OD และหนี้อื่น ๆ ล้วนมีความซับซ้อน มีความไม่สมดุล และเป็นที่สังเกตได้ว่ามีความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้าง จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนอำนาจในการแก้ไขจากฝ่ายบริหารในด้านการจัดการของหน่วยงานนโยบายและหน่วยงานกำกับ ฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น และฝ่ายตุลาการเพื่อนำมาซึ่งกระบวนการไกล่เกลี่ยและการบังคับคดีที่เหมาะสม
พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาพรวมกำลังดำเนินอยู่ด้วยความยากลำบาก คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคประชาชน ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่มีข้อสั่งการชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา ?หนี้เงินกู้สวัสดิการ ของบุคลากรภาครัฐ? นับเป็นยอดหนี้ที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏในรายงานยอดหนี้ของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จากจำนวนบุคลากรภาครัฐจำนวน 3.1 ล้านคน ที่ยังไม่รวมสมาชิกในครอบครัว เป็นลูกหนี้เงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ 1,378 แห่ง จำนวนลูกหนี้รวม 2.8 ล้านคน และมีธนาคารที่ให้สินเชื่อในลักษณะสวัสดิการร่วมด้วย อีกอย่างน้อย 3 แห่ง คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 3.0 ล้านล้านบาท ในขณะที่ลูกหนี้จำนวนหนึ่งยังคงชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์และธนาคารอยู่ แต่ปรากฏว่ามีบุคลากรภาครัฐจำนวนมากและมากขึ้นที่มีรายได้สุทธิหลังหักชำระหนี้ และเงินค่างวดรายเดือนแล้ว มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และบุคลากรของรัฐจำนวนมากขึ้น ๆ ที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงต่อเนื่อง จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า ?ปัญหาหนี้สินของข้าราชการ และบุคลากรภาครัฐ? ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เนื่องจากหนี้สินของข้าราชการครู ตำรวจ ทหาร ตลอดจนพนักงานรัฐวิสาหกิจ และบุคลากรภาครัฐ ซึ่งเป็นลูกจ้างของรัฐบาล เป็นหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลที่จะต้องดูแลสวัสดิภาพของลูกจ้าง ถ้าลูกจ้างของภาครัฐเผชิญความยากลำบากในการแก้ปัญหาหนี้สินก็จะกระทบต่อความสามารถที่จะดูแล และให้บริการต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายกฯ กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในวันนี้ จากการรับฟังรายงานของทุกหน่วยงาน เชื่อว่าทุกหน่วยงานได้ทำงานกันอย่างเต็มที่แล้ว ต้องขอชื่นชมความตั้งใจในการทำงานแก้ไขปัญหา โดยส่วนตัวเชื่อว่า ทุกท่านที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ หลาย ๆ ท่านไม่ได้ประสบปัญหาเหมือนข้าราชการที่ประสบปัญหาเรื่องหนี้สินเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้าราชการเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า ถ้าหากมีหนี้สินจำนวนมาก หารายได้มาไม่เพียงพอ ชักหน้าไม่ถึงหลัง จะทำให้กลายเป็นสารตั้งต้นของความหายนะของประเทศ ทำให้บุคคลเหล่านี้หันไปพึ่งยาเสพติดเพื่อความสุขทางใจ และอาจจะประพฤติผิดกฎหมายเพื่อให้ได้เงินมา
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ผู้บริหารได้รายงานในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายไม่ให้ออกจากราชการ ให้ข้าราชการมีเงินใช้หลังหักหนี้แล้วเพียงพอต่อการดำรงชีพและดูแลครอบครัว รวมถึงการจัดทำสินเชื่อพิเศษ และการลดดอกเบี้ย ตนเองเข้าใจว่าหลาย ๆ หน่วยงานมีความตั้งใจดี ต้องขอขอบคุณอย่างใจจริง และเชื่อว่าข้าราชการจำนวนมากต้องรับรู้และขอบคุณในความประสงค์ดีของทุก ๆ ท่าน ที่ได้เห็นใจและใส่ใจต่อปัญหาหนี้สินของข้าราชการเป็นพิเศษ ซึ่งหลาย ๆ หน่วยงานทำงานก็ต้องการกำไร มี KPI เป็นตัวชี้วัด แต่ก็ยอมขาดทุนเพื่อให้ข้าราชการกลุ่มที่เป็นหนี้มีเงินเดือนคงเหลือมากขึ้น
นายกฯ ฝากให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการเชื้อเชิญสหกรณ์ให้เข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น เพราะทุกวันนี้หนี้สินก็ไม่ได้ลดลง ขอให้พยายามมากขึ้น ตนเองเข้าใจขีดจำกัดการทำงาน แต่ในเมื่อเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ต้องพยายามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ขอให้ทุกคนมีความทะเยอทะยานในการช่วยเหลือประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากได้ลงในพื้นที่จะเข้าใจถึงความยากลำบากของพี่น้องประชาชน ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหารายได้เพิ่มเติมให้กับประชาชน เรื่องของที่อยู่อาศัยให้อยู่อาศัยได้อย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรี รวมถึงเรื่องของการรักษาพยาบาลต้องให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี ซึ่งทั้งหมดถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ
?ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายจะประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างที่ดีให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาที่ยากเย็นนี้ การแก้ไขหนี้ฯ เป็นกระบวนการที่ต้องการความใส่ใจ ความร่วมมือ และความต่อเนื่อง ผมขอให้กำลังใจ และจะขอรับการรายงานความก้าวหน้าและความสำเร็จอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ ผมจะเร่งหารือกับท่านผู้เกี่ยวข้องว่าควรประสานขอความร่วมมือใด จากฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ เพื่อให้ภารกิจการแก้ไขหนี้มีความสำเร็จ และเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่อไป? นายกฯ ย้ำ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th