นายกฯ รับฟังประเด็นปัญหายางพารา จากเกษตรกรสวนยาง จ.นครศรีธรรมราช ย้ำรัฐบาลจะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนภาคใต้ ผ่านมิติภาคเกษตรและท่องเที่ยว ด้านเกษตรกรขอบคุณรัฐบาล ที่ทำให้ราคายางพาราสูงกว่า 90บ./กก.
วันนี้ (8 เม.ย. 67) เวลา 10.30 น. ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางฉลอง น้ำขาวพัฒนา จำกัด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือประเด็นยางพาราและผลผลิตทางเกษตร นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
เมื่อนายกฯ เดินทางมาถึงได้ไป ณ โรงรมยาง เพื่อดูกระบวนการรับน้ำยางซึ่งรับซื้อจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน รวมทั้งรับฟังการดำเนินโครงการ Rubber Authority of Thailand จากนั้นได้พบปะเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ และหารือประเด็นยางพาราและผลผลิตทางเกษตร
โดยประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกร จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในนามเครือข่ายสถาบันฯ ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี รัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยผลักดันให้ราคายางสูงถึง 90 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากหนี้สินก็ด้วยรัฐบาลนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นสิ่งที่มาถูกทางแล้ว ขอให้สู้ต่อไป พร้อมกันนี้ได้เสนอประเด็นหารือที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุปสรรคสำคัญ อาทิ 1. โครงการการขอสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมยางพาราที่หมดอายุไปตั้งแต่ 31 มีนาคม 2567 ขอให้นำเข้าเสนอ ครม.พิจารณาด้วย 2. โครงการใช้งานยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ 3. วาระกรรมการ กรณีประธานฯ เพื่อให้การบริหารงานสหกรณ์เดินหน้าต่อไปได้ เป็นต้น
โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวทักทายเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกล่าวว่าวันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาดูขั้นตอนกระบวนการในการผลิตยาง ดีใจที่ได้มา เพราะตั้งใจจะมาอยู่แล้ว แม้จะรับทราบว่าราคายางราคาดีแล้ว แต่ก็อยากมารับฟังโดยตรงจากเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อมาดูว่าจะมีแนวทางใดที่จะทำให้ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำว่า รัฐบาลตั้งใจจริงที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ทุกคน ที่ไม่เพียงแต่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรต่าง ๆ ทั้งน้ำมันปาล์มและยางพารา ซึ่งในเรื่องยางนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่คุมการผลิต 30% ของยางพาราทั่วโลก เพราะฉะนั้นเรื่องของการสกัดกั้นยางเถื่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และฝ่ายความมั่นคง ได้ช่วยกันทำงานสกัดกั้นยางเถื่อนที่จะเข้ามา ตรงนี้สามารถส่งสัญญาณไปให้ทั่วโลกได้รู้ว่าเราไม่มียางเถื่อน ขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าจำนวน Supply ในตลาดจะน้อยลงไป ก็จะทำให้ราคายางสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังมีผู้ที่ทำผิดอยู่ เราต้องทำงานกันอย่างเข้มงวดอย่างต่อเนื่องต่อไป และจะพยายามทำให้ราคายางดีต่อไป
สำหรับสถานการณ์การผลิตยางพาราของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ข้อมูลสำนักงานการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนครศรีธรรมราชระบุว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการปลูกยางมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ รองจากสุราษฎร์ธานี โดยมีพื้นที่ปลูก จำนวน 1,598,306ไร่ (แยกเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 1,281,598 ไร่ พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 316,708 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 145,145 ราย มีคนกรีดยาง จำนวน 27,262 ราย) พื้นที่เปิดกรีดแล้ว จำนวน 1,485,544 ไร่ ปริมาณผลผลิต จำนวน 319,060 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 214 กิโลกรัม/ไร่/ปี พันธุ์ที่นิยมปลูก คือ RRIM 600 พื้นที่ปลูกยางมาก 5 อันดับแรก คือ ทุ่งสง ทุ่งใหญ่ ชะอวด บางขัน และฉวาง ตามลำดับ โดยสถานการณ์การผลิต ปี 2567 พบว่า เนื้อที่ยืนต้นของยางพาราลดลงจากปี 2566 เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นยางอายุมากแล้วปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ไม้ผลต่าง ๆ ในส่วนของพื้นที่กรีดได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่เมื่อปี 2560 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้ ส่วนผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีวันกรีดเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีพื้นที่กรีดได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ในด้านราคาในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 - 2566 ราคาขยับสูงขึ้น (ยางแผ่นดิบ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ตั้งแต่ปี 2562-2566 ราคาท้องถิ่นเฉลี่ย 48.29 บาท/กก.) โดย ปี 2567 (มกราคม - มีนาคม) ยางแผ่นดิบราคาท้องถิ่นเฉลี่ย 70.53 บาท/กก. และราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา หาดใหญ่ เฉลี่ย 74.23 บาท/กก. เช่นเดียวกับยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ที่มีราคาสูงขึ้น ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา หาดใหญ่ เฉลี่ย 77.6 บาท/กก.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th