นายกฯ ให้การต้อนรับและหารือ นายกฯ บังกลาเทศ เดินหน้าความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างรอบด้าน ลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน พร้อมผลักดันการเจรจา FTA ไทย – บังกลาเทศ ภายในปีนี้

ข่าวทั่วไป Friday April 26, 2024 15:17 —สำนักโฆษก

นายกฯ ให้การต้อนรับและหารือ นายกฯ บังกลาเทศ เดินหน้าความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างรอบด้าน ลดอุปสรรคการค้าและการลงทุน พร้อมผลักดันการเจรจา FTA ไทย ? บังกลาเทศ ภายในปีนี้

วันนี้ (26 เมษายน 2567) เวลา 10.30 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับ เชค ฮาซีนา (Her Excellency Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ไปยังห้องสีม่วง เพื่อแนะนำคณะรัฐมนตรี แล้วจึงเชิญนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน และทั้งสองฝ่ายร่วมหารือทวิภาคี (Four Eyes) ณ ห้องสีงาช้างด้านใน หลังจากนั้นเวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีหารือเต็มคณะร่วมกับนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ณ ตึกภักดีบดินทร์ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือเต็มคณะ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยและบังกลาเทศมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาโดยตลอดนับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน พร้อมเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้จะเป็นโอกาสเพิ่มพูนความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะในด้านการค้าการลงทุนเพื่อกำหนดทิศทางที่ชัดเจนร่วมกันเพื่อสร้างความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองแก่ทั้งสองประเทศ

นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศยินดีกับการเยือนครั้งนี้ ขอบคุณการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐบาลไทย ทั้งสองประเทศมีรากฐานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในทุกระดับมาอย่างยาวนาน รวมทั้งความสัมพันธ์ในระดับประชาชน ซึ่งต่างมีความเชื่อมโยงกันทั้งด้านวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ ปณิธานในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนความร่วมมือพหุภาคีเพื่อผลักดันความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคร่วมกัน รวมทั้งชื่นชมโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของไทย เช่น ด้านการเกษตร ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งถือเป็นต้นแบบของบังกลาเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มพูนความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันได้อีกมาก พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีเยือนบังกลาเทศอย่างเป็นทางการในโอกาสแรก

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญร่วมกัน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและบังกลาเทศมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด ซึ่งจะมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - บังกลาเทศ (Thailand - Bangladesh FTA) โดยจะร่วมกันผลักดันการเจรจา FTA ภายในปี 2567 นี้ ทั้งนี้ บังกลาเทศถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ จึงเชื่อมั่นว่าการจัดทำ FTA จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขยายการเข้าถึงตลาดและส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล การแปรรูปอาหารมูลค่าสูง และความร่วมมือด้านพลังงานในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งบังกลาเทศ เชิญชวนนักลงทุนไทยร่วมลงทุนในบังกลาเทศเพิ่มเติม โดยทั้งสองประเทศสามารถขยายตลาดการค้าในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยเฉพาะในตลาดอินเดีย เนปาล และภูฏาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้บังกลาเทศพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะผ่อนปรนกฎระเบียบด้านภาษีที่ภาคเอกชนต้องจ่ายภาษีเงินได้ล่วงหน้า (Advance Income Tax: AIT) และข้อจำกัดในการโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศ (Foreign Currency Remittance Regulations)

ด้านการเกษตร เห็นพ้องด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยนายกรัฐมนตรีขอให้บังกลาเทศพิจารณานำเข้าสินค้าฮาลาลและผลไม้จากไทย ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ และพร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่บังกลาเทศ ด้านนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศกล่าวถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันผ่านมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูปอาหาร และด้านการประมงน้ำลึก

ด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยง ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความคืบหน้าในการผลักดันการเปิดเดินเรือระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือจิตตะกอง เป็นเส้นทางเดินเรือที่มีศักยภาพ ช่วยลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเล

ด้านความร่วมมือระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและบังกลาเทศสามารถบรรลุการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยและบังกลาเทศมากขึ้น โดยบังกลาเทศเสนอการยกเว้นการตรวจลงตราเพิ่มเติมสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางในประเภทอื่น ๆ ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีพิจารณาต่อไป พร้อมเห็นถึงศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว การมีมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศที่สามารถเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวได้

ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญไทยให้การสนับสนุนบังกลาเทศในด้านการฝึกอบรมและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับความต้องการบริการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบังกลาเทศเห็นพ้องและยินดีที่จะเสนอความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ซึ่งจะช่วยบังกลาเทศในการตอบสนองความต้องการใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรียินดีที่จะได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศอีกครั้ง ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 (the 6th BIMSTEC Summit) ในวันที่ 4 กันยายน 2567 นี้ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในปีนี้ โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมทำงานร่วมกัน ผลักดันการบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC

ด้านสถานการณ์เมียนมา ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศคำนึงถึงผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงแนวทางของไทยที่ยินดีให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งยึดหลัก Unified, Stable and Peaceful ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด พร้อมยืนยันว่าไทยยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศกล่าวถึงชื่อของนายกรัฐมนตรี ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า (Shreshtha) ในภาษาเบงกาลี ซึ่งมีความหมายว่า The Best จึงเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการเยือนครั้งนี้จะมีความหมายสำคัญยิ่งต่อความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ