นายกฯ แจ้งข้อสั่งการ/นโยบายในที่ประชุม ครม. 14 พ.ค. 2567
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (14 พฤษภาคม 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแจ้งข้อสั่งการ/นโยบายแก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้
นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมไซเบอร์ และอาชญากรรมจากการผลิตและลักลอบค้ายาเสพติด ส่วนหนึ่งมีการตั้งฐานอยู่บริเวณชายแดน และใช้ทรัพยากรของไทยทั้งไฟฟ้าและการสื่อสารในการทำความผิดและหลอกลวงคนไทย นายกฯ ขอให้หน่วยงานของรัฐ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค ระงับการให้บริการข้ามพรมแดน และขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานขอความร่วมมือ กับ กสทช. และผู้ประกอบการด้านสื่อสารร่วมมือด้วย เพื่อลดปัญหายาเสพติด อาชญากรรมไซเบอร์ Call Center และปัญหาอื่น ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นายกฯ ได้ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานต่าง ๆ เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิตในภาคการเกษตรทั้งหมด ด้วยวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่นายกฯ ได้ กำหนดให้ไทยเป็น Agriculture and Food Hub เพื่อยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย และสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยจะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้มากขึ้น 3 เท่า ดังนี้ (1) พัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางพันธุ์พืชของโลก (2) เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บและระบายน้ำและขยายพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งเร่งพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อภาคการเกษตร (3) ตรวจทดสอบดินและส่งเสริมสนับสนุนการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมในทุกพื้นที่ (4) ลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรโดยเร่งด่วน โดยนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ (5) เสนอแผนและดำเนินการเร่งขยายการผลิตมันสำปะหลังที่ต้านทานโรคใบด่าง รวมทั้งเร่งเสนอแผนการจัดการการระบาดของโรคใบด่าง และ (6) ส่งเสริมการปลูกกาแฟและโกโก้ ซึ่งเป็นพืชที่มีความต้องการ ผลตอบแทนสูง และเพื่อลดพื้นที่เผาบนที่สูง ทั้งนี้ นายกฯ ให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแผนงานโครงการที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดย รมว. กษ. จะมีการแถลงรายละเอียดในช่วงปลายเดือนนี้ และเร่งดำเนินการภายในเดือนมิถุนายนต่อไป
นายกฯ กล่าวว่า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ให้ชะลอการจัดซื้อจัดจ้างหรือเช่าใช้บริการระบบคลาวด์ เพื่อรอความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลก่อน โดยเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงาน นายกฯ ขอให้ปรับปรุงมติ ครม. ดังกล่าว โดยให้โครงการต่อไปนี้สามารถดำเนินการได้ 1. โครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และมีการดำเนินการต่อเนื่อง และต้องมีการบำรุงรักษา 2. โครงการที่ลงนามสัญญาไปแล้วก่อนมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 67 และ 3. โครงการที่มีความจำเป็นและมีแหล่งเงินชัดเจนแล้ว (เช่น พ.ร.บ. งบประมาณ 67) โดยหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อราชการ ทั้งนี้ ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกลั่นกรองก่อนดำเนินการต่อไป
นายกฯ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนโครงการหลวงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงแนวทางการเร่งรัดกระบวนการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตป่าสงวนเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง โดยมีเป้าหมาย 1,007 กลุ่มบ้าน ซึ่งได้รับอนุญาตแล้ว 422 กลุ่มบ้าน อยู่ระหว่างการดำเนินการและเสนอขออนุญาตเพิ่มเติม 528 กลุ่มบ้าน เพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ภายในเดือนกันยายน 2568 นายกฯ ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการโดย (1) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาพื้นที่เป้าหมายที่ขอจัดทำโครงการร่วมเพิ่มเติมและเร่งรัดการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ภายใต้ ?โครงการพัฒนาป่าไม้พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง? เป้าหมายจำนวน 33 โครงการ 528 กลุ่มบ้าน (2) ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันประชาสัมพันธ์หลักสูตรการเรียนรู้ของสถาบันการเรียนรู้การพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน มูลนิธิโครงการหลวง โดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงศึกษาธิการ (3) ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำแนวทางการดำเนินงานของโครงการหลวงไปขยายผล จากผลการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยลดปัญหาการเผา และฝุ่นควัน PM 2.5 บนพื้นที่สูงได้
นายกฯ เห็นว่าจากการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี มีศักยภาพที่สามารถยกระดับให้เป็นเมืองขนาดใหญ่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว และการลงทุนได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยนายกฯ ได้สั่งการ
1. จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างดีทั้งระบบ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ขอให้กรมชลประทานวางแผนระยะยาว ซึ่งในอนาคตที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยที่ให้ดูในภาพรวมของประเทศด้วย
2. จังหวัดกาญจนบุรี
2.1 ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หามาตรการในการปรับปรุง และควบคุมโรคในฟาร์มโคนมทั้งประเทศ เพื่อให้รักษาระดับคุณภาพการเลี้ยง ตลอดจนส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
2.2 นายกฯ เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน ช่วยกันทำงานให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งในประเด็นการลักลอบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย มาตรการควบคุมยางพาราในพื้นที่ รวมทั้งสินค้าเกษตรทุกชนิด โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้ายาเสพติด
3. จังหวัดราชบุรี
3.1 นายกฯ ขอให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ หามาตรการในการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมเทคโนโลยี และปรับราคาสินค้าเกษตรในตลาดให้มีความสมดุล ตลอดจนลดปัญหา เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้น
3.2 นายกฯ ให้กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาความเหมาะสมในการพัฒนาอุทยานหินเขางูเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ทั้งสันทนาการ นันทนาการ กิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบทั้งเรื่องของการใช้พื้นอุทยานที่ให้มีความถูกต้องตามกฎหมาย
4. จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์
4.1 สนามบินหัวหิน เป็นสนามบินที่สามารถยกระดับให้เป็นสนามบินระหว่างประเทศได้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ขอให้กระทรวงคมนาคม เร่งศึกษาแผนการยกระดับสนามบิน การขยาย runway การสร้าง terminal ระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเชื่อมโยง Connectivity ระหว่างสนามบิน โดยที่ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งศึกษาปริมาณความต้องการของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการสนามบินหัวหินเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน
4.2 รัฐบาลให้ความสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายมิติ นายกฯ ขอให้ กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญกับการดูแลการแข่งขันกีฬาวัวลาน โดยให้ มท. เสนอขอแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อขยายระยะเวลาในการละเล่นต่อ ครม. ภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของบ้านเมือง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th