นายกฯ เป็นประธานประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก หารือแนวทางออกให้เศรษฐกิจประเทศโตได้ตามศักยภาพ

ข่าวทั่วไป Monday May 27, 2024 14:26 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจนัดแรก หารือแนวทางออกให้เศรษฐกิจประเทศโตได้ตามศักยภาพ

วันนี้ (27 พ.ค. 67) เวลา 16.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมการประชุมด้วย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าก่อนการประชุมฯ นายกฯ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจที่ทุกคนทราบดีว่าตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าการประมาณการค่อนข้างมาก แม้ว่าจะยังไม่เรียกสถานการณ์นี้ว่าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Technical recession) ก็ตามที เพราะยังมีเรื่องการท่องเที่ยวที่ยังช่วย แต่เครื่องยนต์ก็ยังเดินหน้าไม่เต็มที่ และที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจไม่ค่อยดีมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง รวมถึงยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจโลกโตช้า กำลังซื้ออ่อนตัว โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก รวมทั้งสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate change) และปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น สังคมสูงวัย ความสามารถทางการแข่งขัน หนี้ครัวเรือน และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ต้องการการแก้ไขโดยการปรับโครงสร้าง และรากฐานของเศรษฐกิจ แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ภาครัฐสามารถทำได้เลย เช่น การเร่งการเบิกจ่ายภาครัฐ การกระตุ้นกำลังซื้อ การกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าเรากำลังทำกันอยู่ แต่วันนี้จะมาพูดคุยในเรื่องของรายละเอียด ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเร็ว จึงเป็นที่มาของการนัดประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อระดมความคิดหาทางออก เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ จึงขอให้ทุกท่านใช้เวทีนี้ แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ มีอะไรที่อยากจะหารือ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อะไรสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ โดยขอให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่จะหารือร่วมกันในวันนี้

ภายหลังการประชุม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยสาระสำคัญถึงการประชุมสรุปดังนี้

วันนี้นายกฯ ได้เชิญรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของประเทศไทยเพื่อหาแนวทางแก้ไขให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งเรื่องของ GDP ที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ จาก 2.7 ก็คาดว่าจะเหลือ 2.5 โดยการหารือได้มีการพูดถึงการแก้ปัญหาทั้งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ระยะปานกลาง และเรื่องที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้า ทั้งนี้ได้มีการรายงานเกี่ยวกับ GDP ของประเทศไทยที่ตกลงนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่หากย้อนหลังไปประมาณ 10 กว่าปี หรือ 15 ปีที่ผ่านมาก็มีลักษณะตกมาตามลำดับ จนกระทั่งถึงวันนี้ โดยปีที่แล้ว GDP ไทยอยู่ที่ 1.9 และมาครั้งนี้ไตรมาสที่หนึ่งอยู่ที่ 1.5 อย่างไรก็ตามเมื่อดูศักยภาพประเทศไทยแล้วก็ยังอยู่ในศักยภาพและมีพื้นฐานที่ดีจึงคิดว่าไม่น่าจะอยู่ที่ 1 กว่า หรือ 2 กว่า อย่างน้อยควรจะอยู่ที่ 3.5 ขึ้นไป แต่ไทยต่ำกว่า 3.5 มาตลอด ขณะที่เมื่อดูประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้าหรือคู่แข่ง GDP สูงกว่าไทย ทั้งนี้จะมีประเทศที่ GDP ต่ำกว่าไทยอยู่บ้างคือประเทศในทางยุโรป อังกฤษ และ ญี่ปุ่น เป็นต้น

ขณะเดียวกันรองนายกรัฐนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ย้ำถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำ คือ กำลังการผลิตต่ำมาอย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคหดหายเนื่องจากไม่มีรายได้ ดังนั้นตรงนี้การผลิตภาคต่าง ๆ ทั้งอุตสาสหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมทั่วไป เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พลังงาน ฯลฯ ต้องเพิ่มและกำลังซื้อต้องมาควบคู่ด้วย โดยเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะต้องมาหารือกันอีกรอบถึงกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคอยู่ได้ รวมไปถึงระยะเร่งด่วนการทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยการดำเนินการต่าง ๆ ต้องอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินการคลัง

ทั้งนี้ ที่ประชุมโดยทุกฝ่ายได้เห็นพ้องว่าจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปลัดกระทรวงการคลังได้เสนอว่า ควรจะมีกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจในระหว่างนี้จนไปถึงช่วงปลายปีก่อนที่จะเริ่มโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานไปคิดมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก่อนจะนำกลับมาหารือกันในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า โดยมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขานุการร่วมเพื่อขับเคลื่อนประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ