รัฐบาลพร้อมเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านDigital Walletมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำรายละเอียดการดำเนินโครงการให้ชัดเจนขึ้น ป้องกันการทุจริตการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการฯ

ข่าวทั่วไป Monday July 15, 2024 15:27 —สำนักโฆษก

รัฐบาลพร้อมเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำรายละเอียดการดำเนินโครงการให้ชัดเจนขึ้น ป้องกันการทุจริตการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการฯ

วันนี้ (15 ก.ค.67) เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 4/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย

ภายหลังการประชุมฯ นายกฯ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วันนี้ว่า เป็นการรับทราบการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้มีความชัดเจนขึ้นซึ่งมีหลายเรื่อง ทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดลงทะเบียน การดำเนินการรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้า ประเภทสินค้า ตลอดจนรายละเอียดเงื่อนไขของการรับสิทธิ์ และแนวทางการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและตรวจสอบการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการฯ ส่วนกรณีที่มีผู้ไม่หวังดีมีการแอบอ้างให้โหลดแอปต่าง ๆ นั้น นายกฯ ย้ำขอให้คอยฟังจากทางหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้น พร้อมกันนี้นายกฯ ได้มอบให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแถลงรายละเอียดให้รับทราบต่อไป

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในแหล่งที่มาของเงินใหม่ โดยได้ดำเนินการตามข้อห่วงใยของหน่วยงานตรวจสอบและไปดูแหล่งที่มาและกรอบวงเงินที่ตัวเลข 4.5 แสนล้านบาท และไม่มีการปรับขนาดโครงการยังเป็น 50 ล้านคน หากมีคนลงทะเบียนน้อยกว่าหรือมากกว่าจะใช้กลไกในการบริหารงบประมาณเพื่อให้มีเงินทุกบาททุกสตางค์เพียงพอสำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

สำหรับเรื่องตัวเงินที่เตรียมไว้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในแหล่งที่มาของเงินใหม่ คือไม่มี มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยงบประมาณที่ใช้ประกอบด้วยงบประมาณปี 2567 และ ปี 2568 ซึ่งเพียงพอและสามารถดำเนินการได้ภายในกรอบของงบประมาณ โดยแหล่งเงินจากงบประมาณปี 2567 และ ปี 2568 มีดังนี้ (1) การบริหารการคลังและการบริหารจัดการเงินงบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 165,000 ล้านบาท ประกอบด้วย แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท และที่เหลืออีก 43,000 ล้านบาท เป็นการบริหารการคลังและบริหารจัดการเงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ (2) การบริหารการคลังและการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 285,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 ที่ตั้งไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และการบริหารการคลังและบริหารจัดการเงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ วงเงิน 132,300 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเห็นและข้อห่วงใยเรื่องระบบการโอนเงิน จะต้องปลอดภัยและมั่นคงนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า เรื่องนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอในที่ประชุมซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน และอยู่ในกรอบความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด ยืนยันว่า ไทม์ไลน์โครงการยังอยู่ในกรอบเดิม คือเงินถึงมือประชาชนในไตรมาส 4 ปี 2568 โดยความชัดเจนทั้งหมดนายกรัฐมนตรีจะมีการแถลงในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ และจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ส่วนของสินค้า Negative List นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบตามมติคณะอนุกรรมการกำกับฯ เสนอ แต่มีข้อสังเกตในที่ประชุมเปิดความยืดหยุ่นให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาตามความจำเป็น เหมาะสม เช่น สินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ อาทิ ปืน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มพิจารณา ที่ให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาว่าเหมาะสมร่วมโครงการหรือไม่ นอกจากนี้มีข้อเสนอให้ตัดสิทธิกลุ่มที่เคยทำผิดเงื่อนไขโครงการรัฐในอดีต เช่น มีการถูกเรียกเงินคืน ทั้งในส่วนร้านค้า และประชาชนออกไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th