นายกฯ ย้ำปัญหาเรื่องน้ำเกี่ยวข้องในหลายมิติ เชื่อทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ ระบุหากบริหารจัดการน้ำได้ ให้มีน้ำอุปโภคบริโภค มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร ไม่เกิดน้ำท่วมน้ำแล้ง

ข่าวทั่วไป Saturday July 20, 2024 14:28 —สำนักโฆษก

นายกฯ ย้ำปัญหาเรื่องน้ำเกี่ยวข้องในหลายมิติ เชื่อทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ ระบุหากบริหารจัดการน้ำได้ ให้มีน้ำอุปโภคบริโภค มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร ไม่เกิดน้ำท่วมน้ำแล้ง จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร

วันนี้ (20 กรกฎาคม 2567) เวลา 08.00 - 08.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ ?คุยกับเศรษฐา? ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถึงปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำของประเทศไทยว่า ปัญหามีหลายมิติ เรื่องของไม่ท่วม ไม่แล้ง จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของรัฐบาล ทุก ๆ รัฐบาลให้ความสำคัญ รัฐบาลนี้ก็ไม่แตกต่างจากรัฐบาลอื่น เราไม่ได้โฟกัสแค่การสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ อย่างเช่น สนามบิน หรือ แลนด์บริดจ์ ไม่ได้ดูแค่เรื่องเดียว เรื่องของการไม่ท่วม ไม่แล้งจะมีผลกระทบในเชิงบวกหรือลบ ถ้าไม่ทำพี่น้องประชาชนหลายสิบล้านคนจะเป็นอย่างไร เพราะเราพึ่งการเกษตรค่อนข้างจะเยอะ ถ้าเราดูแลให้ดีเรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง ตนเองเชื่อว่าผลผลิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจจะมีอย่างมโหฬาร เพราะฉะนั้นในเรื่องของการดูแลในเรื่องไม่ท่วมไม่แล้ง เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องของการบริโภคน้ำด้วยเหมือนกัน

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า โครงการแรกที่รัฐบาลทำคือเรื่องของน้ำบาดาล ซึ่งจริง ๆ แล้วทำเยอะอยู่แล้ว แต่ว่าน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำที่ต้องพึ่งพาค่อนข้างจะเยอะ ตนเองลงพื้นที่ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เพื่อจะทำเรื่องน้ำบาดาล ซึ่งน้ำบาดาลไม่ได้แค่การขุดเจาะอย่างเดียว เรื่องของสายส่งก็เป็นเรื่องสำคัญ บางแห่งที่ทำมา ทำมาหลายปีแต่สายส่งยังไม่มี ทางราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้บอกมาว่ายังขาดงบประมาณบางส่วน เราลงทุนเจาะน้ำบาดาลไปหลายสิบล้าน แต่เสียหายหลายร้อยล้าน อีกแค่ 19 ล้าน ก็ Cover ได้ 3-4 หมู่บ้าน ทำให้มีสายส่งไปที่โรงพยาบาล และโรงเรียนได้ ตรงนี้ก็จะทำคุณประโยชน์มโหฬารให้กับพี่น้องประชาชน น้ำบาดาลก็เป็นแหล่งน้ำหนึ่งที่เราทำอยู่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ

นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดี มีแม่น้ำใหญ่ ๆ อยู่เยอะ เป็นสายเลือดที่สามารถหล่อเลี้ยงให้กับพี่น้องเกษตรกร และประชาชนคนไทยหลาย ๆ คนได้รับผลประโยชน์จากเรื่องของการมีน้ำอุปโภค บริโภค หรือเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวก็ดี แต่เรื่องของสายน้ำ หลาย ๆ สายน้ำ มีการตื้นเขิน ต้องมีการขุดลอกใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะ หรือว่าตะกอนที่สะสมมา ทำให้อาจจะไหลไม่ดี อาจจะไม่สามารถระบายน้ำได้ดี ทำให้เกิดการตื้นเขินได้ง่าย เพราะฉะนั้นก็เป็นนโยบายหลักอันหนึ่งที่เราพยายามที่จะพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงสายน้ำทั้ง 72 สายน้ำนี้

นายกฯ ระบุว่า ในมิตินี้ คลองหลาย ๆ คลองที่ตนเองไปดูมากับท่านราชเลขานุการฯ ไม่ว่าจะเป็นคลองเปรมประชากรก็ตามที ที่มาจากทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ไปดูว่ามีการลอกคลอง เก็บขยะ ยิ่งพื้นที่ชุมชนที่อยู่ริมคลอง เราก็มีการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัยให้เป็นสัดเป็นส่วน ทำให้มีที่เดินได้ ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่อย่างมีความสุขด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดเข้ามาในตัวเมืองจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลองโอ่งอ่าง หรือกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ลองไปดูวันนี้จะแปลกใจมาก เพราะคลองใสมาก และมีปลา ซึ่งทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี จริง ๆ แล้ว เราก็ทราบมาอยู่ว่าสมัยก่อนกรุงเทพมหานครเราเป็นเวนิสของภาคตะวันออกก็ว่าได้ แต่ว่าภาพลักษณ์ในช่วงหลัง ก่อนที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริมาให้ดูแลเรื่องคลองน้ำใส มันก็มีความขุ่น มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมา การที่เรามาทำตรงนี้ก็สามารถทำให้คลองใสขึ้นมา ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมคลอง ไม่ใช่แค่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีสภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างเดียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ถ้าแถวคลองโอ่งอ่าง มีร้านอาหารอินเดีย มีร้านอาหารอร่อยอยู่หลาย ๆ ร้านเลยก็ว่าได้ ตรงนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี

นายกฯ กล่าวว่า การจัดระเบียบไปพร้อม ๆ กับวิถีชีวิตของผู้คน จะต้องมีการพูดคุยกัน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะการที่มีชีวิตความเป็นอยู่ริมคลองอยู่แล้ว การที่เราไปขอให้เขาขยับขยาย ย้ายที่อยู่บ้าง ถึงแม้จะมีปัจจัยของเงินที่เข้ามาช่วยเหลือเขาก็ตามที ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราจะไปสั่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องไปพูดคุยให้ทราบ ถ้าเกิดเราอยู่ด้วยกัน เราทำด้วยกันดี ๆ ทุก ๆ ครัวเรือนร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นให้เป็นสัดเป็นส่วนขึ้น ให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เสริมที่ดีขึ้นด้วย

นายกฯ กล่าวถึงปัญหาการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำว่า หัวใจสำคัญที่สุดจริง ๆ คือต้องเป็นความเข้าใจของพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะเราทุกคนเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้นเหมือนกัน ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องของวิถีชีวิตในการดำรงชีวิต อย่างเช่น เรื่องของการทิ้งขยะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเวลาเราไปบางประเทศอย่างที่มหานครเจนีวา น้ำใสแจ๋วเลย เราเองก็อยากให้คูคลองของเราเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งเราไปดูแล้ว ระยะหลังคูคลองของเราก็มีขยะน้อยลงไป เพราะเรามีการจัดเก็บที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีมาช่วย อย่างเช่น ทางผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครก็ไปหาอุปกรณ์มาว่า การที่คูคลองมีกลิ่นเหม็นมาก ถ้าเกิดจะไปลอกดินขึ้นมาตลิ่งก็จะทรุดได้ แต่ปัจจุบันไปเอาเครื่องมาจากบริษัทสวิตเซอร์แลนด์ ดูดแต่หน้าดินที่มีแก๊สเน่าเยอะ ที่ส่งกลิ่นไม่ดี ดูดจากหน้าดินแล้วบำบัดน้ำ เข้ากระบวนการบำบัดน้ำ แยกขยะออกจากดิน ขยะจากพลาสติกทั้งหลาย ดินก็เข้ากระบวนการบำบัด เสร็จแล้วดินเหล่านั้นทำเป็นปุ๋ย แล้วปล่อยน้ำกลับคืนสู่แม่น้ำได้ กลับคืนสู่คลองนั้น ๆ ได้ ตรงนี้เข้าใจว่า ต่อ 1 กิโลเมตรใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการที่จะทำให้น้ำบริเวณนั้นใสขึ้นมาพอประมาณได้ ทำให้สภาพแวดล้อมทุกอย่างดีขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบปะประชาชนที่ผ่านมา ปัญหาที่สะท้อนให้เห็น หนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง คือ เรื่องสาธารณสุข เพราะฉะนั้นเรามีโครงการไปพัฒนาและเติมเต็มในแง่ของอุปกรณ์อาคารให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่เราจะทำให้ในวันมหามงคล ทั้งนี้ ตนเองเพิ่งเดินทางไปที่จังหวัดสระแก้ว มีการเพิ่มอุปกรณ์และต่อเติมอาคารให้ และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ตนเองก็เดินทางไปโรงเรียนที่จังหวัดนนทบุรี ไปดูเรื่องน้ำ เพราะว่าน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นในหลาย ๆ โอกาส คนบางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องของตาย แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้น้ำดื่มก็สูงมาก เพราะฉะนั้นเรื่องของการทำน้ำดื่มได้ในโรงเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญ เราพยายามที่จะไปทำตรงนี้ให้ ทำน้ำให้ใสสามารถอุปโภค บริโภคได้อย่างไม่มีพิษ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ