นายกฯ เป็นประธานพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ข่าวทั่วไป Thursday July 25, 2024 13:52 —สำนักโฆษก

นายกฯ เป็นประธานพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

(วันนี้ 25 กรกฎาคม 2567) เวลา 09.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนางพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยา เป็นประธานในพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้นำและผู้ประกอบพิธีทางศาสนา คณะรัฐมนตรี และคู่สมรส หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีและภริยาเดินทางถึงตึกภักดีบดินทร์ ได้เยี่ยมชมศาสนวัตถุสำคัญของแต่ละศาสนา อาทิ พระบรมสารีริกธาตุ ศาสนาพุทธ กังฆา กิรปาน กัจแฉร่า ศาสนาสิกข์ คัมภีร์ไบเบิ้ล โน้ตเพลงสาธุการ ศาสนาคริสต์ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ศาสนาอิสลาม และประวัติพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ศาสนาพราหมณ์ฮินดู

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี เปิดกรวยกระทงดอกไม้ ถวายธูปเทียนแพเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกล่าวถวายราชสดุดี เฉลิมพระเกียรติ ถวายพระพรชัยมงคล ว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ข้าพระพุทธเจ้านายเศรษฐา ทวีสิน พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ผู้แทนองค์กรศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู ศาสนาซิกข์ และพสกนิกร ที่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นี้ ต่างมีความปีติยินดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ อันเป็นมิ่งมงคลของชาติในวาระนี้

ปวงข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ต่างชื่นชมในพระบารมี และสำนึกตระหนักว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระราชวิริยอุตสาหะล้ำเลิศ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนชาวไทย ทรงเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกร ในการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนในพระศาสนา ได้พระราชทาน พระบรมราชูปถัมภ์หลากหลายและต่อเนื่อง เป็นผลให้เกิดความสงบร่มเย็น และความสุขใจแก่พสกนิกรชาวไทย ผู้เป็นศาสนิกของทุกศาสนา เป็นที่ระบือยศไปในนานาประเทศว่าทุกศาสนา และถ้วนหน้าศาสนิกชาวไทย ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ อันยิ่งใหญ่ถึงปานนี้

ณ มหามงคลสมัยนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย และอำนาจแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตามความเคารพเลื่อมใสของทุกศาสนา ประกอบกับอานิสงส์แห่งพระราชกุศล ที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญ จงได้เป็นผลดลบันดาล ให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระเกษมสำราญ เบิกบานพระราชหฤทัยอยู่เป็นนิจ สรรพกิจที่ต้องพระราชประสงค์ จงสัมฤทธิ์ พระเกียรติยศแผ่ไปในทิศานุทิศ ไม่มีประมาณ ประชาชนชาวไทยได้เย็นศิระเพราะพระบริบาล ตลอดกาลนาน เทอญ

ดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี

จากนั้น นายกรัฐมนตรี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เริ่มพิธีทางศาสนา ประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล (ศาสนาพุทธ) โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร และพระราชาคณะรวม 10 รูปร่วมพิธี พิธีดุอาอ์ขอพร (ศาสนาอิสลาม) โดยนายประสาน ศรีเจริญ ประธานที่ปรึกษาคณะ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ศาสนาอิสลาม และคณะ พิธีอธิษฐานภาวนาขอพร (ศาสนาคริสต์) โดยบาทหลวงสมเกียรติ บุญอนันตบุตร เลขาธิการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์ และคริสตศาสนจักรสัมพันธ์ พร้อมด้วยผู้แทนศาสนาคริสต์ พิธีสวดมนต์ถวายพระพร (ศาสนาพราหมณ์ ? ฮินดู) โดยพระครูสุริยาเทเวศร์ สำนักพราหมณ์พระราชครู ในสำนักพระราชวัง และคณะ พิธีสวดอัรดาส และกีรตันขอพรจากพระศาสดา (ศาสนาซิกข์) โดยนายปินเดอร์ปาลซิงห์ มาดาน นายกสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา สถาบันศาสนาซิกข์ แห่งประเทศไทย และคณะ

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรี ถวายของที่ระลึกแด่ประธานสงฆ์ และมอบของที่ระลึกแด่ผู้นำศาสนารวม 5 ศาสนา นายกรัฐมนตรีกรวดน้ำรับพร กราบลาพระรัตนตรัย ถวายความเคารพหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในส่วนกลาง จัดพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อรวมพลัง 5 ศาสนา ในการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนศาสนาต่างๆ โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ โดยพิธีทางศาสนา ประกอบด้วย

  • ศาสนาพุทธ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือการสวดมนต์ เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพื่อจำหลักคำสอนที่เป็นพระพุทธวจนะเท่านั้น การได้ยินได้ฟังพระสงฆ์สวดสาธยาย ถือว่าเป็นสิริมงคล ประสิทธิ์ประสาทความเจริญ และสามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายได้
  • ศาสนาอิสลาม ประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร เพื่อแสดงออกถึงการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ซึ่งอิสลามสอนให้อ่านดุอาอ์ในเวลาและโอกาสต่าง ๆ
  • ศาสนาคริสต์ ประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร เป็นรูปแบบความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า การภาวนาสำหรับชาวคริสต์ศาสนิกชนจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์แสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยมีบทภาวนาที่คริสต์ศาสนิกชนทุกคนสามารถอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้ เพื่อแสดงความเป็นน้ำใจเดียวกัน
  • ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สวดถวายพระพร เรียกว่า พรหมยัชญะและเทวยัชญะ เป็นหลักสำคัญ 2 ประการ ที่ผู้นับถือศาสนาฮินดูที่เคร่งจะต้องทำประจำวัน ที่เรียกว่า ปัญจมหายัชญะ คือการบูชาที่ยิ่งใหญ่ 5 ประการ
  • ศาสนาซิกข์ สวดอัรดาสขอพรจากพระศาสดา เป็นบทสวดเพื่อรำลึกถึงพระคุณของศาสดาขอให้พระองค์ประทานพร ปกป้องคุ้มครองศาสนิกชนทุกเชื้อชาติศาสนา

ในส่วนภูมิภาคร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัด องค์กรทางศาสนา ทุกส่วนราชการ องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน จัดพิธีทางศาสนามหามงคล ถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ สถานที่เหมาะสม ของแต่ละศาสนา และรณรงค์เชิญชวนส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ประดับโคมไฟ ธงชาติ ธง วปร ณ สถานที่ราชการ วัด ศาสนสถาน สถานศึกษา สำนักงาน ตลอดถึงอาคารบ้านเรือนของประชาชน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมนำหลักธรรม และพิธีกรรมมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อันเป็นการส่งเสริมคุณธรรมและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม พิธีกรรมที่ดีงาม ในการร่วมกันอนุรักษ์ สืบทอดอย่างยั่งยืนให้คงอยู่คู่ประเทศไทย ส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อีกทั้งส่งเสริมให้ศาสนิกชนทุกศาสนานำหลักธรรมทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างสติ สมาธิ และปัญญา นำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนในสังคมมีความสามัคคี ปรองดอง ด้วยการทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันชาติ ศาสนา และประชาชน ทำให้ประเทศชาติเกิดความสันติสุข เป็นพลังในการขับเคลื่อน อันจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนในสังคมอย่างยั่งยืนสืบไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ