ด้าน OECD ชื่นชมบทบาทไทยในอาเซียน พร้อมช่วยพลักดันนโยบายภาครัฐ ยกระดับการลงทุน-แข่งขัน-การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม
วันนี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567) เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายมาทีอัส คอร์มันน์ (Mr. Mathias Cormann) เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเลขาธิการ OECD พร้อมขอบคุณสำหรับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยยืนยันว่าไทยมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะเข้าเป็นสมาชิก OECD รวมทั้งย้ำความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เพื่อเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์และหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดของ OECD อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคผ่านเวทีระหว่างประเทศ เช่น APEC และ ASEAN ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะเดียวกัน ไทยจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับภาคธุรกิจและการลงทุนจากประเทศสมาชิก OECD และนานาชาติมากขึ้น
ด้านเลขาธิการ OECD ยินดีอย่างยิ่งที่ไทยได้เข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD และชื่นชมประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือกันมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2548 พร้อมยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อสนับสนุนกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น รวมทั้งเชื่อมั่นว่าการเข้าเป็นสมาชิก OECD จะสร้างประโยชน์อย่างมากให้แก่คนไทย ช่วยผลักดันการปฏิรูปประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือที่แน่นแฟ้น เพื่อให้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและสอดรับกับเป้าหมายระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรียืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกล่าวเชิญและหวังว่า OECD จะพิจารณาเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ขณะที่เลขาธิการ OECD ยินดีที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุนกระบวนการปรับปรุงนโยบายภาครัฐของไทย โดยเฉพาะในด้านการลงทุน การแข่งขัน การศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องตามกรอบ OECD
อนึ่ง ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการหารือ (accession discussions) เพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD แล้วเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD มีทั้งหมด 3 ระยะ ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระยะที่ 2 โดยไทยและ OECD อยู่ระหว่างการหารือเพื่อร่วมกันจัดทำแผนการดำเนินการเพื่อปรับนโยบายและกฎระเบียบ (Initial Memorandum) ให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th