นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง และนราธิวาส

ข่าวทั่วไป Tuesday December 17, 2024 15:24 —สำนักโฆษก

นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง และนราธิวาส

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 14.30 น. ณ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและสั่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้ (นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง และนราธิวาส) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง และนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วม

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวรายงานต่อที่ประชุมว่า การประชุมวันนี้ เป็นไปตามข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเน้นย้ำเรื่องการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ให้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว และตรงความต้องการ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่มีสถานการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือ จนถึงภาคใต้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากนายกฯ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาทุกข์ โดยนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉินในการช่วยเหลือประชาชนด้วยความรวดเร็ว และลงไปในพื้นที่ ถือเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน และจากการที่ได้ลงพื้นที่พบว่าประชาชนอดทนและเข้าใจ รวมถึงซาบซึ้งที่รัฐบาลได้เร่งจัดการแก้ไข ตนเองคิดว่าไม่ใช่เรื่องอื่นมากไปกว่าการที่นายกฯ ได้สั่งการ จนกระทั่งสถานการณ์ได้เลื่อนลงมาจากภาคเหนือภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งในภาคใต้จะประสบปัญหาเรื่องการไหลหลากของน้ำ รวมไปถึงดินโคลนถล่มหากน้ำระบายได้สถานการณ์น้ำจะกลับคืนสู่ปกติโดยเร็วที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่สุด นายกฯ ไม่ได้ชะลอเรื่องการช่วยเหลือประชาชน โดยได้ติดตามสถานการณ์ระหว่างเยือนมาเลเซีย ตนเองในฐานะผู้บัญชาการสถานการณ์ขอขอบคุณนายกฯ

ทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ว่า ได้รับผลกระทบ จำนวน 21 อำเภอ 143 ตำบล 1,223 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.ขนอม อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา อ.พิปูน อ.พรหมคีรี อ.ฉวาง อ.เมืองฯ อ.ลานสกา อ.ช้างกลาง อ.พระพรหม อ.ปากพนัง อ.นาบอน อ.ร่อนพิบูลย์อ.เฉลิมพระเกียรติอ.ทุ่งสง อ.เชียรใหญ่อ.จุฬาภรณ์ อ.หัวไทร อ.บางขัน อ.ชะอวด เบื้องต้นประชาชนได้รับผลกระทบ 115,722 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 5 ราย (ชาย) โดยศูนย์ปภ.เขต 11 สุราษฎร์ธานี สนง.ปภ.จ. หน่วยทหารในพื้นที่อำเภอ จนท.ตร. จิตอาสา อปพร. อาสาสมัคร มูลนิธิพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว/จุดอพยพ 5 แห่ง (อ.พรหมคีรี 93 คน อ.นบพิตำ 120 คน อ.เมืองฯ (2แห่ง) 950 คน และศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก 10 คน ) ประกาศเขตฯ พื้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย)13อำเภอ (นาบอน เชียรใหญ่ ทุ่งสง เมืองฯ จุฬาภรณ์ สิชล ชะอวด เฉลิมพระเกียรติพระพรหม ร่อนพิบูลย์ พรหมคีรี บางขัน พิปูน) 52 ตำบล 315 หมู่บ้าน/ชุมชน (ปริมาณฝนสูงสุดอ.เมืองฯ 294.0 มม.ข้อมูล สสน. ฝน 24 ชม.) ปัจจุบันคลองท่าดีระดับน้ำลดลง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณข้าราชการทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน ตนเองตั้งใจที่ได้เดินทางมาประชุมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในวันนี้ และเข้าใจว่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ จะต้องอยู่ในพื้นที่ เพี่อผู้ดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้อย่างใกล้ชิด ทั้งจากการรายงานโดยตรงและภาพข่าวที่ปรากฎตามสื่อมวลชน ต้องขอชื่นชม ข้าราชการทุกหน่วยงานที่สามารถจัดการสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับลงพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรายงานล่าสุดทราบว่า ไม่เกินวันศุกร์นี้ สถานการณ์น้ำน่าจะลดแห้งทั้งหมด และวันนี้ก็ฝนตกเฉพาะแค่ช่วงเช้าซึ่งถือว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ ติดตามความช่วยเหลือ โดยเฉพาะปัจจัยสี่ อาทิ อาหาร ยา ต้อง เพียงพอ และเน้นย้ำสิ่งสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน คือ การดูแลชีวิตพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด โดยชีวิตของประชาชนและปัจจัยสี่ ต้องปลอดภัยและเพียงพอ ทุกกระทรวงต้องระดมสรรพกำลัง คน เครื่องมือ อุปกรณ์เครื่องจักรกลร่วมกัน รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยใช้กลไกตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ โดยระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาเป็นปกติ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ให้กำลังใจทุกคน เชื่อว่าเหตุการณ์จะทำในที่สุด

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเยียวยาว่า สามารถเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่าร้อยละ 80 แล้วซึ่งถือว่าใช้เวลารวดเร็วกว่า ขณะนี้ การเยียวยาในภาคเหนือก็ยังเหลืออีก 1% เพราะเยียวยาได้ 99% ซึ่งต้องการให้มีการระบุตัวตนเพื่อให้การเยียวยาได้ถูกคนและถูกต้อง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เข้าใจเวลาที่รอการเยียวยา ว่าเป็นเรี่องที่ยาวนาน รัฐบาลจึงเร่งรัดให้เร็วที่สุด

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ ทุกภาคส่วน ทหารตำรวจ พลเรือน จิตอาสา ฝ่ายปกครอง ระดมการช่วยเหลือ สามารถ ลดทอนความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทุกที่ได้เห็นถึง ?น้ำใจของคนไทย?ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน ภาคไหนก็ตาม เมื่อเกิดเหตุจะมีการช่วยเหลือกันอย่างทั่ว ๆ เห็นถึงความสามัคคีของคนในชาติ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก

โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ดำเนินงาน ดังนี้ 1.เน้นย้ำกันดูแลชีวิตของพี่น้องประชาชน ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทั้งอาหาร สถานที่พักพิงสถานที่อพยพ ให้มีการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่เมื่อสถานการณ์น้ำคลี่คลายแล้ว ประชาชนสามารถกลับเข้าที่พัก และดำเนินชีวิตต่อไป 2.การแจ้งเตือนประชาชน ขอให้มีความชัดเจนและทั่วถึงโดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การแจ้งเตือนก็ขอให้ครอบคลุมทั่วถึงและชัดเจน 3.เร่งรัดการดูแลประปา ไฟฟ้าให้กลับมาใช้ได้เร็วที่สุด สามารถดำเนินการล่วงหน้า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะได้กลับมามีชีวิตปกติได้เร็วที่สุด และ 4.การดูแลเส้นทางสัญจรและถนนที่ ชำรุด เสียหาย ให้รีบปรับปรุงและกลับมาใช้สัญจรได้เร็วที่สุด ทั้งนี้ หากติดขัดในเรื่องใด ขอให้ประสานกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่อยู่หน้างานอยู่แล้วเป็นผู้บัญชาสถานการณ์ โดยจะสามารถประสานกับตนเองและกับทุกภาคส่วนในท้องถิ่น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ