แท็ก
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายกรัฐมนตรี
วิสัยทัศน์
นายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย ในมุมมองของรัฐบาล" ในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาประจำปี 2551 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570"
วันนี้ เวลา 09.30 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอน บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย ในมุมมองของรัฐบาล" ในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาประจำปี 2551 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการพัฒนาที่ผ่านมาและกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาที่มองจากปัจจุบันไปในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนทุกภาคส่วน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,500 คน
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด ทั้งที่เป็นโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาขาดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรธรรมชาติ อันนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นรากฐานของสังคมหลายประการ ประกอบกับการพัฒนายังต้องพึ่งพาต่างประเทศอย่างมาก ขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและเงื่อนไขที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สังคมไทยมีความมั่นคงในสังคมโลก
สศช. จึงได้จัดการประชุมสัมมนาประจำปี 2551 เรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570" เพื่อทบทวนการพัฒนาที่ผ่านมาและกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า โดยกำหนดให้มีการอภิปรายเรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570" ในช่วงเช้า จากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งตนเองและแข่งขันในสังคมโลก การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการที่ดีสู่ความเป็นธรรมของการพัฒนาประเทศ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย ในมุมมองของรัฐบาล" ว่า วิสัยทัศน์ของรัฐบาลในอีก 20 ปีข้างหน้า เริ่มต้นด้วยการจัดการแก้ไขปัญหาของรากหญ้าในวันนี้ เพื่อให้คนที่เดือดร้อนจะได้รับการบรรเทาทุกข์ด้วยมาตรการทางการเงินที่จะลงไปสู่คนที่เดือดร้อนโดยตรง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยสร้างระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้คนสามารถเดินทางไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่จะย้ายไปยังนอกเมืองได้อย่างสะดวก ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพมหานครจะสร้างเป็นพื้นที่สีเขียว พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเรื่องการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระบบราง เรื่องการซื้อพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการนำน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำการเกษตรในประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการจัดระบบการดูแลทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุให้ดีขึ้น เพราะในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า อัตราการเกิดน้อยและอัตราการตายต่ำ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งดูแลประชากรทั่วไป ทั้งในเรื่องสุขภาพ เรื่องอาหาร และเรื่องการศึกษา
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่าวิสัยทัศน์ของรัฐบาลคือโอกาส เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องร่วมกันดำเนินการและพร้อมจะเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ข้างต้นต่อไป
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ เวลา 09.30 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอน บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย ในมุมมองของรัฐบาล" ในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาประจำปี 2551 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนการพัฒนาที่ผ่านมาและกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาที่มองจากปัจจุบันไปในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนทุกภาคส่วน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,500 คน
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีการเปลี่ยนแปลงผันผวนของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด ทั้งที่เป็นโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาขาดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรธรรมชาติ อันนำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นรากฐานของสังคมหลายประการ ประกอบกับการพัฒนายังต้องพึ่งพาต่างประเทศอย่างมาก ขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์ได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและเงื่อนไขที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สังคมไทยมีความมั่นคงในสังคมโลก
สศช. จึงได้จัดการประชุมสัมมนาประจำปี 2551 เรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570" เพื่อทบทวนการพัฒนาที่ผ่านมาและกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า โดยกำหนดให้มีการอภิปรายเรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย...สู่ปี 2570" ในช่วงเช้า จากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งตนเองและแข่งขันในสังคมโลก การปรับโครงสร้างทางสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการที่ดีสู่ความเป็นธรรมของการพัฒนาประเทศ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "วิสัยทัศน์ประเทศไทย ในมุมมองของรัฐบาล" ว่า วิสัยทัศน์ของรัฐบาลในอีก 20 ปีข้างหน้า เริ่มต้นด้วยการจัดการแก้ไขปัญหาของรากหญ้าในวันนี้ เพื่อให้คนที่เดือดร้อนจะได้รับการบรรเทาทุกข์ด้วยมาตรการทางการเงินที่จะลงไปสู่คนที่เดือดร้อนโดยตรง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยสร้างระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้คนสามารถเดินทางไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่จะย้ายไปยังนอกเมืองได้อย่างสะดวก ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพมหานครจะสร้างเป็นพื้นที่สีเขียว พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเรื่องการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระบบราง เรื่องการซื้อพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการนำน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำการเกษตรในประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการจัดระบบการดูแลทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุให้ดีขึ้น เพราะในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า อัตราการเกิดน้อยและอัตราการตายต่ำ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งดูแลประชากรทั่วไป ทั้งในเรื่องสุขภาพ เรื่องอาหาร และเรื่องการศึกษา
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่าวิสัยทัศน์ของรัฐบาลคือโอกาส เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ต้องร่วมกันดำเนินการและพร้อมจะเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ข้างต้นต่อไป
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--