นายกรัฐมนตรีระบุประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนมุ่งมั่นที่จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่สะท้อนความรู้สึกและผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียน พร้อมจะให้ความสนใจกับงานเยาวชน และจะรับฟังความเห็นของเยาวชน
วันนี้ (8 ส.ค.) เวลา 07.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปราศรัยทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาอาเซียน ประจำปี 2551 ดังนี้
พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันนี้เป็นวันครบรอบ 41 ปี ของการจัดตั้งสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ในนามรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ผมขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังพี่น้องชาวไทย รัฐบาลและพี่น้องประชาชนของมิตรประเทศอาเซียนด้วยความจริงใจ
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2510 อาเซียนได้ถือกำเนิดขึ้นจากความพยายามของ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความสมานฉันท์ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้ภูมิภาคแห่งนี้มีเสถียรภาพและสันติภาพ
ในปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ประเทศ ขยายความร่วมมือในทุกสาขาที่สำคัญ และได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ ขณะนี้ อาเซียนกำลังพัฒนาจากกลุ่มความร่วมมือให้เป็นประชาคมอาเซียนภายในพุทธศักราช 2558 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งจะประกอบด้วย 3 เสา คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน
เสาแรกประชาคมความมั่นคงอาเซียน อาเซียนจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศสมาชิกมีความพร้อมในการร่วมมือป้องกันและจัดการกับความขัดแย้งระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะภัยข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจะจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
เสาที่สองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาเซียนกำลังเร่งรวมตัวทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีอาเซียนและเขตการลงทุนอาเซียน เพื่อพัฒนาอาเซียนซึ่งมีประชากรกว่า 560 ล้านคนและมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ให้เป็นตลาดและฐานการผลิตที่เป็นหนึ่งเดียวภายในปี 2558 ซึ่งจะทำให้อาเซียนน่าสนใจและมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ
และเสาที่สามประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน อาเซียนกำลังมุ่งพัฒนาความร่วมมือในสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข พลังงาน สวัสดิการสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีเป้าหมายให้ประชาชนในภูมิภาครู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนนี้
นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดการกับปัญหาสังคมและภัยคุกคามอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและเกินกว่าที่จะควบคุม ดูแลได้เพียงลำพัง เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยพิบัติ ปัญหาโรคระบาด เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากพม่าประสบภัยพิบัติจากไซโคลนนาร์กีสเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อาเซียนเป็นกลไกแรกที่ตอบสนองและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวพม่าที่ประสบภัยดังกล่าว
พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ปีนี้นับเป็นปีที่สำคัญสำหรับอาเซียนและประเทศไทย กล่าวคือ เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันคือชาวไทย และประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งหมายถึงว่า เราจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ประเทศไทย และขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังทยอยกันให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเปรียบเสมือนบทบัญญัติร่วมกันที่ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างที่เข้มแข็ง และมีกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมสาขาต่างๆ อย่างเป็นระบบ
ในโอกาสที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่สะท้อนให้เกิดความรู้สึกและผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียน ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต และมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของเยาวชนที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนจะได้ให้ความสนใจกับงานเยาวชน และจะรับฟังความเห็นของเยาวชน
สุดท้ายนี้ ผมขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล โปรดดลบันดาลประทานพรให้พี่น้องประชาชนชาวไทย และพี่น้องประชาชนของประเทศสมาชิกอาเซียน จงประสบแต่ความผาสุกสวัสดีโดยทั่วกัน
สวัสดีครับ
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ (8 ส.ค.) เวลา 07.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปราศรัยทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาอาเซียน ประจำปี 2551 ดังนี้
พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันนี้เป็นวันครบรอบ 41 ปี ของการจัดตั้งสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ในนามรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ผมขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังพี่น้องชาวไทย รัฐบาลและพี่น้องประชาชนของมิตรประเทศอาเซียนด้วยความจริงใจ
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2510 อาเซียนได้ถือกำเนิดขึ้นจากความพยายามของ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความสมานฉันท์ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้ภูมิภาคแห่งนี้มีเสถียรภาพและสันติภาพ
ในปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ประเทศ ขยายความร่วมมือในทุกสาขาที่สำคัญ และได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ ขณะนี้ อาเซียนกำลังพัฒนาจากกลุ่มความร่วมมือให้เป็นประชาคมอาเซียนภายในพุทธศักราช 2558 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งจะประกอบด้วย 3 เสา คือ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน
เสาแรกประชาคมความมั่นคงอาเซียน อาเซียนจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศสมาชิกมีความพร้อมในการร่วมมือป้องกันและจัดการกับความขัดแย้งระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะภัยข้ามชาติในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจะจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมแนวคิดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
เสาที่สองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาเซียนกำลังเร่งรวมตัวทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีอาเซียนและเขตการลงทุนอาเซียน เพื่อพัฒนาอาเซียนซึ่งมีประชากรกว่า 560 ล้านคนและมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ให้เป็นตลาดและฐานการผลิตที่เป็นหนึ่งเดียวภายในปี 2558 ซึ่งจะทำให้อาเซียนน่าสนใจและมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ
และเสาที่สามประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน อาเซียนกำลังมุ่งพัฒนาความร่วมมือในสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข พลังงาน สวัสดิการสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีเป้าหมายให้ประชาชนในภูมิภาครู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนนี้
นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดการกับปัญหาสังคมและภัยคุกคามอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและเกินกว่าที่จะควบคุม ดูแลได้เพียงลำพัง เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยพิบัติ ปัญหาโรคระบาด เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากพม่าประสบภัยพิบัติจากไซโคลนนาร์กีสเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อาเซียนเป็นกลไกแรกที่ตอบสนองและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวพม่าที่ประสบภัยดังกล่าว
พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ปีนี้นับเป็นปีที่สำคัญสำหรับอาเซียนและประเทศไทย กล่าวคือ เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันคือชาวไทย และประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งหมายถึงว่า เราจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ประเทศไทย และขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังทยอยกันให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเปรียบเสมือนบทบัญญัติร่วมกันที่ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างที่เข้มแข็ง และมีกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมสาขาต่างๆ อย่างเป็นระบบ
ในโอกาสที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่สะท้อนให้เกิดความรู้สึกและผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียน ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต และมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของเยาวชนที่เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนจะได้ให้ความสนใจกับงานเยาวชน และจะรับฟังความเห็นของเยาวชน
สุดท้ายนี้ ผมขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากล โปรดดลบันดาลประทานพรให้พี่น้องประชาชนชาวไทย และพี่น้องประชาชนของประเทศสมาชิกอาเซียน จงประสบแต่ความผาสุกสวัสดีโดยทั่วกัน
สวัสดีครับ
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--