นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการโอนเงินเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ
วันนี้ เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการโอนเงินเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 โดยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผู้แทนชาวไร่อ้อยจากองค์กรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และเกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 300 คนร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวรายงานโดยสรุปว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีได้เห็นความสำคัญ เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อย จากวันที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรชาวไร่อ้อยก็มีความหวังและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินการในส่วนของการเพิ่มเงินให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งราคาอ้อยเบื้องต้นที่กำหนดไว้ในฤดูการผลิตปี 2550 - 2551 อยู่ที่ 600 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนการผลิตจริงอยู่ที่ 807 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นการคิดไว้นานแล้วก่อนที่ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรชาวไร่อ้อยยังมีความพอใจว่าอย่างน้อยที่สุด 807 บาทต่อตันที่ได้คิดราคาไว้เบื้องต้นในวันนี้ได้มีโอกาสได้รับเงินจำนวนดังกล่าว โดยเงินที่จะได้รับในวันนี้เป็นส่วนที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับจากอ้อยที่ผลิตได้ทั้งหมดหลังจากที่ปิดหีบแล้ว 73.3 ล้านตัน เป็นเงินจำนวน 12,370.8 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้ทำพิธีโอนเงินจำนวนนี้เข้าบัญชีเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยตรง ไม่ผ่านบัญชีของโรงงานหรือบัญชีของใครทั้งสิ้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ก่อนทำพิธีเปิดการโอนเงินเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 สรุปสาระสำคัญว่า วันที่ได้รับการร้องทุกข์จากเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นวันพฤหัสบดีโดยบอกว่าจะมาขอพบวันศุกร์ แต่ตนได้อาสาไปพบเกษตรกรคนเดียวเพราะสะดวกกว่าและรู้ปัญหา จึงได้พบกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1,000 คนที่โรงแรมสีมาธานีในวันเสาร์ ที่ได้พูดคุยกันถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งเห็นว่าเมื่อมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมีโอกาสจะแก้ปัญหาจึงได้บอกว่าจะดำเนินการให้ โดยได้คุยให้ฟังว่ามีความเข้าใจ รู้ลู่ทาง รู้ความเจ็บช้ำน้ำใจว่าทารุณจริง ๆ ที่ขึ้นราคาน้ำตาลทรายไม่ได้ โดยการขึ้นราคาน้ำตาลทรายที่เคยขึ้นมาถูกบังคับอยู่ที่กิโลกรัมละ 13 — 14 บาท กว่าจะขยับขึ้นมาเป็น 15 — 16.50 บาทก็นานมาก ขณะที่สินค้าเกษตรอย่างอื่นขึ้นราคาได้หมด ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ขณะที่อ้อยไม่ได้ขึ้นราคา รวมทั้งมีระบบประหลาดที่ต้องกู้เงินมาชดเชยทำให้รุงรังพันเตไปหมด ซึ่งในวันที่พบกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้สอบถามถึงผลผลิตอ้อยต่อตันที่พบว่าได้ 6 ตันต่อไร่จึงขอให้มีการเพิ่มผลิตให้ได้ 9 ตันต่อไร่ ที่ความจริงก็ทำได้ 10 — 11 ไร่ต่อตันด้วยระบบน้ำหยด และเพิ่มได้ถึง 15 — 25 ตันต่อไร่ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะบุคคล โดยหากสามารถทำได้ถึง 15 ตันต่อไร่ก็ดีมากแล้ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การขึ้นราคาน้ำตาลทรายมีสูตรอยู่ ก็มีคนด่าว่าได้กำไรและคิดว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์ด้วย แต่เป็นเรื่องบังเอิญที่ได้พบเกษตรกรวันเสาร์แล้ววันจันทร์ต่อมาเป็นวันประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้นำผลการประชุมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคาร และคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติ ซึ่งรวดเร็วจนกระทั่งถูกต่อว่า
“ขอให้รู้ว่าที่ทำให้เกษตรกรนี้ทำให้ไม่ได้ทำเอา ไม่อยากสบถสาบาน อย่างไรก็ตามแต่ถ้าไปกินเขา 1 บาทก็ขอให้มีอันเป็นไปก็แล้วกัน แต่ถ้า 1 บาทไม่เคยแตะก็ขอให้มีความเจริญรุ่งเรือง ใครจะมาทำลายมาฉุดล้อมทำเนียบฯ ก็ให้มาไม่ได้ก็แล้วกันวันนั้น ไม่รู้จะพูดอย่างไรถูกแล้ว คิดอะไรอย่างไรไม่ได้มีคนแปลความให้เสร็จหมด แล้วบ้านเมืองมีปัญหาไม่แก้ไขได้อย่างไร ทำอะไรไม่ได้คิดอะไรไม่ได้เพราะคนที่กระโดกกระเดกเข้ามามีโอกาสมาแก้ปัญหาให้เรื่องไร่อ้อย เรื่องข้าว ขนส่งมวลชน รถไฟ ผันน้ำ โอกาสมาถึงเราจะเป็นคนทำ แต่มีคนจ้องจะคอยฟาดฟัน คนไม่ได้ทำก็เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันจะเป็นจะตาย เพิ่ง 4 เดือนเท่านั้นก็กระโดดขัดกระโดดขวาง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้งหมดที่ทำเพื่อจะบอกว่าเมื่อมีปัญหาอะไร คนที่จะมาแก้ได้รู้ปัญหา เข้าใจปัญหา มองเห็นทะลุปรุโปร่ง โดยขอให้เกษตรกรแก้ปัญหาโดยการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อตัน และวันนี้จะแสดงความยินดีกับปริมาณอ้อย 73.3 ล้านตัน ที่แบ่งเป็นการบริโภค 23 ล้านตันและอีก 50 ล้านตันนำไปทำเอทานอล ซึ่งเป็นหัวใจของประเทศในเวลานี้คือการแก้ปัญหาที่ไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ปลูกข้าว มีการแยกพื้นที่การปลูกอย่างชัดเจนทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มและอ้อย แต่ได้ให้มีการเพิ่มผลผลิต เวลานี้ขอสนับสนุนให้เกษตรกรมีความอุตสาหะ ซึ่งรัฐบาลจะคอยติดตามปัญหาของเกษตรกร ขอให้ดำเนินการต่อไปเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้เบื้องต้น 15 ตันต่อไร่ และหากมีเวลาว่างก็จะไปเยี่ยมเกษตรกร
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่าอีก 2 วันจะมีการสัมมนาเปิดโครงการอย่างนี้อีก 1 ล้านไร่เพื่อเพาะปลูก โดยจะดูพื้นที่ในการปลูกพืชที่เหมาะสม พื้นที่ใดที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว เหมาะกับการทำไร่ก็จะเชิญชวนให้ปลูกอ้อยปลูกมัน เพราะเป็นพืชพลังงาน ในวันนี้ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่จะได้รับการโอนเงิน ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลคือเมื่อทำให้เกษตรกรพออยู่ได้แล้วก็ขอให้ช่วยเพิ่มผลผลิต เพราะต่อไปจะมีการผลิตเอทานอลที่เป็นพลังงานทดแทน โดยขอให้เกษตรกรรักษาอัตราการผลิตและเพิ่มการผลิตด้วย
สืบเนื่องจากการที่ราคาปัจจัยการผลิตอ้อยในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ให้ได้รับราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 คุ้มต้นทุนการผลิตที่ 807 บาทต่อตัน และให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 ในอัตราตันอ้อยละ 169 บาท จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความช่วยเหลือไว้เดิมที่ตันอ้อยละ 62 บาท จากจำนวนอ้อย 73.2 ล้านตัน รวมเป็นเงินกู้จำนวน 12,370.8 ล้านบาท และพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงานอีกกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อเป็นรายได้ของกองทุนสำหรับนำมาชำระหนี้ให้กับชาวไร่อ้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 ได้พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอ
โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 ได้มีพิธีลงนามสัญญากู้เงินจำนวนดังกล่าวระหว่างกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และ ธ.ก.ส. เรียบร้อยแล้ว และ ธ.ก.ส. พร้อมที่จะทำการโอนเงินเพื่อจ่ายเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลทราย ในฤดูการผลิตปี 2550/2551 ได้โดยตรงแล้ว ซึ่งจะมีชาวไร่อ้อยที่ได้รับเงินเพิ่มราคาอ้อยในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 92,466 ราย แยกเป็นรายภาคประกอบด้วย ภาคเหนือ 19,526 ราย ปริมาณอ้อย 18.45 ล้านตัน ภาคกลาง 13,753 ราย ปริมาณอ้อย 22.38 ล้านตัน ภาคตะวันออก 4,122 ราย ปริมาณอ้อย 4.64 ล้านตัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 55,065 ราย ปริมาณอ้อย 27.84 ล้านตัน รวมปริมาณอ้อย 73.3 ล้านตัน และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศว่า เงินเพิ่มราคาอ้อยที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ถึงมือชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริงและรวดเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดพิธีเปิดการโอนเงินเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของพี่น้องชาวไร่อ้อยด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการโอนเงินเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 โดยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ โดยมีผู้แทนชาวไร่อ้อยจากองค์กรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และเกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 300 คนร่วมเป็นสักขีพยาน
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวรายงานโดยสรุปว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีได้เห็นความสำคัญ เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อย จากวันที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่จังหวัดนครราชสีมา เกษตรกรชาวไร่อ้อยก็มีความหวังและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินการในส่วนของการเพิ่มเงินให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งราคาอ้อยเบื้องต้นที่กำหนดไว้ในฤดูการผลิตปี 2550 - 2551 อยู่ที่ 600 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนการผลิตจริงอยู่ที่ 807 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นการคิดไว้นานแล้วก่อนที่ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรชาวไร่อ้อยยังมีความพอใจว่าอย่างน้อยที่สุด 807 บาทต่อตันที่ได้คิดราคาไว้เบื้องต้นในวันนี้ได้มีโอกาสได้รับเงินจำนวนดังกล่าว โดยเงินที่จะได้รับในวันนี้เป็นส่วนที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับจากอ้อยที่ผลิตได้ทั้งหมดหลังจากที่ปิดหีบแล้ว 73.3 ล้านตัน เป็นเงินจำนวน 12,370.8 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้ทำพิธีโอนเงินจำนวนนี้เข้าบัญชีเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยตรง ไม่ผ่านบัญชีของโรงงานหรือบัญชีของใครทั้งสิ้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ก่อนทำพิธีเปิดการโอนเงินเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 สรุปสาระสำคัญว่า วันที่ได้รับการร้องทุกข์จากเกษตรกรชาวไร่อ้อยเป็นวันพฤหัสบดีโดยบอกว่าจะมาขอพบวันศุกร์ แต่ตนได้อาสาไปพบเกษตรกรคนเดียวเพราะสะดวกกว่าและรู้ปัญหา จึงได้พบกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย 1,000 คนที่โรงแรมสีมาธานีในวันเสาร์ ที่ได้พูดคุยกันถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งเห็นว่าเมื่อมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมีโอกาสจะแก้ปัญหาจึงได้บอกว่าจะดำเนินการให้ โดยได้คุยให้ฟังว่ามีความเข้าใจ รู้ลู่ทาง รู้ความเจ็บช้ำน้ำใจว่าทารุณจริง ๆ ที่ขึ้นราคาน้ำตาลทรายไม่ได้ โดยการขึ้นราคาน้ำตาลทรายที่เคยขึ้นมาถูกบังคับอยู่ที่กิโลกรัมละ 13 — 14 บาท กว่าจะขยับขึ้นมาเป็น 15 — 16.50 บาทก็นานมาก ขณะที่สินค้าเกษตรอย่างอื่นขึ้นราคาได้หมด ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ขณะที่อ้อยไม่ได้ขึ้นราคา รวมทั้งมีระบบประหลาดที่ต้องกู้เงินมาชดเชยทำให้รุงรังพันเตไปหมด ซึ่งในวันที่พบกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้สอบถามถึงผลผลิตอ้อยต่อตันที่พบว่าได้ 6 ตันต่อไร่จึงขอให้มีการเพิ่มผลิตให้ได้ 9 ตันต่อไร่ ที่ความจริงก็ทำได้ 10 — 11 ไร่ต่อตันด้วยระบบน้ำหยด และเพิ่มได้ถึง 15 — 25 ตันต่อไร่ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะบุคคล โดยหากสามารถทำได้ถึง 15 ตันต่อไร่ก็ดีมากแล้ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การขึ้นราคาน้ำตาลทรายมีสูตรอยู่ ก็มีคนด่าว่าได้กำไรและคิดว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ประโยชน์ด้วย แต่เป็นเรื่องบังเอิญที่ได้พบเกษตรกรวันเสาร์แล้ววันจันทร์ต่อมาเป็นวันประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้นำผลการประชุมเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคาร และคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติ ซึ่งรวดเร็วจนกระทั่งถูกต่อว่า
“ขอให้รู้ว่าที่ทำให้เกษตรกรนี้ทำให้ไม่ได้ทำเอา ไม่อยากสบถสาบาน อย่างไรก็ตามแต่ถ้าไปกินเขา 1 บาทก็ขอให้มีอันเป็นไปก็แล้วกัน แต่ถ้า 1 บาทไม่เคยแตะก็ขอให้มีความเจริญรุ่งเรือง ใครจะมาทำลายมาฉุดล้อมทำเนียบฯ ก็ให้มาไม่ได้ก็แล้วกันวันนั้น ไม่รู้จะพูดอย่างไรถูกแล้ว คิดอะไรอย่างไรไม่ได้มีคนแปลความให้เสร็จหมด แล้วบ้านเมืองมีปัญหาไม่แก้ไขได้อย่างไร ทำอะไรไม่ได้คิดอะไรไม่ได้เพราะคนที่กระโดกกระเดกเข้ามามีโอกาสมาแก้ปัญหาให้เรื่องไร่อ้อย เรื่องข้าว ขนส่งมวลชน รถไฟ ผันน้ำ โอกาสมาถึงเราจะเป็นคนทำ แต่มีคนจ้องจะคอยฟาดฟัน คนไม่ได้ทำก็เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันจะเป็นจะตาย เพิ่ง 4 เดือนเท่านั้นก็กระโดดขัดกระโดดขวาง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้งหมดที่ทำเพื่อจะบอกว่าเมื่อมีปัญหาอะไร คนที่จะมาแก้ได้รู้ปัญหา เข้าใจปัญหา มองเห็นทะลุปรุโปร่ง โดยขอให้เกษตรกรแก้ปัญหาโดยการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อตัน และวันนี้จะแสดงความยินดีกับปริมาณอ้อย 73.3 ล้านตัน ที่แบ่งเป็นการบริโภค 23 ล้านตันและอีก 50 ล้านตันนำไปทำเอทานอล ซึ่งเป็นหัวใจของประเทศในเวลานี้คือการแก้ปัญหาที่ไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ปลูกข้าว มีการแยกพื้นที่การปลูกอย่างชัดเจนทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มและอ้อย แต่ได้ให้มีการเพิ่มผลผลิต เวลานี้ขอสนับสนุนให้เกษตรกรมีความอุตสาหะ ซึ่งรัฐบาลจะคอยติดตามปัญหาของเกษตรกร ขอให้ดำเนินการต่อไปเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้เบื้องต้น 15 ตันต่อไร่ และหากมีเวลาว่างก็จะไปเยี่ยมเกษตรกร
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่าอีก 2 วันจะมีการสัมมนาเปิดโครงการอย่างนี้อีก 1 ล้านไร่เพื่อเพาะปลูก โดยจะดูพื้นที่ในการปลูกพืชที่เหมาะสม พื้นที่ใดที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว เหมาะกับการทำไร่ก็จะเชิญชวนให้ปลูกอ้อยปลูกมัน เพราะเป็นพืชพลังงาน ในวันนี้ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่จะได้รับการโอนเงิน ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลคือเมื่อทำให้เกษตรกรพออยู่ได้แล้วก็ขอให้ช่วยเพิ่มผลผลิต เพราะต่อไปจะมีการผลิตเอทานอลที่เป็นพลังงานทดแทน โดยขอให้เกษตรกรรักษาอัตราการผลิตและเพิ่มการผลิตด้วย
สืบเนื่องจากการที่ราคาปัจจัยการผลิตอ้อยในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ให้ได้รับราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 คุ้มต้นทุนการผลิตที่ 807 บาทต่อตัน และให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 ในอัตราตันอ้อยละ 169 บาท จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความช่วยเหลือไว้เดิมที่ตันอ้อยละ 62 บาท จากจำนวนอ้อย 73.2 ล้านตัน รวมเป็นเงินกู้จำนวน 12,370.8 ล้านบาท และพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย ณ หน้าโรงงานอีกกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อเป็นรายได้ของกองทุนสำหรับนำมาชำระหนี้ให้กับชาวไร่อ้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 ได้พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอ
โดยเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2551 ได้มีพิธีลงนามสัญญากู้เงินจำนวนดังกล่าวระหว่างกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และ ธ.ก.ส. เรียบร้อยแล้ว และ ธ.ก.ส. พร้อมที่จะทำการโอนเงินเพื่อจ่ายเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลทราย ในฤดูการผลิตปี 2550/2551 ได้โดยตรงแล้ว ซึ่งจะมีชาวไร่อ้อยที่ได้รับเงินเพิ่มราคาอ้อยในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 92,466 ราย แยกเป็นรายภาคประกอบด้วย ภาคเหนือ 19,526 ราย ปริมาณอ้อย 18.45 ล้านตัน ภาคกลาง 13,753 ราย ปริมาณอ้อย 22.38 ล้านตัน ภาคตะวันออก 4,122 ราย ปริมาณอ้อย 4.64 ล้านตัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 55,065 ราย ปริมาณอ้อย 27.84 ล้านตัน รวมปริมาณอ้อย 73.3 ล้านตัน และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศว่า เงินเพิ่มราคาอ้อยที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ถึงมือชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริงและรวดเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดพิธีเปิดการโอนเงินเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2550/2551 โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของพี่น้องชาวไร่อ้อยด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--