นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีหารือกับพลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า โดยนายกรัฐมนตรีพม่าได้ขอบคุณไทยที่ให้ความช่วยเหลือเป็นประเทศแรก โดยเฉพาะสิ่งของพระราชทาน
วันนี้ เมื่อเวลา 11.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ณ โรงแรมเซโดนา กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า
โดย พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า กล่าวขอบคุณในนามรัฐบาลและตัวแทนประชาชนชาวพม่า ที่ประเทศไทยให้การช่วยเหลือเป็นประเทศแรกหลังเกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีสในพม่า โดยเฉพาะสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้ทางการพม่ามีกำลังใจต่อสู้และให้การช่วยเหลือประชาชนชาวพม่าต่อไป ทั้งนี้ สิ่งแรกที่รัฐบาลพม่าดำเนินการคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้ และให้การช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ในที่ปลอดภัยด้วยกองกำลังทหาร 4,000 นาย และประชาชน เพราะหากรอความช่วยเหลือจากต่างประเทศจะสายเกินไป จึงต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน และจากนี้ไปจะเร่งฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้กลับไปสู่ถิ่นฐานตัวเองต่อไป สำหรับความช่วยเหลือที่พม่าต้องการขณะนี้ คือ ทีมแพทย์ พยาบาล รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่ารู้สึกเสียใจที่บางประเทศเข้าใจว่าสิ่งของที่ส่งมาช่วยเหลือไปไม่ถึงมือประชาชน โดยยืนยันว่าสิ่งของที่ได้รับบริจาค ทางการพม่าได้ส่งมอบให้ประชาชนและขอบคุณนายกรัฐมนตรีไทย ที่จะถ่ายทอดในสิ่งที่พบและเห็นในวันนี้ไปยังประชาคมโลกด้วย
ขณะที่นายกรัฐมนตรีจะแจ้งให้คณะทูตได้เข้าใจถึงขั้นตอนและการให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวพม่า โดยเฉพาะนาย บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ว่าพม่าช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งไทยจะสนับสนุนทีมแพทย์ พยาบาล 20 ทีม และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามโรคติดต่ออีก 20 ทีม รวมทั้งเครื่องไถนา เครื่องสูบน้ำ เรือไฟเบอร์กลาสขนาดเล็กตามที่พม่าต้องการ โดยจะดำเนินการภายใน 3 - 4 วัน ส่งผ่านไปทางจังหวัดตาก รวมทั้งโทรศัพท์ที่ใช้ระบบดาวเทียม 100 เครื่อง
ในโอกาสนี้ พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าได้พานายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมศูนย์นอร์ทตะกง เพื่อให้เห็นว่าประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างไร รวมทั้งสิ่งของพระราชทานได้ส่งมาถึงมือประชาชนชาวพม่าทั้งหมด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามประชาชนชาวพม่าด้วยความห่วงใยถึงความเป็นอยู่ และได้บอกว่ารัฐบาลไทยจะส่งความช่วยเหลือมาให้อีก
ต่อมาเวลา 18.50 น. วันเดียวกัน ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเดินทางกลับจากสหภาพพม่า ว่า ได้เดินทางไปทำหน้าที่ตามที่นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ขอร้องให้ไปเจรจากับสหภาพพม่า เพื่อให้เปิดรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลน Nargis ที่พัดถล่มพม่าเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะกลัวว่า เหตุการณ์ร้ายแรง มีคนตาย มีคนไม่มีที่อยู่ มีคนไม่ควรตายจะต้องตาย และอยากเสนอความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะต่างประเทศคิดว่าพม่าดูแลต่อไปไม่ได้
โดยนายกรัฐมนตรีได้คุยกับพลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งพลเอกเต็ง เส่ง ได้กางแผนที่ให้ดูและได้แสดงให้เห็นว่าดำเนินการอย่างไร พร้อมยืนยันว่าพม่ามีประชากรเกือบ 60 ล้านคน มีทุกอย่างเหมือนประเทศอื่น มีรัฐบาล มีประชาชน มีภาคเอกชน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เขาไม่ได้คาดคิด และนึกไม่ถึงว่าจะเป็นถึงขนาดนี้ หลักฐานที่ได้เห็นคือต้นไม้ใหญ่ขนาด 2 คนโอบถอนรากขึ้นมา รวมทั้งหลังคาในเมืองย่างกุ้งร้อยละ 70 เสียหายหมด แต่เขาใช้เวลา 10 วันซ่อมแซมหลังคาเป็นที่เรียบร้อย และเก็บซากต้นไม้ใหญ่ที่ล้มออกจากถนนเพื่อให้รถสัญจรไปมาได้สะดวก 7 วันหลังเกิดเหตุน้ำประปา ไฟฟ้า สามารถใช้งานได้ และสนามบินเปิดให้บริการ ทั้งนี้ พม่ายืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วน โดยใช้ทหาร 4 กองพลลงไป วิธีการคือช่วยผู้คนที่โดนขอบล่าง ๆ เอาขึ้นมาตรงกลางเขาเรียกว่าเป็นที่พักกลางทาง คือเอาจากตรงริมและจากในน้ำจากเรือขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาส่งที่ศูนย์กลาง และขนด้วยรถยนต์เข้ามาในศูนย์ด้านหลัง ซึ่งมีศูนย์ใหญ่ 3 ศูนย์ ขณะนี้มีศูนย์ทั้งหมด 600 กว่าศูนย์ ๆ ละ 1,000 คน มีประชาชนประมาณ 600,000 คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยให้เข้าไปพักที่วัด โรงเรียน หลังจากที่ทำเต็นท์แล้วก็ให้ประชาชนย้ายเข้าไปอยู่ ส่วนตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงนั้น มีผู้เสียชีวิต 31,000 ราย สูญหาย 29,000 ราย เฉพาะในส่วนของกรุงย่างกุ้งมีผู้เสียชีวิต 1,191 ราย
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ทางพม่ายังเปิดให้ดูสิ่งของบริจาคต่าง ๆ ที่มีการกล่าหาว่ามีการยักยอก ว่า ทุกอย่างยังอยู่หมด รวมไปถึงของพระราชทานต่างๆ นอกจากนี้ ทางพม่ายังพาไปดูคนที่อยู่ตามเต็นท์ต่างๆ ซึ่งได้พูดกันในฐานะเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน เขาบอกว่า มี 27 ประเทศที่ส่งของมาช่วย รวมทั้งต้องการจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเพราะคิดว่าพม่าจะเกิดโรคระบาดและขาดแคลนอาหาร แต่พม่ายืนยันว่า เขายังมีภาคเอกชน ซึ่งประชากรของเขาเกือบ 60 ล้านคนก็รักบ้านเมืองของเขาเหมือนกัน มีรัฐมนตรีที่แบ่งกันลงไปดูแลประชาชน และแน่ใจว่ายังสามารถแก้ปัญหาได้ ยังไม่มีโรคระบาด ไม่มีการอดอาหาร และไม่ต้องการให้ใครไปยุ่งไปสั่งสอน แต่ใครจะช่วยเขา ๆ ยินดี จึงบอกไปว่า ถ้าแต่ละประเทศอยากจะส่งคนไปเยี่ยมดูก็น่าจะเชิญชวน พม่าบอกว่าจะรับไว้พิจารณา สิ่งที่พม่าอยากได้ตอนนี้คือ เครื่องสูบน้ำเล็ก ๆ สำหรับเตรียมการรองรับน้ำจืด เครื่องไถนาเพื่อเพาะปลูก ตะปู สังกะสี สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม ทางพม่ากระซิบว่า อยากได้หมอและพยาบาล ก็บอกว่า ไทยได้เตรียมเอาไว้แล้ว เป็นทีมแพทย์ 20 ทีม และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามโรคติดต่ออีก 20 ทีม ซึ่งพม่ายินดีรับที่จะเอาไปช่วยกันในฐานะเพื่อบ้านใกล้เคียง แต่ตนไม่อยากแถลงให้คนต่างชาติรู้ว่าคณะของไทยได้เข้าไปช่วย เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของประเทศไทย นอกจากนั้นแล้วเขาไม่ต้องการ ซึ่งเราจะส่งทีมของไทยไปโดยเร็วที่สุด ต่อข้อถามว่า สรุปแล้วพม่ายังต้องการแค่สิ่งของแต่ไม่เอาคนเข้าไปใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนที่เข้าก็ไปได้ พม่าจะออกวีซ่าให้ แต่ถ้ายกคณะกันไปพม่าบอกว่าไม่ต้อง ซึ่งต่างชาติถ้าขอมาพม่าจะพิจารณาให้
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ เมื่อเวลา 11.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ณ โรงแรมเซโดนา กรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า
โดย พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า กล่าวขอบคุณในนามรัฐบาลและตัวแทนประชาชนชาวพม่า ที่ประเทศไทยให้การช่วยเหลือเป็นประเทศแรกหลังเกิดเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีสในพม่า โดยเฉพาะสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้ทางการพม่ามีกำลังใจต่อสู้และให้การช่วยเหลือประชาชนชาวพม่าต่อไป ทั้งนี้ สิ่งแรกที่รัฐบาลพม่าดำเนินการคือ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้ และให้การช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ในที่ปลอดภัยด้วยกองกำลังทหาร 4,000 นาย และประชาชน เพราะหากรอความช่วยเหลือจากต่างประเทศจะสายเกินไป จึงต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน และจากนี้ไปจะเร่งฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้กลับไปสู่ถิ่นฐานตัวเองต่อไป สำหรับความช่วยเหลือที่พม่าต้องการขณะนี้ คือ ทีมแพทย์ พยาบาล รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่ารู้สึกเสียใจที่บางประเทศเข้าใจว่าสิ่งของที่ส่งมาช่วยเหลือไปไม่ถึงมือประชาชน โดยยืนยันว่าสิ่งของที่ได้รับบริจาค ทางการพม่าได้ส่งมอบให้ประชาชนและขอบคุณนายกรัฐมนตรีไทย ที่จะถ่ายทอดในสิ่งที่พบและเห็นในวันนี้ไปยังประชาคมโลกด้วย
ขณะที่นายกรัฐมนตรีจะแจ้งให้คณะทูตได้เข้าใจถึงขั้นตอนและการให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวพม่า โดยเฉพาะนาย บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ว่าพม่าช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งไทยจะสนับสนุนทีมแพทย์ พยาบาล 20 ทีม และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามโรคติดต่ออีก 20 ทีม รวมทั้งเครื่องไถนา เครื่องสูบน้ำ เรือไฟเบอร์กลาสขนาดเล็กตามที่พม่าต้องการ โดยจะดำเนินการภายใน 3 - 4 วัน ส่งผ่านไปทางจังหวัดตาก รวมทั้งโทรศัพท์ที่ใช้ระบบดาวเทียม 100 เครื่อง
ในโอกาสนี้ พลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าได้พานายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมศูนย์นอร์ทตะกง เพื่อให้เห็นว่าประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างไร รวมทั้งสิ่งของพระราชทานได้ส่งมาถึงมือประชาชนชาวพม่าทั้งหมด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามประชาชนชาวพม่าด้วยความห่วงใยถึงความเป็นอยู่ และได้บอกว่ารัฐบาลไทยจะส่งความช่วยเหลือมาให้อีก
ต่อมาเวลา 18.50 น. วันเดียวกัน ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเดินทางกลับจากสหภาพพม่า ว่า ได้เดินทางไปทำหน้าที่ตามที่นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ขอร้องให้ไปเจรจากับสหภาพพม่า เพื่อให้เปิดรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลน Nargis ที่พัดถล่มพม่าเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะกลัวว่า เหตุการณ์ร้ายแรง มีคนตาย มีคนไม่มีที่อยู่ มีคนไม่ควรตายจะต้องตาย และอยากเสนอความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะต่างประเทศคิดว่าพม่าดูแลต่อไปไม่ได้
โดยนายกรัฐมนตรีได้คุยกับพลเอกเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งพลเอกเต็ง เส่ง ได้กางแผนที่ให้ดูและได้แสดงให้เห็นว่าดำเนินการอย่างไร พร้อมยืนยันว่าพม่ามีประชากรเกือบ 60 ล้านคน มีทุกอย่างเหมือนประเทศอื่น มีรัฐบาล มีประชาชน มีภาคเอกชน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เขาไม่ได้คาดคิด และนึกไม่ถึงว่าจะเป็นถึงขนาดนี้ หลักฐานที่ได้เห็นคือต้นไม้ใหญ่ขนาด 2 คนโอบถอนรากขึ้นมา รวมทั้งหลังคาในเมืองย่างกุ้งร้อยละ 70 เสียหายหมด แต่เขาใช้เวลา 10 วันซ่อมแซมหลังคาเป็นที่เรียบร้อย และเก็บซากต้นไม้ใหญ่ที่ล้มออกจากถนนเพื่อให้รถสัญจรไปมาได้สะดวก 7 วันหลังเกิดเหตุน้ำประปา ไฟฟ้า สามารถใช้งานได้ และสนามบินเปิดให้บริการ ทั้งนี้ พม่ายืนยันว่าได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วน โดยใช้ทหาร 4 กองพลลงไป วิธีการคือช่วยผู้คนที่โดนขอบล่าง ๆ เอาขึ้นมาตรงกลางเขาเรียกว่าเป็นที่พักกลางทาง คือเอาจากตรงริมและจากในน้ำจากเรือขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาส่งที่ศูนย์กลาง และขนด้วยรถยนต์เข้ามาในศูนย์ด้านหลัง ซึ่งมีศูนย์ใหญ่ 3 ศูนย์ ขณะนี้มีศูนย์ทั้งหมด 600 กว่าศูนย์ ๆ ละ 1,000 คน มีประชาชนประมาณ 600,000 คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยให้เข้าไปพักที่วัด โรงเรียน หลังจากที่ทำเต็นท์แล้วก็ให้ประชาชนย้ายเข้าไปอยู่ ส่วนตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงนั้น มีผู้เสียชีวิต 31,000 ราย สูญหาย 29,000 ราย เฉพาะในส่วนของกรุงย่างกุ้งมีผู้เสียชีวิต 1,191 ราย
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ทางพม่ายังเปิดให้ดูสิ่งของบริจาคต่าง ๆ ที่มีการกล่าหาว่ามีการยักยอก ว่า ทุกอย่างยังอยู่หมด รวมไปถึงของพระราชทานต่างๆ นอกจากนี้ ทางพม่ายังพาไปดูคนที่อยู่ตามเต็นท์ต่างๆ ซึ่งได้พูดกันในฐานะเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน เขาบอกว่า มี 27 ประเทศที่ส่งของมาช่วย รวมทั้งต้องการจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเพราะคิดว่าพม่าจะเกิดโรคระบาดและขาดแคลนอาหาร แต่พม่ายืนยันว่า เขายังมีภาคเอกชน ซึ่งประชากรของเขาเกือบ 60 ล้านคนก็รักบ้านเมืองของเขาเหมือนกัน มีรัฐมนตรีที่แบ่งกันลงไปดูแลประชาชน และแน่ใจว่ายังสามารถแก้ปัญหาได้ ยังไม่มีโรคระบาด ไม่มีการอดอาหาร และไม่ต้องการให้ใครไปยุ่งไปสั่งสอน แต่ใครจะช่วยเขา ๆ ยินดี จึงบอกไปว่า ถ้าแต่ละประเทศอยากจะส่งคนไปเยี่ยมดูก็น่าจะเชิญชวน พม่าบอกว่าจะรับไว้พิจารณา สิ่งที่พม่าอยากได้ตอนนี้คือ เครื่องสูบน้ำเล็ก ๆ สำหรับเตรียมการรองรับน้ำจืด เครื่องไถนาเพื่อเพาะปลูก ตะปู สังกะสี สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม ทางพม่ากระซิบว่า อยากได้หมอและพยาบาล ก็บอกว่า ไทยได้เตรียมเอาไว้แล้ว เป็นทีมแพทย์ 20 ทีม และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามโรคติดต่ออีก 20 ทีม ซึ่งพม่ายินดีรับที่จะเอาไปช่วยกันในฐานะเพื่อบ้านใกล้เคียง แต่ตนไม่อยากแถลงให้คนต่างชาติรู้ว่าคณะของไทยได้เข้าไปช่วย เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของประเทศไทย นอกจากนั้นแล้วเขาไม่ต้องการ ซึ่งเราจะส่งทีมของไทยไปโดยเร็วที่สุด ต่อข้อถามว่า สรุปแล้วพม่ายังต้องการแค่สิ่งของแต่ไม่เอาคนเข้าไปใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนที่เข้าก็ไปได้ พม่าจะออกวีซ่าให้ แต่ถ้ายกคณะกันไปพม่าบอกว่าไม่ต้อง ซึ่งต่างชาติถ้าขอมาพม่าจะพิจารณาให้
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--