นายกรัฐมนตรีชี้แจงไม่เคยพูดที่ไหนว่าจะยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ แต่เมื่อมีโอกาสก็ควรจะให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ
เมื่อเวลา 10.00 น.ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า มีความประหลาดใจ เพราะไม่เคยไปพูดที่ไหนเลยว่าจะยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ สื่อมวลชนไปคิดและเขียนกันเอง จากนั้นก็มารอให้นายกรัฐมนตรีปฎิเสธ ซึ่งเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) หลังจากกลับจากเยือนประเทศมาเลเซียก็ปฏิเสธโดยพูดอย่างชัดเจน แต่ข่าวกลับไปเสนอว่าไม่เห็นนายกรัฐมนตรีปฏิเสธข่าวในเรื่องดังกล่าว ประหลาดจริงๆ ทั้งนี้ ได้พูดชัดเจนว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทเฉพาะกาลว่าจะใช้อย่างไรเมื่อไร ยกตัวอย่างเช่น มีผลบังคับใช้หลังจากที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ อย่างกรณีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 พอทำเสร็จ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลาออก นายชวน หลีกภัย ก็เข้ามาบริหารอีก 3 ปี กว่าจะได้ใช้ก็ในปี 2544 เพราะเพิ่งมีการเลือกตั้งใหม่ ทุกอย่างอยู่ที่บทเฉพาะกาล อยู่ดีๆ ก็มาบอกว่านายกรัฐมนตรีประกาศอะไร เพราะไปมาเลเซียก็ไม่ได้พูดสักคำว่าจะยุบสภา ข่าวหนังสือพิมพ์เช้าวันนี้ยังระบุว่านายกรัฐมนตรีจะยุบสภาและกำหนดเสร็จว่าในเดือนตุลาคม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันใช่หรือว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะไม่มีการยุบสภา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้อธิบายความให้ฟังแล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญก็ทำไป แต่จะมีบทเฉพาะกาลออกมาว่าจะใช้เมื่อไร ส่วนมากจะบอกใช้เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ก็อธิบายให้ฟังว่าคราวที่แล้ว 4 ปีถึงจะได้ใช้ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมสื่อจึงเขียนข่าวกันอย่างนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่จนครบ 4 ปี ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สื่อจะแปลอย่างไรก็สุดแล้วแต่ เพราะใครจะไปรู้วันข้างหน้าได้ ส่วนเป็นห่วงหรือไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนแรงขึ้นมาอีก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นว่าเรื่องนี้จะไม่ร้อนแรงจึงได้ขอแก้ไข
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่านายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินบอกให้สมาชิกพรรคจับตาดูว่าอาจจะมีการก่อเหตุวุ่นวายก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสุวิทย์ฯ พูดอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะมาพูดอย่างนั้นทำไม ใครจะมาทำปฏิวัติเรื่องอะไร ไม่เห็นจะมีเหตุผลอะไรเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะหลังดูเหมือนนายสุวิทย์ฯ จะแปลกไปจากเดิมมีการพูดคุยกันบ้างหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้คุยกัน แล้วทำไมเป็นอย่างนี้ก็สัญญาว่าจะกลับมาแก้ มีโอกาสก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นอะไร จะทำให้เกิดอะไรขึ้นมาหรือ ทำไมคนถึงต้องออกมาต่อต้าน ตอนเลือกตั้งก็บอกว่าจะแก้ไข แต่พอวันนี้จะแก้ไขกลับออกมาต่อต้าน ก็ไม่รู้ว่าคนต่อต้านต้องการอะไร เป็นใครเป็นพวกไหนและต้องการอะไร คนที่ได้รับเลือกตั้งมาด้วยเสียงข้างมากจะแก้ไขเพราะตอนหาเสียงบอกว่าจะแก้ วันนี้สมควรจะต้องแก้เมื่อมีโอกาสก็ต้องแก้เสียก่อน
ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเย็นวันนี้ (25 เม.ย.) นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากถามว่าชุมนุมกันกี่คน แล้วถามว่าประเทศไทยมีคนอยู่เท่าไร 63 ล้านคนใช่หรือไม่ พวกที่จะมาชุมนุมคัดค้านมีกี่หมื่นคน อ้างว่ามีเครือข่ายอยู่ในต่างจังหวัดก็อยากถามว่าอ้างได้ฝ่ายเดียวและต้องเชื่อเลยหรือ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ามั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชาชนเลือกมา รัฐธรรมนูญก็บอกว่าให้คนที่มาจากการเลือกมาแก้ไข ทำถูกต้องตามวิธีการทุกอย่าง สื่อพูดกันเอง ทำข่าวประโคมข่าวกันเองทั้งนั้น สื่อลองหยุดไม่เสนอข่าวแก้รัฐธรรมนูญสักเดือนก็จบเรื่อง ก็ไม่อยากพูดเดี๋ยวจะหาว่าว่าสื่ออีก สื่อเขียนกันเอง ปลุกกันเองแล้วก็มาถามล่อนายกฯ ไม่ได้กินหรอก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ระบุว่าในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จะมีการเปิดเผยเรื่องเส้นทางการเงิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บอกไปว่าถ้ามีการชุมนุมก็ต้องอธิบายความให้ได้ว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น มาจากไหน อย่างไรต้องมีเหตุผล และบอกด้วยว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง ก็แปลว่าไม่ต้องการที่จะไปยุ่งกับเขา เรื่องมีแค่นั้นเอง สื่อก็กระเหี้ยนกระหือรืออยากทำข่าวให้เอิกเกริก มีเรื่องเท่าไรก็ยิ่งเสนอข่าวเท่านั้น สื่อกระเหี้ยนกระหือรืออยากให้เป็นข่าว ก็ไม่รู้อะไรกันนักหนา ลองไม่เสนอข่าวรัฐธรรมนูญสัก 3 วันเรื่องก็เงียบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเปิดเผยเส้นทางทางการเงินของกลุ่มพันธมิตรฯ ในตอนนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ และคิดว่ายังไม่ถึงโอกาสที่เหมาะสม ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นใครมาจากไหน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณสื่อที่ถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นใครมาจากไหน ก็อยากถามว่าใครเลือกเข้ามา เมื่อก่อนไม่เห็นมี แต่ก่อนมีสหประชาชาติ แต่คงอธิบายไม่ได้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มาจากไหน เพราะสื่อเป็นคนตั้งคำถาม และไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะอธิบาย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย บอกว่าเดินทางไปประเทศจีน ต้องรอนายบรรหารฯ กลับมาก่อน เรื่องนี้ถือเป็นเกียรติยศที่คนเป็นหัวหน้าพรรคควรจะได้รับรู้ก่อนเท่านั้น เมื่อแต่ละพรรคไปหารือกันแล้วก็มาให้หัวหน้าพรรคดูและมาคุยกัน
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
เมื่อเวลา 10.00 น.ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า มีความประหลาดใจ เพราะไม่เคยไปพูดที่ไหนเลยว่าจะยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ สื่อมวลชนไปคิดและเขียนกันเอง จากนั้นก็มารอให้นายกรัฐมนตรีปฎิเสธ ซึ่งเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) หลังจากกลับจากเยือนประเทศมาเลเซียก็ปฏิเสธโดยพูดอย่างชัดเจน แต่ข่าวกลับไปเสนอว่าไม่เห็นนายกรัฐมนตรีปฏิเสธข่าวในเรื่องดังกล่าว ประหลาดจริงๆ ทั้งนี้ ได้พูดชัดเจนว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทเฉพาะกาลว่าจะใช้อย่างไรเมื่อไร ยกตัวอย่างเช่น มีผลบังคับใช้หลังจากที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ อย่างกรณีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 พอทำเสร็จ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลาออก นายชวน หลีกภัย ก็เข้ามาบริหารอีก 3 ปี กว่าจะได้ใช้ก็ในปี 2544 เพราะเพิ่งมีการเลือกตั้งใหม่ ทุกอย่างอยู่ที่บทเฉพาะกาล อยู่ดีๆ ก็มาบอกว่านายกรัฐมนตรีประกาศอะไร เพราะไปมาเลเซียก็ไม่ได้พูดสักคำว่าจะยุบสภา ข่าวหนังสือพิมพ์เช้าวันนี้ยังระบุว่านายกรัฐมนตรีจะยุบสภาและกำหนดเสร็จว่าในเดือนตุลาคม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันใช่หรือว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะไม่มีการยุบสภา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้อธิบายความให้ฟังแล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญก็ทำไป แต่จะมีบทเฉพาะกาลออกมาว่าจะใช้เมื่อไร ส่วนมากจะบอกใช้เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ก็อธิบายให้ฟังว่าคราวที่แล้ว 4 ปีถึงจะได้ใช้ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมสื่อจึงเขียนข่าวกันอย่างนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่จนครบ 4 ปี ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สื่อจะแปลอย่างไรก็สุดแล้วแต่ เพราะใครจะไปรู้วันข้างหน้าได้ ส่วนเป็นห่วงหรือไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนแรงขึ้นมาอีก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นว่าเรื่องนี้จะไม่ร้อนแรงจึงได้ขอแก้ไข
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่านายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินบอกให้สมาชิกพรรคจับตาดูว่าอาจจะมีการก่อเหตุวุ่นวายก่อนหน้าที่จะมีการปฏิวัติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสุวิทย์ฯ พูดอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะมาพูดอย่างนั้นทำไม ใครจะมาทำปฏิวัติเรื่องอะไร ไม่เห็นจะมีเหตุผลอะไรเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะหลังดูเหมือนนายสุวิทย์ฯ จะแปลกไปจากเดิมมีการพูดคุยกันบ้างหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้คุยกัน แล้วทำไมเป็นอย่างนี้ก็สัญญาว่าจะกลับมาแก้ มีโอกาสก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นอะไร จะทำให้เกิดอะไรขึ้นมาหรือ ทำไมคนถึงต้องออกมาต่อต้าน ตอนเลือกตั้งก็บอกว่าจะแก้ไข แต่พอวันนี้จะแก้ไขกลับออกมาต่อต้าน ก็ไม่รู้ว่าคนต่อต้านต้องการอะไร เป็นใครเป็นพวกไหนและต้องการอะไร คนที่ได้รับเลือกตั้งมาด้วยเสียงข้างมากจะแก้ไขเพราะตอนหาเสียงบอกว่าจะแก้ วันนี้สมควรจะต้องแก้เมื่อมีโอกาสก็ต้องแก้เสียก่อน
ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนัดชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเย็นวันนี้ (25 เม.ย.) นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากถามว่าชุมนุมกันกี่คน แล้วถามว่าประเทศไทยมีคนอยู่เท่าไร 63 ล้านคนใช่หรือไม่ พวกที่จะมาชุมนุมคัดค้านมีกี่หมื่นคน อ้างว่ามีเครือข่ายอยู่ในต่างจังหวัดก็อยากถามว่าอ้างได้ฝ่ายเดียวและต้องเชื่อเลยหรือ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ามั่นใจว่าเสียงส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชาชนเลือกมา รัฐธรรมนูญก็บอกว่าให้คนที่มาจากการเลือกมาแก้ไข ทำถูกต้องตามวิธีการทุกอย่าง สื่อพูดกันเอง ทำข่าวประโคมข่าวกันเองทั้งนั้น สื่อลองหยุดไม่เสนอข่าวแก้รัฐธรรมนูญสักเดือนก็จบเรื่อง ก็ไม่อยากพูดเดี๋ยวจะหาว่าว่าสื่ออีก สื่อเขียนกันเอง ปลุกกันเองแล้วก็มาถามล่อนายกฯ ไม่ได้กินหรอก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ระบุว่าในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จะมีการเปิดเผยเรื่องเส้นทางการเงิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บอกไปว่าถ้ามีการชุมนุมก็ต้องอธิบายความให้ได้ว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น มาจากไหน อย่างไรต้องมีเหตุผล และบอกด้วยว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง ก็แปลว่าไม่ต้องการที่จะไปยุ่งกับเขา เรื่องมีแค่นั้นเอง สื่อก็กระเหี้ยนกระหือรืออยากทำข่าวให้เอิกเกริก มีเรื่องเท่าไรก็ยิ่งเสนอข่าวเท่านั้น สื่อกระเหี้ยนกระหือรืออยากให้เป็นข่าว ก็ไม่รู้อะไรกันนักหนา ลองไม่เสนอข่าวรัฐธรรมนูญสัก 3 วันเรื่องก็เงียบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเปิดเผยเส้นทางทางการเงินของกลุ่มพันธมิตรฯ ในตอนนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ และคิดว่ายังไม่ถึงโอกาสที่เหมาะสม ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นใครมาจากไหน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณสื่อที่ถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เป็นใครมาจากไหน ก็อยากถามว่าใครเลือกเข้ามา เมื่อก่อนไม่เห็นมี แต่ก่อนมีสหประชาชาติ แต่คงอธิบายไม่ได้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มาจากไหน เพราะสื่อเป็นคนตั้งคำถาม และไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่จะอธิบาย
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย บอกว่าเดินทางไปประเทศจีน ต้องรอนายบรรหารฯ กลับมาก่อน เรื่องนี้ถือเป็นเกียรติยศที่คนเป็นหัวหน้าพรรคควรจะได้รับรู้ก่อนเท่านั้น เมื่อแต่ละพรรคไปหารือกันแล้วก็มาให้หัวหน้าพรรคดูและมาคุยกัน
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--