ครม.เห็นชอบร่างนโยบายรัฐบาล เพิ่มประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อก่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.20 น. ณ อาคารท่าอากาศยานดอนเมือง นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
เรื่องที่ 1 หลังจากคณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่แล้ว ที่ประชุม ครม. ได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าจะดำเนินการอย่างไร ในส่วนทรัพย์สินของตนที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ ทรัพย์สินของคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่ในการครอบครองของบุคคลอื่นด้วย ซึ่งต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง คือ ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2551
นอกจากนี้ ได้มีการชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 โดยกฎหมายห้ามไว้ว่ารัฐมนตรีจะถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ของนิติบุคคลหรือหุ้นส่วนใด ๆ ไม่ได้ หากเกินร้อยละ 5 จะต้องมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543
เรื่องที่ 2 การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้อธิบายถึงสิทธิหน้าที่ การประชุมคณะรัฐมนตรี อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อำนาจตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำหน้าที่แทน ตลอดจนการกระทำต้องห้ามที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อการเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีทุกคน
เรื่องที่ 3 คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ที่จะเข้าประชุมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อที่จะตอบกระทู้ถาม รับทราบญัตติต่าง ๆ ตลอดจนเสนอกฎหมาย ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ และสมัยประชุมสามัญทั่วไป โดยขอให้รัฐมนตรีทุกคนเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ในวันพุธและวันพฤหัสบดีของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และในวันศุกร์ของการประชุมวุฒิสภา
เรื่องที่ 4 การจัดทำร่างนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ จัดทำเขียนนโยบายครั้งแรก ซึ่งได้ทำเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน ขั้นตอนที่ 2 การตรวจสอบ แก้ไข และขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบครั้งสุดท้ายก่อนที่จะส่งให้จัดทำ เพื่อเสนอรัฐสภาต่อไป วันนี้ถือเป็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยนโยบายทั้งหมดมี 29 หน้า มี 3 ภาคผนวก โดยภาคผนวกแรก คือ กฎหมายที่จำเป็นต้องตราตามนโยบาย ภาคผนวกที่สองเป็นกฎหมายที่ต้องจัดทำตามรัฐธรรมนูญ ภาคผนวกที่สามเป็นรายละเอียดว่าได้ทำครบถ้วนตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทุกประเด็นทุกมาตราแล้ว ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขบางถ้อยคำ
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดหลายครั้ง ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่บนพื้นฐานการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำและแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน นี่คือ หลักสำคัญที่นายกรัฐมนตรีพูดมาตลอด และวันนี้ท่านได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใน ครม. โดยให้ทำเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายว่า ครม.จะสนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมืองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง และยินดีที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 291 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมมาตรา 291 นั้น การเสนอแก้ไขเป็นของรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และประชาชน 5 หมื่นคน ซึ่งแก้ไขได้เฉพาะบางประเด็น บางมาตราเท่านั้น และการอนุมัติก็เป็นอำนาจของรัฐสภา
”หากได้มีการแก้ไขในคราวนี้ ก็จะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อที่จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขอย่างแท้จริง เช่น อาจจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้มาจากทุกกลุ่มอาชีพที่เป็นกลาง ที่มีความรู้ ความสามารถ อย่างแท้จริง เข้ามาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้มาก แก้น้อย แก้อย่างไร ก็สุดแท้แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้าไปในนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ในการแถลงนโยบายได้ประสานกันแล้วว่า จะแถลงใน 2 วันเป็นเบื้องต้น คือ วันอังคารที่ 7 ตุลาคม และวันพุธที่ 8 ตุลาคม เว้นแต่การอภิปรายไม่แล้วเสร็จ อาจจะขยายเวลาได้อีก 1 วัน สุดแท้แต่การพิจารณาของสภา” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ (30 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.20 น. ณ อาคารท่าอากาศยานดอนเมือง นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
เรื่องที่ 1 หลังจากคณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่แล้ว ที่ประชุม ครม. ได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าจะดำเนินการอย่างไร ในส่วนทรัพย์สินของตนที่อยู่ในประเทศและอยู่ต่างประเทศ ทรัพย์สินของคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่ในการครอบครองของบุคคลอื่นด้วย ซึ่งต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง คือ ภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2551
นอกจากนี้ ได้มีการชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 โดยกฎหมายห้ามไว้ว่ารัฐมนตรีจะถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ของนิติบุคคลหรือหุ้นส่วนใด ๆ ไม่ได้ หากเกินร้อยละ 5 จะต้องมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543
เรื่องที่ 2 การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้อธิบายถึงสิทธิหน้าที่ การประชุมคณะรัฐมนตรี อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อำนาจตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำหน้าที่แทน ตลอดจนการกระทำต้องห้ามที่จะเกิดความเสี่ยงต่อการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อการเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีทุกคน
เรื่องที่ 3 คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ที่จะเข้าประชุมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อที่จะตอบกระทู้ถาม รับทราบญัตติต่าง ๆ ตลอดจนเสนอกฎหมาย ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ และสมัยประชุมสามัญทั่วไป โดยขอให้รัฐมนตรีทุกคนเข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน ในวันพุธและวันพฤหัสบดีของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และในวันศุกร์ของการประชุมวุฒิสภา
เรื่องที่ 4 การจัดทำร่างนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ จัดทำเขียนนโยบายครั้งแรก ซึ่งได้ทำเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน ขั้นตอนที่ 2 การตรวจสอบ แก้ไข และขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบครั้งสุดท้ายก่อนที่จะส่งให้จัดทำ เพื่อเสนอรัฐสภาต่อไป วันนี้ถือเป็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยนโยบายทั้งหมดมี 29 หน้า มี 3 ภาคผนวก โดยภาคผนวกแรก คือ กฎหมายที่จำเป็นต้องตราตามนโยบาย ภาคผนวกที่สองเป็นกฎหมายที่ต้องจัดทำตามรัฐธรรมนูญ ภาคผนวกที่สามเป็นรายละเอียดว่าได้ทำครบถ้วนตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทุกประเด็นทุกมาตราแล้ว ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขบางถ้อยคำ
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดหลายครั้ง ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่บนพื้นฐานการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำและแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการรับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน นี่คือ หลักสำคัญที่นายกรัฐมนตรีพูดมาตลอด และวันนี้ท่านได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาใน ครม. โดยให้ทำเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายว่า ครม.จะสนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมืองภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง และยินดีที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 291 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมมาตรา 291 นั้น การเสนอแก้ไขเป็นของรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และประชาชน 5 หมื่นคน ซึ่งแก้ไขได้เฉพาะบางประเด็น บางมาตราเท่านั้น และการอนุมัติก็เป็นอำนาจของรัฐสภา
”หากได้มีการแก้ไขในคราวนี้ ก็จะแก้ไขมาตรา 291 เพื่อที่จะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขอย่างแท้จริง เช่น อาจจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้มาจากทุกกลุ่มอาชีพที่เป็นกลาง ที่มีความรู้ ความสามารถ อย่างแท้จริง เข้ามาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้มาก แก้น้อย แก้อย่างไร ก็สุดแท้แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญ นี่คือสิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้าไปในนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ในการแถลงนโยบายได้ประสานกันแล้วว่า จะแถลงใน 2 วันเป็นเบื้องต้น คือ วันอังคารที่ 7 ตุลาคม และวันพุธที่ 8 ตุลาคม เว้นแต่การอภิปรายไม่แล้วเสร็จ อาจจะขยายเวลาได้อีก 1 วัน สุดแท้แต่การพิจารณาของสภา” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--