นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ครั้งที่ 1 / 2551
วันนี้ เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารกลาง ท่าอากาศยานดอนเมือง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ครั้งที่ 1 / 2551 โดยมีนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พันตำรวจโท บรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางสาวศุภรัตน์ นาคบุญนำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม ในเวลา 17.20 น. รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2551 / 2552 ซึ่งรัฐบาล โดย กขช. ยืนยันว่าจะรับจำนำข้าวและจะให้มีการรับจำนำโดยเร็ว โดยภาครัฐสามารถที่จะดำเนินการรับจำนำได้ตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้อย่างชัดเจน มีเป้าหมายการรับจำนำในเบื้องต้นกำหนดไว้ 8,000,000 ตัน สำหรับขั้นตอนการดำเนินการคือจะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้า เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทั้งเรื่อง ราคา ปริมาณ วงเงินค่าใช้จ่าย ซึ่งในระหว่างนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะไปจัดทำการจดแจ้งใบรับรองเกษตรกรให้ชัดเจนทั่วทุกจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่การเกษตรที่จะต้องรับจำนำ ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะทำแผนการระบายข้าวจำหน่ายไปยังต่างประเทศ เพื่อให้ข้าวที่จะรับจำนำใหม่รวมทั้งข้าวเก่าที่มีอยู่ในสต็อกได้มีการไหลเวียนออกสู่ตลาดอย่างคล่องตัว ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) จะไปเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเตรียมการพื้นที่รับจำนำ การเตรียมความพร้อมของโรงสีต่าง ๆ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าจะให้สิทธิ์แก่เกษตรกรได้ทันทีที่มีความพร้อม โดยคาดว่าจะมีความพร้อมดำเนินการรับจำนำได้ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
สำหรับราคาการรับจำนำข้าวนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความเข้าใจกันทุกฝ่าย ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาราคาการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาล 2551 / 2552 ให้แล้วเสร็จภายใน 2 — 3 วันนี้ ซึ่งคณะกรรมการฯ มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรง และผู้แทนจากหน่วยงานอื่น ซึ่งจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงราคาที่สมควรจะเป็น ภาวะตลาด และต้นทุนของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องขึ้น 4 คณะ คือ 1. คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน 2. คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิต มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน 3. คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ที่จะมีส่วนประกอบของส่วนราชการในจังหวัดครบถ้วน รวมทั้งภาคเอกชนด้วย 4. คณะอนุกรรมการด้านงบประมาณและการเงิน ที่จะมีกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักดูแลโดยตรง
ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องแนวทางการพิจารณาโรงสีที่ถูกตัดสิทธิ์ให้เข้าร่วมโครงการรับจำนำ โดยได้พิจารณาถึงจำนวนของโรงสีที่จะเข้าโครงการรับจำนำข้าวว่ามีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งโรงสีที่อยู่ในเกณฑ์การปฏิบัติเดิมทั้งหมด 89 โรงนั้นมีความผิดหนักเบาแตกต่างกัน กรณีที่มีความผิด เช่น ยักยอก หรือลักขโมย หรือทำให้ข้าวหาย โดยเจตนามีคดีความนี้จะไม่มีการยกเว้นเด็ดขาด ส่วนกรณีที่เป็นการกระทำผิดเล็กน้อยในการส่งมอบข้าว หรือกรณีที่จะชำระค่าข้าวแล้วค่าปรับสูง ทั้ง ๆ ที่มีเงินค่าปรับธรรมดา และมีค่าชำระดอกเบี้ย ในเรื่องนี้ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์รับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรณี ๆ ไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลโดยใช้กลไกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ว่าควรจะสนับสนุน AFET ให้มีบทบาททำให้กลไกการซื้อขายบ่งบอกถึงราคาในอนาคต ประกอบกับช่วงนี้เรื่องของตลาดมีความสำคัญมาก ก็ควรจะสนับสนุนโดยการนำข้าวมาประมูลในตลาด AFET จำนวน 463,920 ตัน มีระยะเวลาการประมูลถึงสิ้นปี 2552 ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ โดยจะเป็นการทยอยประมูลไม่ทำให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อกลไกตลาด รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ และให้ข้อมูลที่แท้จริงเพิ่มเติมแก่เกษตรกรด้วย
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการระบายข้าวในสต็อกว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนการดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายที่ชัดเจนว่า 1. การจำหน่ายข้าวจะต้องจำหน่ายแล้วระบายส่งออกเท่านั้น 2. ในการจำหน่ายสามารถจำหน่ายได้ในลักษณะสู่ภาคเอกชนเพื่อขายพีทูพี หรือการจำหน่ายลักษณะจีทูจีก็ได้
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--