คณะกรรมการเยียวยาฯ กำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday October 17, 2008 17:18 —สำนักโฆษก

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ด้วยการเยียวยาทั้งในรูปตัวเงินและด้านจิตใจ พร้อมตั้งศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายฯ

วันนี้ เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม ครม. ชั้น 4 อาคารผู้โดยวารระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ภายหลังการประชุม นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี แถลงสรุปผลการประชุมดังนี้

ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 238/2551 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2551 แต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบการพิจารณาเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องก่อนและหลัง รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง รายละเอียดต่างๆ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และใกล้ชิดกับเหตุการณ์เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ ตรวจสอบและรับรองบุคคลซึ่งสมควรได้รับการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนประสานงานหรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องหรือใกล้ชิดเหตุการณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการอื่นๆ ในการเยียวยาและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามลำดับ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

จากเหตุการณ์กรณีดังกล่าวเป็นผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 497 คน และเสียชีวิต จำนวน 2 คน โดยขณะนี้ นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล จำนวน 37 คน อยู่ I.C.U. จำนวน 5 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บาดเจ็บยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 11 คน มีผู้สูญเสียอวัยวะ จำนวน 8 คน ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้กำหนดนโยบายในการช่วยเหลือ เพื่อเป็นการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายฯ ดังนี้ 1) เยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม 2) บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข 3) คณะกรรมการจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 และวันที่ 29 สิงหาคม 2551 โดยดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายซึ่งหมายถึง "ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้รับบาดเจ็บที่เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล" โดยการเยียวยาทั้งในรูปตัวเงินและในด้านจิตใจ

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณาความช่วยเหลือโดยเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักเกณฑ์การช่วยเหลือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 22 ตุลาคม 2551 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายฯ ขึ้นที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อ 1) สำรวจรายชื่อผู้ได้รับความเสียหาย (ดำเนินการร่วมกับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศูนย์นเรนทร) และโรงพยาบาลที่รับผู้เสียหายเข้ารักษา) 2) ลงทะเบียนเพื่อติดต่อขอรับความช่วยเหลือ และแจ้งให้ผู้เสียหายมาขอรับความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ให้ผู้ที่ได้รับความเสียหาย นำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาติดต่อขอรับความช่วยเหลือ ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ใบรับรองแพทย์ที่ระบุการบาดเจ็บในกรณีต่างๆ และ 3) พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและหลักฐาน และอนุมัติการจ่ายเงิน นอกจากนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจโดยขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับเสียหาย และจัดส่งข้อมูลของผู้เสียหาย เพื่อกรมส่งเสริมกรมสุขภาพจิตจะได้ส่งทีมไปช่วยเหลือเยียวยา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดกรอบวงเงินเพื่อการช่วยเหลือครั้งนี้ เป็นจำนวนเงิน 50 ล้านบาท จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของงบประมาณปี พ.ศ. 2552 โดยให้คณะกรรมการฯ เสนอหลักเกณฑ์ วิธีการ มาตรการ และงบประมาณในการช่วยเหลือต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อขออนุมัติงบประมาณให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดำเนินงานและเป็นหน่วยงานเบิกจ่าย

--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ