วันนี้ เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการที่รัฐบาลไม่มีการออกประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการพูดคุยกับทุกฝ่ายว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนจะใช้วิจารณญาณของแต่ละคนเอง ซึ่งในการหารือกันได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบในทุกๆ ด้าน จึงมีมติออกมาอย่างที่ทุกคนทราบ ในความตั้งใจของทุกคน คิดว่าอยากจะให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเราอาจจะมองว่ามีความรุนแรงนั้นลดระดับลง และสามารถ แก้ไขปัญหากันได้โดยที่ไม่มีความรุนแรง นั่นคือสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในการที่รัฐบาลไม่ออกประกาศพระราชกำหนดดังกล่าว ได้มีการทำความเข้าใจกันหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ใช่เป็นเรื่องความแตกแยก เราอาจจะมีความคิดเห็นต่างกัน ซึ่งได้พูดคุยกันด้วยเหตุผลและชี้แจง ในการหารือกันเมื่อวานนี้ประธาน คมช.ได้แสดงความคิดเห็นและชี้แจงในส่วนของประธาน คมช.เอง และหลายคนที่เป็นคณะกรรมการก็ได้ชี้แจงเหตุผลในส่วนของแต่ละคน ซึ่งตนเองถือว่ามติที่ออกมานั้นเป็นความเห็นที่ทุกคนเห็นด้วยทั้งหมดแล้ว
“ในเรื่องความแตกแยก ผมได้พูดกับประธาน คมช.ว่า ในส่วนการทำงานของรัฐบาลนั้น เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไป โดยที่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง เราอาจจะระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ และมีการเตรียมความพร้อมที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตัดสินใจว่าจะประกาศหรือไม่ประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉินเท่านั้น แต่คุยกันในเรื่องของการเตรียมการ ที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ต่อข้อถามว่า แสดงว่าฝ่ายความมั่นคงวิตกมากเกินไปใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ได้เป็นเรื่องการวิตกมากเกินไป เป็นความห่วงใยที่ทุกคนมีต่อสถานการณ์ อย่างที่ได้เรียนแล้วว่าการเตรียมการ การเตรียมความพร้อมเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ขัดแย้งนั้นได้ การใช้กฎหมายไม่ได้เป็นสิ่งที่ยาก
ต่อข้อถามว่า วันเลือกตั้งจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะในช่วงที่ก่อรัฐประหารระบุว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี แต่การกำหนดครั้งนี้เท่ากับเกินระยะเวลา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการหารือกันเมื่อวานนี้ได้เชิญทุกฝ่าย ทั้งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทุกคนได้ให้ข้อคิดกันว่าห้วงเวลาที่เหมาะสมควรจะเป็นเมื่อใด เพราะทุกขั้นตอนเราจะต้องให้เวลากับทุก ๆ ฝ่ายให้พอเพียง ซึ่งนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอเองว่าวันที่เหมาะที่สุดคือวันที่ 16 ธันวาคม หรือวันที่ 23 ธันวาคมนี้
ต่อข้อถามว่า ท่าทีของรัฐบาลดูเหมือนจะเปิดกว้างให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ฝ่ายปฏิบัติพยายามที่จะสกัดกั้นการชุมนุม ตรงนี้เป็นการขัดกับแนวนโยบายรัฐบาลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจกันได้ เป็นแนวทางของรัฐบาลที่มอบหมายลงไป ซึ่งในการประชุมทางรักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็เข้าร่วมประชุมด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเข้าใจแนวทางกันทั้งหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจนในวันเลือกตั้งแล้วจะมีการยกเลิกคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องรอสภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังร่างกันอยู่ออกมาก่อน ซึ่งในการหารือที่ผ่านมาได้พูดกันค่อนข้างชัดเจนว่าเวลาที่ทางพรรคการเมืองจะเตรียมการต่าง ๆ นั้นมีพอที่จะดำเนินการ คิดว่าเมื่อถึงเวลาจะมีการประกาศให้พรรคการเมืองสามารถที่จะดำเนินกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ยังไม่มีการพูดถึงว่าจะเป็นช่วงเวลาใด แต่คิดว่าเราสามารถที่จะดำเนินการได้ตั้งแต่ในช่วงที่มีการเตรียมการลงประชามติ ที่มีการพูดกันว่าในช่วงลงประชามติจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนกันยายน เพราะฉะนั้นจะมีเวลาเพียงพอที่พรรคการเมืองจะเตรียมการต่างๆ
ต่อข้อถามว่า แสดงว่าจะมีการผ่อนคลายประกาศ คปค. ในช่วงดังกล่าวใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้หารือกันในส่วนนั้น แต่ได้หารือกันว่าพรรคการเมืองควรจะต้องมีเวลาที่เพียงพอสำหรับเตรียมการเลือกตั้ง การหาเสียง เราจะหาเวลาให้เพียงพอ
ต่อข้อถามว่า เมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้วหากเกิดปัญหาจะแก้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ใช่เป็นเรื่องของตนเอง คิดว่าช่วงเวลาที่มีนั้นเพียงพอ ส่วนการเตรียมการในส่วนต่างๆ คงไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาล โดยส่วนตัวแล้วมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ อยากให้นำสิ่งที่ดี ๆ บรรจุไว้ และช่วยกันร่าง เพราะบางส่วนมองว่าเป็นการร่างที่ไม่ได้มาจากประชาชน วันนี้เราเปิดกว้างก็ขอให้ช่วยกันติและชม เมื่อเดินไปถึงจุดนั้นแล้ว เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่น่าจะเป็นที่ยอมรับมากกว่าที่เราจะไปตั้งป้อมว่าที่ร่างมานี้ไม่ดีตั้งแต่ต้น
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในการที่รัฐบาลไม่ออกประกาศพระราชกำหนดดังกล่าว ได้มีการทำความเข้าใจกันหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ใช่เป็นเรื่องความแตกแยก เราอาจจะมีความคิดเห็นต่างกัน ซึ่งได้พูดคุยกันด้วยเหตุผลและชี้แจง ในการหารือกันเมื่อวานนี้ประธาน คมช.ได้แสดงความคิดเห็นและชี้แจงในส่วนของประธาน คมช.เอง และหลายคนที่เป็นคณะกรรมการก็ได้ชี้แจงเหตุผลในส่วนของแต่ละคน ซึ่งตนเองถือว่ามติที่ออกมานั้นเป็นความเห็นที่ทุกคนเห็นด้วยทั้งหมดแล้ว
“ในเรื่องความแตกแยก ผมได้พูดกับประธาน คมช.ว่า ในส่วนการทำงานของรัฐบาลนั้น เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้มีการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไป โดยที่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรง เราอาจจะระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ และมีการเตรียมความพร้อมที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการตัดสินใจว่าจะประกาศหรือไม่ประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉินเท่านั้น แต่คุยกันในเรื่องของการเตรียมการ ที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ต่อข้อถามว่า แสดงว่าฝ่ายความมั่นคงวิตกมากเกินไปใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ได้เป็นเรื่องการวิตกมากเกินไป เป็นความห่วงใยที่ทุกคนมีต่อสถานการณ์ อย่างที่ได้เรียนแล้วว่าการเตรียมการ การเตรียมความพร้อมเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ขัดแย้งนั้นได้ การใช้กฎหมายไม่ได้เป็นสิ่งที่ยาก
ต่อข้อถามว่า วันเลือกตั้งจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะในช่วงที่ก่อรัฐประหารระบุว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 1 ปี แต่การกำหนดครั้งนี้เท่ากับเกินระยะเวลา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการหารือกันเมื่อวานนี้ได้เชิญทุกฝ่าย ทั้งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทุกคนได้ให้ข้อคิดกันว่าห้วงเวลาที่เหมาะสมควรจะเป็นเมื่อใด เพราะทุกขั้นตอนเราจะต้องให้เวลากับทุก ๆ ฝ่ายให้พอเพียง ซึ่งนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอเองว่าวันที่เหมาะที่สุดคือวันที่ 16 ธันวาคม หรือวันที่ 23 ธันวาคมนี้
ต่อข้อถามว่า ท่าทีของรัฐบาลดูเหมือนจะเปิดกว้างให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ฝ่ายปฏิบัติพยายามที่จะสกัดกั้นการชุมนุม ตรงนี้เป็นการขัดกับแนวนโยบายรัฐบาลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจกันได้ เป็นแนวทางของรัฐบาลที่มอบหมายลงไป ซึ่งในการประชุมทางรักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็เข้าร่วมประชุมด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเข้าใจแนวทางกันทั้งหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจนในวันเลือกตั้งแล้วจะมีการยกเลิกคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องรอสภาร่างรัฐธรรมนูญกำลังร่างกันอยู่ออกมาก่อน ซึ่งในการหารือที่ผ่านมาได้พูดกันค่อนข้างชัดเจนว่าเวลาที่ทางพรรคการเมืองจะเตรียมการต่าง ๆ นั้นมีพอที่จะดำเนินการ คิดว่าเมื่อถึงเวลาจะมีการประกาศให้พรรคการเมืองสามารถที่จะดำเนินกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ยังไม่มีการพูดถึงว่าจะเป็นช่วงเวลาใด แต่คิดว่าเราสามารถที่จะดำเนินการได้ตั้งแต่ในช่วงที่มีการเตรียมการลงประชามติ ที่มีการพูดกันว่าในช่วงลงประชามติจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนกันยายน เพราะฉะนั้นจะมีเวลาเพียงพอที่พรรคการเมืองจะเตรียมการต่างๆ
ต่อข้อถามว่า แสดงว่าจะมีการผ่อนคลายประกาศ คปค. ในช่วงดังกล่าวใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้หารือกันในส่วนนั้น แต่ได้หารือกันว่าพรรคการเมืองควรจะต้องมีเวลาที่เพียงพอสำหรับเตรียมการเลือกตั้ง การหาเสียง เราจะหาเวลาให้เพียงพอ
ต่อข้อถามว่า เมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้วหากเกิดปัญหาจะแก้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่ใช่เป็นเรื่องของตนเอง คิดว่าช่วงเวลาที่มีนั้นเพียงพอ ส่วนการเตรียมการในส่วนต่างๆ คงไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาล โดยส่วนตัวแล้วมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ อยากให้นำสิ่งที่ดี ๆ บรรจุไว้ และช่วยกันร่าง เพราะบางส่วนมองว่าเป็นการร่างที่ไม่ได้มาจากประชาชน วันนี้เราเปิดกว้างก็ขอให้ช่วยกันติและชม เมื่อเดินไปถึงจุดนั้นแล้ว เราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่น่าจะเป็นที่ยอมรับมากกว่าที่เราจะไปตั้งป้อมว่าที่ร่างมานี้ไม่ดีตั้งแต่ต้น
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--