นายกรัฐมนตรีระบุพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้แล้ว และรัฐบาลพยายามจะให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้เพื่อให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งต้องรอผลประชามติก่อน
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจการอื่นใดทางการเมือง และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 พ.ศ.2550 แล้ว และวันเดียวกันนี้ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หลังจากนี้ต่อไปกลุ่มการเมืองก็สามารถที่จะตั้งเป็นพรรคการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้มีการประเมินว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ซึ่งความตั้งใจของรัฐบาลก็พยายามที่จะเปิดโอกาสให้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเร็วที่สุด ถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมาโดยตลอด และแม้จะเสียเวลาบ้างในช่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แต่เมื่อผ่านขั้นตอนแล้ว รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการจนมีการประกาศ รัฐบาลไม่ได้คำนึงว่าจะมีผลกระทบต่อการลงประชามติหรือไม่
ต่อข้อถามว่า คิดว่าการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณในทางบวกให้กับการเมืองที่จะเริ่มดำเนินกิจกรรมได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้นานแล้ว อยากให้พรรคการเมืองดำเนินการได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และเมื่อผ่านขั้นตอนต่าง ๆ แล้วก็ยินดีด้วยที่พรรคการเมืองจะได้ดำเนินการทางการเมืองได้ต่อไป
ต่อข้อถามว่า มีความเห็นอย่างไรกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าประชาชนจะเลือกข้างตัวเองมากกว่าที่จะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มั่นใจ ขอรอประชาชนที่จะใช้วิจารณญาณของประชาชนเอง รัฐบาลก็ต้องรอการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกอย่างไร ผมไม่ได้รวบรวมข้อมูล และไม่ได้คิดว่าผลการลงประชามติจะออกมาในทางใด ไม่มีข้อคิดในส่วนนี้ แต่ข้อคิดที่สำคัญของตนเองมีประการเดียว คือรอการตัดสินใจของประชาชน และในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลก็พร้อมจะเดินหน้าและยอมรับการตัดสินใจของประชาชน แม้ว่าทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่าร้อยละ 80 จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเพียงการดำเนินการของหน่วยงาน รัฐบาลก็จะนำมาเป็นข้อมูล แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการตัดสินใจของประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้คิดว่าการเมืองจะนิ่งหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของการเมืองไม่เคยนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด การเมืองจะมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 19 สิงหาคม คงจะเดินทางไปลงประชามติในเวลา 11.00 น. และคงไม่ไปตระเวนดูตามหน่วยเลือกตั้ง แต่จะไปทำหน้าที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งคือการไปลงประชามติ จากนั้นคงจะติดตามผลทางสถานีโทรทัศน์เช่นเดียวกับประชาชน
ต่อข้อถามว่า ฝ่ายที่คัดค้านการรับร่างรัฐธรรมนูญพยายามชูประเด็นว่าผลการลงประชามติจะเป็นเครื่องชี้วัดว่าประชาชนเลือกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หรือ พ.ต.ท.ทักษิณฯ หากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงรัฐบาลจะเตรียมการรับมืออย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าประชาชนเข้าใจอย่างที่ได้เรียนตั้งแต่ต้นว่าถ้าเราไปสู่การเลือกตั้ง เบื้องต้นคือจะต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 19 สิงหาคม เป็นวันที่ประชาชนจะได้ออกมาตัดสินว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 หรือไม่ หากประชาชนไม่รับก็ต้องไปหารัฐธรรมนูญฉบับเก่าเพี่อที่จะมาดำเนินการต่อไป
“เราพยายามที่จะให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะแนวทางที่ผมเข้ามารับหน้าที่ฝ่ายบริหารคือการนำประเทศไทยให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้กลับไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด นี่คือหลักการที่ได้กำหนดไว้ และผมไม่ได้คิดว่าเป็นการเผชิญหน้าระหว่างใครกับใคร” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ต่อข้อถามว่า หากผลการลงประชามติผ่าน จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคมนี้แน่นอนใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนนี้คงต้องรอหลังวันที่ 19 สิงหาคม ถึงจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ ซึ่งจะพยายามให้มีการเลือกตั้งภายในสิ้นปีนี้
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลจะรณรงค์ให้พลังเงียบออกมาใช้สิทธิได้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากบรรดาสื่อมวลชนช่วยกัน คิดว่าประชาชนน่าจะออกมาใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่ ส่วนภาครัฐนั้นได้พยายามอย่างเต็มที่ แม้กระทั่งเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในจุดที่ห่างไกลเส้นทางคมนาคม เช่น การลดราคาค่าโดยสาร รัฐบาลได้อำนวยความสะดวกในทุก ๆ ด้าน อย่างที่บอกแล้วว่าถึงแม้จะเป็นสิทธิของเรา และถ้าคิดว่าเป็นหน้าที่ ๆ จะต้องมาช่วยกันทำให้การลงประชามติครั้งนี้เป็นที่ยอมรับ และเป็นการตัดสินว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นร่างที่พิจารณากันอยู่ในขณะนี้หรือไม่ จะเป็นสิ่งที่ดี
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลได้มีการดูแลการลงประชามติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ได้มีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ ซึ่งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมการอย่างเช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ให้ดูแลหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อยและไม่เป็นอุปสรรคกับประชาชนที่จะมาลงประชามติ ซึ่งเราอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ หากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรืออันตรายเราก็จะอำนวยความสะดวกให้ ในส่วนพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ไม่มีปัญหาที่มีลักษณะคล้ายกับพื้นที่ภาคใต้ การดูแลจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายปกครอง และตำรวจ
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 15 เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจการอื่นใดทางการเมือง และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 พ.ศ.2550 แล้ว และวันเดียวกันนี้ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หลังจากนี้ต่อไปกลุ่มการเมืองก็สามารถที่จะตั้งเป็นพรรคการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้มีการประเมินว่าจะส่งผลกระทบอะไรต่อการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ ซึ่งความตั้งใจของรัฐบาลก็พยายามที่จะเปิดโอกาสให้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเร็วที่สุด ถือเป็นแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการมาโดยตลอด และแม้จะเสียเวลาบ้างในช่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แต่เมื่อผ่านขั้นตอนแล้ว รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการจนมีการประกาศ รัฐบาลไม่ได้คำนึงว่าจะมีผลกระทบต่อการลงประชามติหรือไม่
ต่อข้อถามว่า คิดว่าการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณในทางบวกให้กับการเมืองที่จะเริ่มดำเนินกิจกรรมได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพิจารณาเรื่องดังกล่าวไว้นานแล้ว อยากให้พรรคการเมืองดำเนินการได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และเมื่อผ่านขั้นตอนต่าง ๆ แล้วก็ยินดีด้วยที่พรรคการเมืองจะได้ดำเนินการทางการเมืองได้ต่อไป
ต่อข้อถามว่า มีความเห็นอย่างไรกรณีที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าประชาชนจะเลือกข้างตัวเองมากกว่าที่จะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มั่นใจ ขอรอประชาชนที่จะใช้วิจารณญาณของประชาชนเอง รัฐบาลก็ต้องรอการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกอย่างไร ผมไม่ได้รวบรวมข้อมูล และไม่ได้คิดว่าผลการลงประชามติจะออกมาในทางใด ไม่มีข้อคิดในส่วนนี้ แต่ข้อคิดที่สำคัญของตนเองมีประการเดียว คือรอการตัดสินใจของประชาชน และในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลก็พร้อมจะเดินหน้าและยอมรับการตัดสินใจของประชาชน แม้ว่าทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่าร้อยละ 80 จะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเพียงการดำเนินการของหน่วยงาน รัฐบาลก็จะนำมาเป็นข้อมูล แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการตัดสินใจของประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้คิดว่าการเมืองจะนิ่งหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของการเมืองไม่เคยนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด การเมืองจะมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 19 สิงหาคม คงจะเดินทางไปลงประชามติในเวลา 11.00 น. และคงไม่ไปตระเวนดูตามหน่วยเลือกตั้ง แต่จะไปทำหน้าที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งคือการไปลงประชามติ จากนั้นคงจะติดตามผลทางสถานีโทรทัศน์เช่นเดียวกับประชาชน
ต่อข้อถามว่า ฝ่ายที่คัดค้านการรับร่างรัฐธรรมนูญพยายามชูประเด็นว่าผลการลงประชามติจะเป็นเครื่องชี้วัดว่าประชาชนเลือกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หรือ พ.ต.ท.ทักษิณฯ หากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงรัฐบาลจะเตรียมการรับมืออย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คิดว่าประชาชนเข้าใจอย่างที่ได้เรียนตั้งแต่ต้นว่าถ้าเราไปสู่การเลือกตั้ง เบื้องต้นคือจะต้องมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ และในวันที่ 19 สิงหาคม เป็นวันที่ประชาชนจะได้ออกมาตัดสินว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 หรือไม่ หากประชาชนไม่รับก็ต้องไปหารัฐธรรมนูญฉบับเก่าเพี่อที่จะมาดำเนินการต่อไป
“เราพยายามที่จะให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะแนวทางที่ผมเข้ามารับหน้าที่ฝ่ายบริหารคือการนำประเทศไทยให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้กลับไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด นี่คือหลักการที่ได้กำหนดไว้ และผมไม่ได้คิดว่าเป็นการเผชิญหน้าระหว่างใครกับใคร” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ต่อข้อถามว่า หากผลการลงประชามติผ่าน จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคมนี้แน่นอนใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนนี้คงต้องรอหลังวันที่ 19 สิงหาคม ถึงจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้ ซึ่งจะพยายามให้มีการเลือกตั้งภายในสิ้นปีนี้
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลจะรณรงค์ให้พลังเงียบออกมาใช้สิทธิได้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากบรรดาสื่อมวลชนช่วยกัน คิดว่าประชาชนน่าจะออกมาใช้สิทธิกันอย่างเต็มที่ ส่วนภาครัฐนั้นได้พยายามอย่างเต็มที่ แม้กระทั่งเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในจุดที่ห่างไกลเส้นทางคมนาคม เช่น การลดราคาค่าโดยสาร รัฐบาลได้อำนวยความสะดวกในทุก ๆ ด้าน อย่างที่บอกแล้วว่าถึงแม้จะเป็นสิทธิของเรา และถ้าคิดว่าเป็นหน้าที่ ๆ จะต้องมาช่วยกันทำให้การลงประชามติครั้งนี้เป็นที่ยอมรับ และเป็นการตัดสินว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นร่างที่พิจารณากันอยู่ในขณะนี้หรือไม่ จะเป็นสิ่งที่ดี
ต่อข้อถามว่า รัฐบาลได้มีการดูแลการลงประชามติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ได้มีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ ซึ่งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมการอย่างเช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ให้ดูแลหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อยและไม่เป็นอุปสรรคกับประชาชนที่จะมาลงประชามติ ซึ่งเราอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ หากอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรืออันตรายเราก็จะอำนวยความสะดวกให้ ในส่วนพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ไม่มีปัญหาที่มีลักษณะคล้ายกับพื้นที่ภาคใต้ การดูแลจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายปกครอง และตำรวจ
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--