วันนี้ เวลา 15.15 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พบปะสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล พร้อมตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชน
การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คงมีหลายเรื่องที่อยากจะเรียนชี้แจงให้บรรดาสื่อมวลชนได้รับทราบ เรื่องที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้และคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่คงจะเรียนเบื้องต้นให้กับสื่อมวลชนคือการที่จะดูแลในเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน หลังจากที่ประสบภัยสึนามิมานานพอสมควรแล้ว ได้มีการวางระบบการแจ้งเตือน และมีการปรับปรุงบางส่วนไปบ้าง แต่ช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่ครบถ้วน ทางรัฐบาลได้ขอให้ภาคเอกชนหารือกันในส่วนของอันดามันทั้งหมด ซึ่งผมและคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องคงจะได้ถือโอกาสลงไปดูว่าเราจะสามารถช่วยเหลือและปรับปรุงสิ่งที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านั้นให้ดีขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อย่างไรบ้าง คิดว่าเป็นอีกด้านหนึ่งที่จะทำได้สอดคล้องไปกับการเดินทางลงไปเยือน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างที่เคยเรียนไปแล้วว่า ในเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข แรงงาน คมนาคม จะทำไปพร้อมกันในขณะเดียวกัน คงไม่ใช่เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร แต่เป็นลักษณะของการไปติดตาม กำกับดูแลการทำงานต่าง ๆ ที่ได้มอบแนวทางไปแล้ว บางเรื่องอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการบริหารจัดการบ้าง บางเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณบ้าง บางเรื่องอาจจะต้องไปรับเพื่อที่จะมาดูแลด้านงบประมาณในปีต่อไปให้กับจังหวัด ท้องถิ่น นั่นเป็นเรื่องที่อยากจะเรียนให้ท่านทั้งหลายได้รับทราบไว้ว่าเราคงจะดำเนินการกันในเร็ว ๆ นี้
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาให้สัมภาษณ์ว่านายกรัฐมนตรีให้ย้ายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันไปอยู่ที่จังหวัดปัตตานี คือจากอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และให้มีการตั้งโรงกลั่นน้ำมันที่ปัตตานี และระบุว่าการตั้งโรงกลั่นตรงนี้จะช่วยให้ปัญหาในภาคใต้สงบลงไปได้ภายในปีนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผมรับแนวความคิดมาจากหอการค้าจังหวัดปัตตานี ลงไปครั้งที่แล้วก็ได้พูดคุยกัน ทางหอการค้าจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดมาประชุมร่วมกันที่ปัตตานี หอการค้าปัตตานีได้ให้ข้อเสนอว่าที่ปัตตานีอยากให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปลงทุน โดยที่ประชาชนในจังหวัดปัตตานีไม่มีปัญหาเหมือนกับที่จังหวัดสงขลา ที่มีโรงแยกก๊าซไปอยู่ที่นั่น ผมได้นำสิ่งที่หอการค้าฝากมา ๆ คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า มีทางจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ช่วยลงไปพูดคุยหาข้อมูลให้ชัดเจน และให้ ปตท. ลงไปดูแลในเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะว่าเป็นเรื่องที่จะต้องพูดกันในระยะยาวพอสมควร มีพลังงานหลายส่วนที่ไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกับน้ำมันก็มี ที่สามารถลงทุนได้ ที่บริเวณชายฝั่งของปัตตานีนั้นก็เป็นจุดที่เหมาะที่จะใช้พลังงานจากแรงลม เป็นตัวปั่นพลังงานคือปั่นไฟฟ้า เป็นเรื่องที่พวกเราอาจจะทราบไว้ก่อนเบื้องต้น เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานหรือ ปตท. คงจะต้องไปศึกษาในรายละเอียดอีกพอสมควรก่อนที่จะเป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ท่านนายกรัฐมนตรีมั่นใจอย่างไรว่าเหตุการณ์จะสงบภายในปลายปีนี้
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้พูดเลย ผมไม่ได้พูดว่าเหตุการณ์จะสงบภายในปลายปีนี้ ผมเพียงแต่บอกว่าเป็นเรื่องของการที่เราจะต้องเตรียมการในอนาคต มีส่วนที่เราจำเป็นจะต้องพูดกันคือเมื่อเราสร้างคน ให้การศึกษาแล้ว ก็ต้องมีงานให้เขาทำ ถ้าบอกว่าจบมหาวิทยาลัยแล้วไปนั่งตัดยางอยู่ ก็ไม่คุ้มค่า หรือว่าไปทำร้านต้มยำกุ้ง ก็ไม่คุ้มค่า ฉะนั้นต้องสร้างงานที่คุ้มค่ากับการศึกษาให้เกิดขึ้น เราต้องคิดว่ามีอะไรบ้างที่จะสามารถเป็นงานให้กับในท้องถิ่นขึ้นมาให้ได้ นอกเหนือจากการลงทุนซึ่งมาจากภาคเอกชน ในภาคของรัฐเองก็ต้องพิจารณาในส่วนนี้
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ท่านนายกรัฐมนตรีมองว่าโอกาสที่จะเปิดให้ดำเนินการมีมากน้อยแค่ไหนที่จะไปลงทุนที่ปัตตานี
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็เป็นการศึกษาเบื้องต้น ผมบอกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ไปคุยกับในท้องถิ่นก่อนว่าโอกาสจะมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แล้วถึงจะทำการศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่า ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าการลงทุนขนาดใหญ่จากในภาคของรัฐ เราก็ต้องศึกษากันให้ละเอียดให้เห็นว่าความเป็นไปได้ เป็นไปได้จริง ๆ ในทุก ๆ ด้าน
การปรับคณะรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด ซึ่งในที่สุดหลายคนก็ได้เห็นรายชื่อรัฐมนตรีช่วยทั้ง 3 ท่าน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่คราวนี้พอชื่อแต่ละท่านออกมาก็เริ่มมีเสียงวิจารณ์ออกมาว่าการปรับ ครม. ครั้งล่าสุด ปรับเหมือนไม่ได้ปรับ อยากเรียนถามท่านนายกรัฐมนตรีถึงเหตุผลจริง ๆ แต่ละท่านที่เชิญมาเป็นรัฐมนตรี ท่านมีเหตุผลอย่างไรในแต่ละท่านแต่ละกระทรวง
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถ้าจะเรียกก็คงเป็นการเพิ่มรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงซึ่งมีความจำเป็น อย่างที่ผมได้เรียนแล้วว่า เหลือเวลาอีกไม่มากนัก สำหรับรัฐบาลปัจจุบัน ถ้าผมเปลี่ยนรัฐมนตรีแบบปรับ ครม.ใหญ่ เราจะต้องมีคนใหม่เข้ามา เหลือเวลาอีกประมาณ 7 เดือน กับการที่จะเอาคนใหม่เข้ามา หรือว่าเราจะปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ซึ่งผมได้คุยกับท่านรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน เมื่อ 10 นาทีที่ผ่านมานี้ว่า จากผลการปรับ ครม. ในครั้งนี้เราคงต้องปรับวิธีการทำงานให้กระชับรวดเร็วขึ้น และติดตามงานที่เราได้สั่งไปแล้ว อย่างที่ผมได้เรียนให้เป็นรูปธรรม ให้เป็นรูปร่างขึ้นมา ไม่ว่าจะในเรื่องใด ๆ ก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่อยากจะเรียนว่ารัฐมนตรีช่วยทั้ง 3 ท่านนั้น ได้รับการพิจารณาจากรัฐมนตรีว่าการ เป็นหลัก เพื่อให้โอกาสกับทางกระทรวงหลัก ๆ เหล่านั้นได้พิจารณาว่าเขาจะได้มีคนที่เข้ามาทำงานกัน อาจจะมีกระทรวงสาธารณสุขซึ่งอาจจะแปลกไปหน่อย แต่คงไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อยากให้ช่วยขยายความคำว่า"แปลกหน่อย"ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นอย่างไร เพราะโดยปกติมีรัฐมนตรีช่วยอยู่แล้ว คือ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่อยู่ ๆ ก็เพิ่มรัฐมนตรีช่วยเข้าไปอีกท่านหนึ่ง และกำลังมีการมองว่าเข้าไปเพื่อต้องการเข้าไปเช็คบิลในเรื่องของคดีทุจริตต่างๆ ที่เกี่ยวพันในรัฐบาลก่อนหรือไม่
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คงเป็นส่วนหนึ่ง เพราะผมก็โดนว่ามาตลอดว่าไม่เคยดูแลเรื่องนี้ จริง ๆ เราดูแลในเรื่องของการตรวจสอบ การที่จะตรวจสอบการทุจริตต่าง ๆ คงไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลที่แล้วอย่างเดียว เรื่องของเราเองเราก็ต้องดูแลด้วย นั่นเป็นเรื่องที่อยากจะเรียนว่าการทำงานคงแก้ไขในสิ่งที่ควรจะแก้ไขของรัฐบาลที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเราต้องดูตัวเราเองด้วย ไม่ใช่ไปว่าคนอื่นเขาอย่างเดียวแล้วตัวเองไม่ทำ นั่นเป็นเรื่องที่ผมอยากเรียนว่า กระทรวงสาธารณสุขที่เข้ามานั้นต้องการที่จะให้นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ เข้ามาช่วยดูแลในส่วนเหล่านี้ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เริ่มมีขีดจำกัดในด้านการออกไปต่างจังหวัด ก็เป็นเรื่องของวัย คงเรียนได้อย่างนี้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องไปชี้แจงเรื่องของ CL (Compulsory Licensing)ที่ต่างประเทศ ซึ่งจะเดินทางในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คนมาถึงตรงจุดเหล่านี้แล้วก็คิดว่าคงจะต้องมีคนเข้ามาช่วยบ้างในการที่จะลงไปสู่พื้นที่กันต่อไป
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน ก่อนหน้านี้ท่านนายกรัฐมนตรีเคยบอกว่าจะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรีโดยดึงรัฐมนตรีเก่าออก ดังนั้นในเวลาที่เหลืออีก 6 เดือน ถ้าเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นกับรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะตอนนี้โควต้าเต็มหมดแล้ว
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถ้าให้ตอบก็คงไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรขึ้นมา ถ้ามีปัญหาที่เราเคยคุยกันในส่วนของเราก็คือว่ามีปัญหาจริง ๆ เราก็คงบอกผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบว่า ช่วยส่งจดหมายให้ผมที ก็คุยกันอยู่แล้วแม้กระทั่งท่านรองนายกรัฐมนตรีไพบูลย์ฯ ท่านก็คุยกับผมอยู่ว่า ท่านนายกรัฐมนตรีจะให้ผมส่งจดหมายเมื่อไรก็บอกมา ผมบอกว่ายัง ๆ อาจารย์ไพบูลย์ฯ อย่าเพิ่งส่งมาเลย นั่นก็เป็นวิธีการ
การออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ หลังจากปรับคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีมีสัญญาณอะไรที่จะให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธารัฐบาลต่อไปว่าจะแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนได้
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็คงเป็นเรื่องที่พูดถึงในหลักการว่าเราจะทุ่มเทเต็มที่กับสิ่งที่เราได้กำหนดแนวทาง ได้สั่งการไปแล้ว เราจะทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นรูปธรรม ถ้าในด้านของเศรษฐกิจ คงอยากจะให้ท่านรองนายกรัฐมนตรีโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ได้ตอบลงลึกไปในรายละเอียดนี้ เมื่อสักครู่ก็ได้คุยกัน อยากให้รองนายกรัฐมนตรีโฆสิตฯ ได้ช่วยชี้แจง เชิญครับ
รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีครับ การจะดูแลปัญหาต่าง ๆ นั้น ประเด็นใหญ่คงจะอยู่ที่เรื่องของการปฏิบัติอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดไปแล้ว ในเรื่องของเรา เราก็ดูแลให้มีการปฏิบัติตามแนวทางที่สอดคล้องกับความหนักหนาสาหัสของสถานการณ์มาโดยตลอด ขณะนี้เรามีกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่เพียงเรื่องเดียวคือเรื่องของการส่งออก เราก็พยายามจะให้มีกลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากเครื่องยนต์ขึ้น ซึ่งก็เริ่มจากทางซีกของรัฐบาล ซึ่งผมอยากจะรายงานว่าข้อมูลหลัง ๆ ก็ปรากฏว่าเราสามารถที่จะปฏิบัติตามที่เราได้กำหนดไว้ ก็คือเริ่มมีการเร่งรัดการใช้จ่ายในกรณีของรัฐ ทั้งจากงบประมาณแผ่นดินและจากรัฐวิสาหกิจได้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงระดับที่จะขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลัง เราเคยบอกไว้ว่าเราขอเวลา 2 - 3 เดือน ซึ่งก็จะเป็นในไตรมาสที่สาม เดือนนี้ เครื่องยนต์นี้ก็จะขับเคลื่อนได้อย่างมีกำลังมากขึ้น เรื่องที่เรากำลังขับเคลื่อนอยู่เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติขณะนี้อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในขณะนี้อย่างที่ผมได้เรียนตามลำดับว่า การลงทุนของเอกชนกำลังได้รับการคลี่คลายไปจากความชัดเจนของนโยบายของเราที่มาบตาพุด การลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็กำลังจะได้รับการดูแลให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการกำหนดการประมูลต่าง ๆ การลงทุนของเอกชนจากต่างประเทศก็กำลังจะได้รับความชัดเจน เพราะฉะนั้นในอีกไม่นานนัก พวกผมคงไปกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีได้ว่า เราจะสามารถที่จะเริ่มต้น ที่จะทำให้เครื่องยนต์ที่เรียกว่าการลงทุนนี้เริ่มที่จะมีบทบาทได้สูงขึ้น อย่างไร เมื่อไร เพราะว่าการปฏิบัตินี้สำคัญที่สุด อย่างที่ผมเรียนแล้วครับ ส่วนในเรื่องของการบริโภคก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งได้เรียนแล้วว่า ทางเราพยายามจะเร่งรัดกิจกรรมที่ไปสู่รากหญ้า ทั้งในมาตรการทางด้านการคลัง มาตรการทางด้านของโครงการ อย่างเช่น ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข และมาตรการอื่น ๆ ซึ่งเราทำเสริมขึ้นมา อย่างเช่นกรณีของการให้รางวัลต่อข้าราชการ ซึ่งเราก็เพิ่งประกาศไป 5,000 กว่าล้าน ซึ่งท่านทั้งหลายก็ได้รับทราบไปแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เราจะติดตาม เรามีคณะกรรมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่จะตามสถานการณ์ สถานการณ์เป็นอย่างไร เราก็จะปรับเครื่องมือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ถ้าเรามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมเราก็จะทำ ขณะนี้เรายังมีโอกาสอีกหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งเรายังมีกำลังสำรอง เรียกว่าอย่างนั้นก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นเรื่องแรกคือว่าเราจะเริ่มค่อย ๆ ฉุดเครื่องยนต์ต่าง ๆ ให้มันเดินได้เต็มตามกำลังความสามารถ สอง กำลังสำรองของเราในหลาย ๆ เรื่องก็ยังดีอยู่ ไม่ได้บกพร่องอะไรครับ
ผู้สื่อข่าว ขอเรียนถามท่านนายกรัฐมนตรี กรณีที่สถาบันพยากรณ์เศรษฐกิจและหน่วยงานราชการได้ปรับลด GDP ของไทยลงมา ท่านนายกรัฐมนตรีวิตกกังวลกับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้หรือเปล่า และอีกประเด็นหนึ่ง รัฐบาลจะมีมาตรการที่ชัดเจนอย่างไรในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการประเมินว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราจะลดลงในปี 2550 ก็เป็นเรื่องของการติดตามผลการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในส่วนของคนเรา ขอบอกไว้อย่างหนึ่งว่า เราคงจะต้องยอมรับและต้องเผชิญกับสิ่งหนึ่ง นั่นก็คือว่าเราไม่มีทางที่จะก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา บางครั้งเราต้องหยุดนั่งพัก การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน ขยายตัวประมาณ 5 กว่า ๆ แล้วลงมาเหลือประมาณ 4 ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และเราควรจะยอมรับว่าในบางครั้ง บางโอกาสเราต้องเผชิญกับปัญหาอันนี้ หลัก ๆ ผมคงเรียนว่าปัญหาทางการเมืองเป็นปัญหาที่สำคัญอันหนึ่ง ที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเรา ไม่เข้าไปสู่เป้าที่ได้ประเมินไว้ตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่แล้ว พูดถึงในเรื่องของการกระตุ้น ก็คงเป็นมาตรการที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีโฆสิตฯ ได้พูดถึงเมื่อสักครู่นี้ ในการที่จะฉุดเครื่องยนต์ตัวอื่น ๆ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราให้ก้าวไปข้างหน้าได้
ผู้สื่อข่าว ในเรื่องของความชัดเจนของการออกมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ รัฐบาลมีความชัดเจนอย่างไรบ้าง
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คงไม่ใช่เฉพาะกระทรวงการคลังอย่างเดียวครับ มีอีกหลายกระทรวงที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง กระทรวงการคลังเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นเรื่องของการลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่ผมว่าไว้ และรองนายกรัฐมนตรีโฆสิตฯ พูดถึง การที่จะสร้างบรรยากาศให้การลงทุนดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการคลังเพียงอย่างเดียว
จ้างบริษัท ตปท. ทำ ปชส. สร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าว การเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ ที่ต่างประเทศถือเป็นปัญหาการเมืองสำคัญอย่างที่รัฐบาลกำลังเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้หรือไม่
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็เป็นปัญหาทางการเมืองนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องที่เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่าเราควรจะทำอะไรบ้าง อย่างไร มาดูในขณะนี้แล้วเราคงจะต้องลงทุนบ้าง ในการที่จะจ้างบริษัทที่ทำประชาสัมพันธ์ ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอเข้ามาว่าจำเป็นที่จะต้องทำ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราควรที่จะกระทำด้วยเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีช่วยขยายนิดหนึ่งได้ไหมว่าจะจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ หมายถึงว่าในอดีตที่ผ่านมา เห็นท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าไม่มีเงินที่จะจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนี้เป็นบริษัทประชาสัมพันธ์ครับ พูดกันว่าล็อบบี้ยิสต์นั้นแพงหน่อย ประชาสัมพันธ์นี้ถูกหน่อย ถ้าจะให้พูดราคาตัวเงิน ก็เดือนละ 200,000 เหรียญสหรัฐ เราจ้างเขาประมาณ 3 เดือน
ผู้สื่อข่าว เป็นบริษัทต่างประเทศหรือคะท่านนายกรัฐมนตรี
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็คงเป็นบริษัทในสหรัฐอเมริกาครับ คงไม่จ้างบริษัทประเทศไทยไปทำ
ผู้สื่อข่าว ลักษณะการจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ตรงนี้ เนื้อหาของการประชาสัมพันธ์จะเน้นในเรื่องอะไร หรือว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ คือทุกอย่างตรงนั้นเลย
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นคนพิจารณา เพราะว่าแต่ละเรื่องที่ออกมาเราคงเน้นเป้าหมายของการทำความเข้าใจกับผู้คนในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก หรือว่าในมิตรประเทศของเราเป็นหลัก เราคงจะเข้าไปพูดในรายละเอียดในส่วนนั้นก็คงจะทำไม่ได้ง่ายนัก
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ท่านคะ 3 เดือนนี้จะได้ผลหรือคะ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็อย่างที่ว่าครับเงินน้อย คงทำในส่วนเท่าที่เราสามารถจะทำได้
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กลัวจะเสียเงินเปล่าสิคะท่าน
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็ดีกว่าที่เราไม่ทำอะไรเลยครับ หมายถึงว่าเราก็ดูผลงานเป็นเดือน ๆ ว่าให้เขาทำประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งมันก็จะต้องมีสัญญา มีอะไรต่ออะไรกันครับ และแต่ละเดือนเขาก็ต้องส่งผลงานของเขาเข้ามา
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทำไมนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ เพราะว่าการเคลื่อนไหวของคุณทักษิณฯ หรือไม่
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้ตัดสินใจครับ เป็นเรื่องที่ทางกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ เป็นความรับผิดชอบของเขาโดยตรง และเงินในส่วนนี้ก็เป็นเงินที่อยู่ในงบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศแล้ว คือเป็นเงินที่มีอยู่ในงบประมาณแล้ว การตัดสินใจเป็นเรื่องของทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพียงแต่ผมทราบว่าเขาทำอะไรบ้าง
ผู้สื่อข่าว ที่กระทรวงการต่างประเทศจ้างเป็นบริษัทชื่ออะไรครับ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ก็คงเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่จะต้องไปทำสัญญา และคงไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ คงเป็นหน่วยงานของเราที่อยู่ทางกรุงวอชิงตัน ที่จะเป็นคนดำเนินการ
ผู้สื่อข่าว แสดงว่ารัฐบาลก็ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของคุณทักษิณฯ ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของประเทศไทยโดยตรง แต่ทำไมท่านนายกรัฐมนตรีถึงไม่ดำเนินการชี้แจงกับประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนมากกว่าที่จะไปชี้แจงกับต่างประเทศ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าประชาชนไทยเข้าใจดีมากกว่าผมว่าปัญหาที่ผ่านมา 3 — 4 ปีมีอะไรบ้าง ถ้าถามพวกเราที่นั่งกันอยู่ตรงนี้ ผมคิดว่าหลาย ๆ ท่านรู้ดีกว่าผมด้วยซ้ำไปในรายละเอียด ผมถึงไม่ค่อยได้ชี้แจงในประเทศไทย ผมทำความเข้าใจกับคนในต่างประเทศเพราะว่าเขาไม่มีโอกาสที่มาประสบปัญหาเหมือนเรา เขาเพียงแต่ได้ยิน ได้เห็น
การตรวจสอบข้อมูลการฟอกเงินของอดีตนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีได้รับทราบข้อมูลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับการเข้าไปตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญชิ้นหนึ่งว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินของอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ทราบว่าข้อมูลตรงนี้มีรายงานถึงท่านนายกรัฐมนตรีหรือไม่
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เรื่องอะไรต้องถามเป็นเรื่องไปเพราะว่ามีมากเหลือเกิน
ผู้สื่อข่าว เรื่องบริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด กับบริษัทวินมาร์ค ลิมิเต็ด ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีรายงานเข้ามาว่าได้ดำเนินการ มีการรวบรวมหลักฐานสอบสวนและไต่สวนพยานต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่เขาทำตามขั้นตอนและได้รายงานมาให้ทราบแล้ว
ผู้สื่อข่าว ไม่ทราบว่าสิ่งที่ดีเอสไอ รายงานถึงท่านนายกรัฐมนตรีมีตัวบ่งชี้อะไรหรือไม่ว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือว่าเกี่ยวข้องกับวิกฤติค่าเงินบาทปี 2540 หรือไม่อย่างไร
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้รายงานในรายละเอียด เพียงแต่รายงานว่าได้เชิญใครมาให้การเป็นพยานบ้าง ได้รับหลักฐานอะไรต่าง ๆ จากที่ไหนมาบ้าง ส่วนในสำนวนจริง ๆ ไม่ได้เปิดเผย เพราะว่าผมเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปรู้
ผู้สื่อข่าว อันนี้ถือเป็นหนึ่งในคดีที่ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าอาจจะมีการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลหรือไม่
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี คงมีหลายคดีทางคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ด้วย และที่กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านี้
การเจรจาทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ ที่จะออกมาชุมนุม
ผู้สื่อข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้พลเอก บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปประสานและไปเจรจากับกลุ่มต่าง ๆ วันนี้มีความคืบหน้าในกระบวนการเจรจาอะไรหรือไม่ ที่ก่อความไม่สงบ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ยังไม่มี ตอบตรง ๆ ว่ายังไม่มีอะไรคืบหน้า
ผู้สื่อข่าว ขอเรียนถามเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี โดยให้ท่านพลตำรวจโท ธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกท่านหนึ่ง ท่านนายกรัฐมนตรีมีความมั่นใจอย่างไรว่าในการดึง ท่านธีรวุฒิ บุตรศรีภูมิ จะสามารถแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อย่างที่ผมเรียนแล้วว่า เราคงต้องมาช่วยกัน ไม่มีใครหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็ยังไม่คิดว่าจะแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ เพียงแต่ว่าเราจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางดีขึ้นได้อย่างไร และมีการเตรียมการในระยะยาวที่จะให้ผู้คนเกิดความเชื่อถือและความไว้วางใจขึ้นได้อย่างไร
ผู้สื่อข่าว ขอถามเรื่องประชามติ คือถ้าเกิดประชาชนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีสิทธิ์ที่จะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ได้ใช่หรือไม่ อย่างนี้จะถือว่ารัฐธรรมนูญที่คมช.เลือกจะเป็นประชาธิปไตย หรือว่าจะได้รับการยอมรับจากประชาชนหรือว่าชาวต่างชาติหรือไม่
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อย่างที่ผมเรียน เรามาช่วยกันทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถือว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนนี้ ให้เป็นที่พอใจของคนส่วนใหญ่ ก็จะดีกว่าเราไปเอาฉบับไหนอย่างที่ผู้สื่อข่าวว่า แล้วมาปรับแก้นิดหน่อยแต่นำมาใช้ ผมว่าที่เราร่างอยู่นี้ เรายังอยู่ในขั้นตอน อยู่ในห้วงเวลาของการที่จะรวบรวมความคิดเห็น และนำไปแปรญัตติไปปรับปรุงให้ดีขึ้น ตรงนี้ผมว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เราอย่าเพิ่งไปมองทางออกที่แคบกว่าเดิม ทางนี้กว้างกว่า เรามาช่วยกันทำให้ทางที่กว้างนี้เป็นที่ยอมรับน่าจะดีกว่า
ผู้สื่อข่าว นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เสนอทางออกว่า ถ้ารัฐบาลเองควรจะมีการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาหารือร่วมกันเกี่ยวกับทางออกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีเองเห็นหรือว่ายอมรับกับแนวคิดอย่างไรบ้าง
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผมรับฟังตลอดในเรื่องของแนวคิดที่จะให้เกิดความราบรื่น เกิดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผมได้คุยกับรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน เมื่อสักครู่นี้เอง ก็คิดว่า รัฐบาลจะหารือในที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ ในคณะรัฐมนตรี แล้วจะได้ตกลงใจกัน ประเด็นก็คือว่า รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง แต่เราก็อยากที่จะทำ ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน 12 องค์กร เราก็สามารถรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ ได้ ก็เป็นเรื่องที่จะหารือการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ และจะเรียนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบด้วย
การแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าว ตอนนี้มีความพยายามที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่รัฐบาลเองเดินหน้าในการที่จะสร้างความเข้าใจด้วย ตรงนี้คิดว่าเวลาที่เหลืออยู่ ณ ขณะนี้ก่อนจะถึงวันทำประชามติ คิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงการต่างประเทศ ควรจะต้องเร่งตรงไหนเป็นพิเศษหรือไม่
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เราจะช่วยกันทุกกระทรวงที่มีเครือข่ายอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกัน ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้นเราอาจจะดูว่าไม่มีบทบาทมากนัก แต่จริง ๆ มีบทบาทที่จะช่วยทำความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่สามารถจะสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้จำนวนพอสมควร ก็เป็นเรื่องที่ได้พูดคุยกันแล้ว ผมได้คุยกับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไปแล้วว่า ขอให้ท่านได้ช่วยในส่วนเหล่านี้
ผู้สื่อข่าว ในส่วนของเดือนพฤษภาคม เขามองว่าจะมีปัญหามากหมาย และเป็นเดือนที่รวมเรื่องสำคัญ อย่างเช่นคดียุบพรรค ทางทหารเองออกมาพูดว่า ทหารมีจำนวนเป็นแสน พรรคการเมืองเอก็บอกว่ามีคนสนับสนุนเป็นล้าน ท่านมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร รวมถึงการรับมือหลังการพิจารณาคดียุบพรรค
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ผมมองว่าเราควรจะมองในการที่จะหาทางออกในการ แก้ไขปัญหากัน หมายถึงว่า พูดกัน ทำความเข้าใจกัน และหาจุดที่เป็นจุดที่สมดุลในการแก้ไขปัญหาเป็นที่ยอมรับ อย่างที่ผมเคยเรียนหลายครั้งแล้วว่า แนวทางที่ดีที่สุดคือการที่จะต้องพูดจากัน การที่จะมีการเคลื่อนไหวอะไรต่าง ๆ นั้นก็เป็นทางออกในขั้นสุดท้ายซึ่งผมไม่อยากให้ไปในลักษณะอย่างนั้น
ผู้สื่อข่าว แต่ว่าในจุดนี้อาจจะมีการปลุกกระแสให้มีการออกมาเคลื่อนไหวได้ หลังจากที่กรณียุบพรรค ซึ่งอาจจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นผลสำเร็จ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถ้าหากว่าได้มีการชี้ขาด มีการตัดสินชี้โดยศาลไปแล้ว ผมคิดว่าในฐานะที่เราจะต้องยึดถือหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย เมื่อมีการพิจารณากันโดยรอบคอบแล้ว เราก็ควรที่จะได้ข้อยุติตามกระบวนการยุติธรรม นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากจะเรียนว่า ถ้าหากว่า เราไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย เราก็คงไม่มีกฎ กติกาอะไรเลยในสังคมของเรา ถ้าเราปฏิบัติตามกฎหมาย เราก็คงอยู่ร่วมกันในสังคมได้ สังคมที่ไม่มีกฎหมายก็คงไม่ได้เป็นสังคมแล้ว คงเป็นสภาพที่ไร้การดูแล ไร้กฎหมายในการที่จะอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความเป็นธรรม และบนพื้นฐานของกฎหมาย
กรณีสหรัฐฯ จะประกาศให้ไทยอยู่ในบัญชีจับตามองใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าว ขอถามประเด็นของการค้าต่างประเทศ คือขณะนี้ทางประเทศสหรัฐอเมริกา จะประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีจับตามองใกล้ชิด ในกรณีที่ประเทศไทยละเมิดสิทธิยา โดยเฉพาะยาต้านไวรัส ท่านนายกรัฐมนตรีมีจุดยืนอย่างไรกับประเด็นนี้ และกังวลกับมาตรการตอบโต้ และจะมีการป้องกันอย่างไร
(ยังมีต่อ)