วันนี้ เวลา 08.00 น. ณ บ้านพิษณุโลก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เป็นครั้งที่ 8 โดยมีนายพิสิทธิ์ กิรติการกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้ดำเนินรายการ สวัสดีครับ เปิดบ้านพิษณุโลก เสารนี้ ผม พิสิทธิ์ กิรติการกุล จะมาเรียนสัมภาษณ์ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในเรื่องที่ท่านนายกฯ เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอินเดีย เรื่องของผู้นำทางศาสนามุสลิม ที่เดินทางมาลงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการเจรจากับรัฐบาลประเทศมาเลเซีย และเรื่องที่อยู่ในความสนใจที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้อีกหลายเรื่องครับ สวัสดีครับท่านนายกรัฐมนตรีครับ
นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ
ผู้ดำเนินรายการ ท่านนายกฯ เปิดบ้านพิษณุโลก ผมติดตามดูทางโทรทัศน์ก็หลายครั้งแล้ว นอกจากที่ท่านเปิดบ้านให้สื่อมวลชนอย่างพวกผมเข้ามาเรียนสัมภาษณ์แล้ว ท่านนายกฯ ใช้บ้านนี้ทำอะไรบ้างครับ
นายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่จะพูดคุยกับแขก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแขกรับเชิญไม่เป็นทางการ ทานอาหารบ้าง มีคณะทำงานที่ประสานงานกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มาทานอาหารที่นี่ คุยกัน
ผลสำเร็จการเดินทางเยือนอินเดีย
ผู้ดำเนินรายการ เป็นที่ทำงาน เป็นที่คุยกัน ไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัย ท่านนายกฯ เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศอินเดีย แต่หลายวันก่อนหน้านี้เคยได้ยินท่านนายกฯ พูดว่าการที่เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกบางทีไปคุยกับต่างประเทศรู้สึกว่าไม่ค่อยสะดวกเท่าไรหรือว่ามีอุปสรรค แต่ไปต่างประเทศอย่างไปอินเดียครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง
นายกรัฐมนตรี อินเดีย คงเรียนได้ว่าตั้งแต่เบื้องต้นอินเดียได้มีหนังสือแสดงความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ผมได้มีโอกาสพบกับท่าน Manmohan Singh นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ท่าทีของท่านก็เป็นมิตรและเข้าใจ ท่านพูดกับผมบอกว่า เข้าใจในความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเรา เชิญผมด้วยวาจาตั้งแต่ครั้งนั้น นั่นเป็นความต่อเนื่องที่ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลอินเดียได้แสดงออกให้กับผมตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งนำมาสู่การไปเยือนอินเดีย และจากการต้อนรับของรัฐบาลอินเดียก็เห็นได้ชัดเจนว่า อินเดียมีความเข้าใจ และนโยบายของอินเดีย คือการมองมาทางตะวันออก ก็สอดคล้องกับเราที่ต้องการจะมองไปทางตะวันตก ในโอกาสข้างหน้าผมคิดว่าทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า ทางตะวันออกของเราคือ จีน ทางตะวันตกของเราคือ อินเดีย ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญที่จะทำให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจของโลกไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่เอเชีย เราเป็นส่วนที่อยู่ตรงกลาง ทำอย่างไรที่จะรักษาซึ่งผลประโยชน์ของเราสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นตัวจักรสำคัญทั้งสองด้านนี้ให้ได้ นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ผู้ดำเนินรายการ ผลประโยชน์ที่พูดนี้ก็คือผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจเศรษฐกิจหรือครับ
นายกรัฐมนตรี ก็ทุกส่วน คือความร่วมมือเราต้องมองในภาพรวมทั้งหมดว่า บางอย่างเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของวัฒนธรรม เป็นเรื่องซึ่งถือว่ามีความผูกพันกันมาเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ เรื่องของการค้า เรื่องของเศรษฐกิจ ก็เป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่ว่าสิ่งที่จับต้องไม่ได้ คือความ รู้สึกของประชาชนต่อประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่ดี
ตั้งเป้าขยายการค้าไทย-อินเดียให้ถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้ดำเนินรายการ มีการพูดกันถึงเรื่องการจะเปิดเขตการค้าเสรี ถ้าเปิดเขตการค้าเสรีจะมีอะไรใหม่ ๆ ตามมาบ้างครับ
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของการเจรจาได้ดำเนินการมานานแล้ว และมีข้อขัดข้อง ซึ่งทางอินเดียพูดกับผมบอกว่า ครั้งที่แล้วเกือบจะมีการลงนามกันอยู่แล้วในรัฐบาลที่แล้ว แต่ว่าทางฝ่ายไทยเป็นฝ่ายที่ขอว่ายังไม่ลงนาม เพราะว่าจะมีปัญหาทางการเมืองภายในของเรา แต่ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเมื่อมีการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าในปีนี้ เราจะมีการค้าขายระหว่างไทยกับอินเดียให้ถึงประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะนี้เราเกือบจะเข้าเป้าแล้วคือ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลืออีกนิดหน่อยคงจะเข้าในระดับของ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ นั่นเป็นสิ่งที่เห็นได้ ชัดเจน และไม่ได้มีการได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกันมากมาย นี่เป็นส่วนที่ดี เราพยายามที่จะขยายในส่วนนี้ สิ่งที่ยังถือว่าเป็นการเจรจาในขั้นสุดท้าย ซึ่งได้คุยกันว่า ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมจะมีการคุยกันที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อยุติ สิ่งที่เราอยากได้คือ ความตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย ในฐานะที่เป็นทวิภาคี เราน่าจะอยู่ในลักษณะที่กระทำได้ก่อนที่อินเดียจะกระทำกับกลุ่ม อาเซียน เงื่อนไขของเราอยู่ตรงนั้นว่า มีการผ่อนผันให้เรา แล้วน่าจะกระทำได้ก่อนที่จะมีการตกลงในเรื่องของการค้าระหว่างอินเดียกับอาเซียนทั้งหมด ซึ่งความแตกต่างเกือบจะไม่มี ในลักษณะของพหุภาคีกับทวิภาคี เราอยากได้นิด ๆ หน่อย ๆ คิดว่าน่าจะพูดกันได้
ผู้ดำเนินรายการ พูดถึงอินเดีย คนไทยเรารู้จักแขกอินเดีย ขายผ้าปล่อยเงินกู้ เงินผ่อน เก็บดอกทุกวัน เรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบเป็นอย่างไรครับ
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าเรามองภาพในระยะยาวคือการค้าก็เป็นเรื่องหนึ่ง สิ่งที่เรามองคือเรื่องของการลงทุนในระยะยาว ซึ่งอินเดียก็ต้องการให้เราลงทุน ได้พูดกันถึงการที่จะเชิญภาคเอกชนของไทยเข้าไปดูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ก็เป็นข้อที่แปลก อินเดียบอกว่าอยากให้ไทยไปลงทุน ทางเราเองก็อยากให้อินเดียมาลงทุน ซึ่งมีสิ่งที่เขามีความสามารถในเรื่องของไอที เรื่องการ ผลิตยา รถยนต์เขาก็เก่งคือบริษัท ทาทา ซึ่งมีชื่อเสียง เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดีย จะมีการหารือกันว่า จะมีการร่วมทุนกันอย่างไร เพราะเขารู้ว่าเรามีฐานทางด้านของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ค่อนข้างจะเข้มแข็งในกลุ่มประเทศอาเซียน ดูว่าโอกาสที่จะมีการลงทุนกันในลักษณะนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง
ผู้ดำเนินรายการ เขาอยากให้เราไปลงทุน ท่านคิดว่าควรจะส่งเสริมให้เราไปลงทุนอะไร
นายกรัฐมนตรี ในขณะนี้เราเองมีการลงทุนในอินเดีย บริษัทใหญ่ ๆ ซีพี ไปลงทุนในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ อิตาเลี่ยนไทยไปลงทุนในเรื่องของการก่อสร้าง เราไปลงทุนในอินเดียมากกว่าที่อินเดียมาลงทุนในเมืองไทย ตัวเลขในขณะนี้ประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ไทยไปลงทุน ก็เป็นสิ่งที่เราได้ลงทุน แต่ลงทุนในโครงการที่ยังไม่ได้อยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเขา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเขาอยากให้เราไปลงทุน ผมได้พบกับมุขคณะมนตรี ซึ่งมาจากพื้นที่ทางนั้น เขาก็พูดกับผมว่าเขาเป็นคนไทย เขาเป็นคนเชื้อสายไทย ภาษาที่ใช้มีความคล้ายคลึง หน้าตาเหมือนคุณกับผม เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าที่อินเดียอยากให้เราไปลงทุนเพราะมีความเชื่อมโยงกันในทางเชื้อชาติ และพูดกันถึงว่าต่อไปจะมีการคมนาคมทางบก จะเชื่อมโยงกันอย่างไรระหว่างอินเดียกับไทย ระยะห่างทางตรงประมาณ 1,700 กิโลเมตร จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเขา แต่ว่าจะต้องผ่านพม่า บังคลาเทศไม่ต้องผ่าน
ผู้ดำเนินรายการ ข้ามเข้าอินเดียเลย มีแค่พม่าประเทศเดียวที่คั้นอยู่
นายกรัฐมนตรี ประเทศเดียว นี่เป็นเรื่องที่หารือกันว่าทำอย่างไรที่จะชักชวนพม่าให้เข้ามาร่วมมือในส่วนนี้ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ผมคิดว่าการเชื่อมโยงทางพื้นดินระหว่างเรา อินเดีย จะเป็นไปได้
ผู้ดำเนินรายการ ส่วนหนึ่งตอนท้าย ๆ ก่อนที่ท่านนายกฯ จะกลับ ท่านนายกฯ แวะที่เมืองพาราณสี สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ท่านนายกฯ ไปทำอะไรบ้างครับ
นายกรัฐมนตรี เป็นคนพุทธที่อยากจะไปในสิ่งที่ถือว่าเป็นสังเวชนียสถานที่สำคัญ ผมเคยไปแล้วที่พุทธคยา ในช่วงที่เป็นทหาร คือทั้งสองเมืองไม่ได้ไกลจากกันนัก ห่างประมาณเกือบ 300 กิโลเมตร ถือโอกาสขอทางรัฐบาลอินเดียว่าผมอยากไปที่นี่ ทางอินเดียเข้าใจ เพราะรู้ว่าความเชื่อมโยงทางศาสนา ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในบรรดาคนไทย แม้กระทั่งในการพบปะพูดจากับภาคเอกชนของอินเดีย ทางรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของอินเดียก็อ่านชื่อผมไม่ค่อยถูก ผมก็บอกว่านามสกุลผมถ้าอ่านแบบภาษาสันสกฤต ต้องบอกว่า จุลานันดา เขาก็เข้าใจทันที นั่นคือสิ่งที่เป็นความเชื่อมโยง
ผู้ดำเนินรายการ ถ้าอ่านเป็นภาษาสันสกฤตเขาเข้าใจทันที แสดงว่ามีความหมายในทางภาษาสันสกฤต
นายกรัฐมนตรี เขาเข้าใจท้นที หมายถึงว่า ความพอใจ
หลักการของศาสนาอิสลามคืออยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ผู้ดำเนินรายการ พูดถึงเรื่องศาสนาก็ต้องกลับมาถึงเรื่องของสถานการณ์ในภาคใต้ของเรา ในเวลาเดียวกันที่ท่านนายกฯ ไปต่างประเทศ ก็มีผู้นำทางศาสนาทั้งของประเทศอียิปต์ องค์การสันนิบาตศาสนาอิสลาม มาลงพื้นที่ เห็นบอกว่ามาตามคำเชิญของรัฐบาลเราหรือครับ เราเชิญให้เขามาดูอะไรมาฟังอะไรครับ
นายกรัฐมนตรี ผมได้มีโอกาสพบทั้งสองท่าน Grand Iman of Al-Azhar ได้มีโอกาสคุยกับท่านประมาณเกือบชั่วโมง ได้พูดถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาของเราทำอย่างไร อธิบายให้ท่านฟัง และพูดถึงว่าในระยะยาวแล้ว สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ความร่วมมือในด้านของการให้การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นด้านสายสามัญ ด้านอาชีพ ด้านศาสนา เพราะว่า Grand Iman เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Al-Azhar ที่อียิปต์ด้วย ขณะนี้มีคนไทยที่ไปเรียนอยู่ที่นั่นประมาณ 2,500 คน ฉะนั้นความร่วมมือนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ ผมก็ขอท่านว่าเยาวชนของเราทางภาคใต้ พื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อาจจะด้อยหน่อย ขอให้ท่านช่วยว่า หลังจากที่เขาเรียนทางด้านศาสนาแล้ว มีวิธีการอะไรไหมที่จะได้รับทุนและเรียนต่อ โดยที่ความสามารถเขาจะต้องถึง ในด้านสาขาอาชีพอื่น ๆ นั่นเป็นสิ่งที่ได้พูดกัน ท่าน Grand Iman ได้มีโอกาสลงไปทางใต้ และได้รับมอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านได้พูดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โทรศัพท์มาบอกผมว่า คำพูดของท่านดีมาก ท่านถามนักศึกษาหลังจากที่ได้ฟังแล้วเป็นอย่างไร นักศึกษาบอกว่าชัดเจน สิ่งที่ Grand Iman ได้พูดเป็นการกล่าวถึงหลักทางศาสนาอิสลามที่ชัดเจนในความคิดของเยาวชน คือ การอยู่ร่วมกันโดยสันติ ไม่มีการใช้ความรุนแรง ท่านที่สอง ท่านเป็นเลขาธิการสันนิบาตมุสลิมโลก ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน ไม่ได้เป็นองค์กรทางศาสนา เป็นองค์กรที่ดูแลในด้านของการพบปะของประเทศมุสลิมทั่วโลก ไม่ใช่เป็นเรื่องทางศาสนา
การให้การศึกษาแก่เยาวชนเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวในภาคใต้
ผู้ดำเนินรายการ ไม่ใช่ OIC
นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ เป็นสันนิบาตซึ่งถือได้ว่าเป็นภาคเอกชน แต่ผู้ที่เข้ามาบริหารเป็นระดับบุคคลซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัยในประเทศมุสลิมต่าง ๆ จากองค์กรนี้เองเป็นเรื่องของความช่วยเหลือประเทศมุสลิม ซึ่งเขาก็ช่วย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการศึกษา จากการพบปะกันทราบว่า สันนิบาตมุสลิมมีการช่วยเหลือในเรื่องของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งวิทยาลัยอิสลามที่อยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ได้รับความช่วยเหลือ วิทยาลัยอิสลามที่อยู่ที่ยะลาก็ได้รับความช่วยเหลือ ไม่ได้มากมาย ก็เป็นเงินสิบ ๆ ล้านบาทเท่านั้นเอง แต่นั่นคือการแสดงออกถึงความร่วมมือ แสดงออกถึงการสนับสนุนจากภาคเอกชน ท่านได้รับปริญญากิตติมศักดิ์อีกเช่นกันจากวิทยาลัยอิสลามที่ยะลา สันนิบาตนี้ตั้งอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ก็มีหน้าที่ที่จะช่วยดูแล ตรงจุดนี้เองท่านได้เห็นและเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาในระยะยาวของเราอยู่ที่การศึกษา การที่จะให้เยาวชนได้มีความรู้ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ และในด้านของศาสนาที่ถูกต้อง จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง คือความร่วมมือตรงนี้จะเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับเยาวชนของเรา ที่จะได้ไม่ต้องมีปัญหา ทั้งในเรื่องอาชีพและด้านความเชื่อ
ผู้ดำเนินรายการ เขาให้สัมภาษณ์สื่อของเราเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา เขาพูดถึงเรื่องที่เขาบอกว่า ถ้าจะให้เขาเป็นผู้ที่ช่วยในการเจรจาเพื่อจะนำไปสู่ความสงบ ความสมานฉันท์ ในภาคใต้ เขาก็ยินดี ฟังดูเหมือนกับว่ามีความเป็นไปได้ที่กำลังจะมีการเริ่มต้นการเจรจาหรืออย่างไรครับ
นายกรัฐมนตรี ในส่วนนี้เองได้มีการช่วยเหลือกันหลาย ๆ ฝ่าย เราเองเราก็พยายาม มิตรประเทศของเราก็พยายาม องค์กรภาคเอกชนอย่างที่ว่า ถ้าเผื่อเขาจะเข้ามาช่วยก็เป็นสิ่งที่ดี เราไม่ได้ขัดข้องเลย แม้กระทั่งองค์กรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติเอง ก็ยังเข้ามามีส่วนช่วย นั่นเป็นเรื่องที่ถือได้ว่าเราเองก็พยายามที่จะแสวงผู้ที่มาช่วยเหลือเราในเรื่องของการที่จะแก้ไขปัญหานี้ แต่การตกลงใจครั้งสุดท้ายอยู่ที่รัฐบาลว่า เราจะมีแนวทางอย่างไร ในขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูล การดูว่าศักยภาพของผู้ที่จะมาช่วยเรานั้น มีศักยภาพแค่ไหน ผู้ที่เราจะได้มีโอกาสพูดคุยด้วยนั้นเป็นใคร สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องไปถึงสิ่งที่คุณพิสิทธิ์ฯพูดถึงว่าทางมาเลเซียจะมาช่วยเราอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ ได้ยินเหมือนกันว่า ท่านเพิ่งคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเลเซีย และคงได้คุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในเดือนสิงหาคมด้วย ช่วงนี้ขอพักสักครู่หนึ่งครับ เดี๋ยวจะกลับมาสนทนากับท่านนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายครับ
มาเลเซียพร้อมร่วมมือแก้ปัญหาภาคใต้กับไทย
ผู้ดำเนินรายการ กลับมาที่บ้านพิษณุโลกอีกครั้ง ท่านนายกฯ ครับมาถึงเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซีย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียเพิ่งคุยกับท่านนายกฯ ไป ได้ยินมาว่าท่านต้องไปมาเลเซียในช่วงเดือนสิงหาคมถึง 3 ครั้งด้วยกัน แล้วมาเลเซียพูดอยู่ประโยคหนึ่งน่าสนใจตรงที่ว่า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เป็นปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น เป็นปัญหาของประเทศเขาด้วย ทำให้มีความหวังอย่างไรบ้าง
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของความร่วมมือระหว่างเรากับมาเลเซีย คงเป็นความร่วมมือในกรอบทวิภาคี เรามองในภาพรวมของกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน คำพูดที่ว่านั้น หมายถึงว่าถ้าเราแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา ปัญหาความรุนแรง ปัญหาที่เกิดความไม่สงบขึ้นมา ถ้าแก้ไม่ได้มาเลเซียเองก็ลำบากใจ เพราะในกรอบที่กว้างกว่านั้นในเรื่องของความร่วมมือระหว่างไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จะเป็นไปได้ลำบาก ฉะนั้นถ้าจะพูดกันแล้วในกรอบของอาเซียนเอง จะมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องของความรุนแรงทางพื้นที่ตอนใต้ของฟิลิปปินส์ พื้นที่เกาะสุมาตราในส่วนของ อาเจะห์ และในเรื่องของเรา ถ้าหากว่าทั้ง 3 ส่วนนี้ ซึ่ง 2 ส่วนนั้น เขามีผลในทางบวกค่อนข้างมาก เหลือพื้นที่ของเราที่ยังจะมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาตรงนี้ก็เป็นภาพรวมของอาเซียนว่าจะต้องช่วยกัน มีความเชื่อมโยงก็เป็นเรื่องของความผูกพันทางเชื้อชาติ ส่วนหนึ่งของเราถือว่าเป็นคนเชื้อชาติมาเลเซีย ความผูกพันนี้ก็เป็นอยู่ รัฐบาลมาเลเซียบอกว่าความผูกพันนี้เป็นอยู่ แต่ไม่สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่สนับสนุนให้มีการแยกตัวออกมา ทำอย่างไรที่จะอยู่ด้วยกันได้ นี่คือจุดยืนของมาเลเซีย
ความร่วมมือที่ดำเนินการต่อมาคือ เรามองเห็นเหมือนกันว่าระยะยาวการแก้ไขปัญหา คือการสร้างโอกาสให้มีการศึกษา ให้มีงานทำ ให้มีอาชีพ ซึ่งคนไทยก็ไปทำงานอยู่ในมาเลเซียปีหนึ่งอย่างน้อย ๆ 200,000 คนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำอย่างไรที่เราจะมาทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสที่จะทำมาหากินที่ดีขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะไปรับจ้างในร้านอาหาร นี่คือสิ่งที่ได้คิดร่วมกัน และเราจะเดินหน้าไปในด้านของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อย่างที่บอกแล้ว ส่วนระยะสั้นคือการที่จะหาทางเจรจาเพื่อให้เกิดความสงบขึ้นมาให้ได้ก่อน นั่นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องทำ ขณะนี้ทางมาเลเซียได้มีความก้าวหน้าในเรื่องของการที่จะหาทางเปิดการพูดคุย ซึ่งเราได้กำหนดแนวทางกันไว้ว่า ในส่วนของเราที่ได้ทำไป ในส่วนของมาเลเซียที่ได้ทำไป เราคงจะมาได้ข้อสรุปในการหารือในช่วงเดือนสิงหาคมว่า จะมาบูรณาการกันอย่างไร ตรงนี้จะเป็นส่วนที่ได้ข้อยุติ
สำหรับการเดินทางของผมไปมาเลเซียในช่วงเดือนสิงหาคมนั้น มีโอกาสต่าง ๆ กัน 3 โอกาสแรกคือในเรื่องของการประชุมซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพที่ลังกาวี โดยปกติแล้วเป็นเรื่องของกลุ่มประเทศเครือสหราชอาณาจักร ที่จะมาประชุมกัน แต่เขาเชิญเรา ผมก็บอกว่าไม่ขัดข้อง ถ้าเชิญผมก็อยากจะไปร่วมประชุมด้วย เพราะไม่ได้หนีจากกรอบพหุภาคีที่ว่าเลย ส่วนที่สองคือทวิภาคี ผมจะต้องพบกับท่านอับดุลลาห์ บาดาวี ของมาเลเซีย ก็เป็นเรื่องที่ได้หาทางที่จะพูดคุยกันอยู่แล้ว สุดท้ายเป็นงานเฉลิมฉลองวันเอกราชของมาเลซียในปลายเดือนคือวันที่ 31 สิงหาคม นั่นเป็นเรื่องที่ถือได้ว่าเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ผู้ดำเนินรายการ คิดว่าน่าจะเริ่มต้นมีการเจรจากับพวกแกนนำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเริ่มได้เมื่อไรครับ
นายกรัฐมนตรี ผมคงยังตอบไม่ได้ เพราะว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วนพอ เบื้องต้นเป็นในลักษณะอย่างที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า เราจะเป็นการพูดคุยกัน ยังไม่กำหนดกรอบว่าควรจะพูดในเรื่องอะไรบ้าง อย่างไร นั่นเป็นสิ่งที่เปิดไว้ในขณะนี้ ขอให้ได้มีโอกาสพูดคุยกันเท่านั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ มีการติดต่อกันบ้างหรือยัง
นายกรัฐมนตรี ครับ ทั้งทางเราและทางมาเลเซีย
ผู้ดำเนินรายการ ให้ติดต่อผ่านทางมาเลเซียหรือติดต่อโดยตรงกันบ้าง
นายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายก็ติดต่อตรงทั้งนั้น เราก็ติดต่อตรง ทางมาเลเซียก็ติดต่อกันตรง แต่ว่าเราต้องมาดูว่าทั้งสองสายจะมาบูรณาการกันอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ แสดงว่าพอรู้ว่าทางฝ่ายโน้นเขาอยากจะได้อะไร
นายกรัฐมนตรี ยังไม่ถึงขั้นนั้นว่าอยากได้อะไร
เปิดให้แสดงความคิดเห็นในร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ
ผู้ดำเนินรายการ มาดูกระแสที่เกิดขึ้นในบ้านของเรา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร คนเขามีความเข้าใจกันต่าง ๆ นานา บางคนมองว่าถ้ามีพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) มากขนาดนี้จะกลายเป็นว่าต่อไปจะมีนายกรัฐมนตรีสองคน นายกฯ ท่านหนึ่งก็บริหารประเทศ นายกฯ อีกท่านหนึ่งดูแลในเรื่องความมั่นคง
นายกรัฐมนตรี ในหมวดที่ 1 พูดไว้ชัดเจนว่าอำนาจที่มีการจัดสรรจะเป็นอย่างไร ผมสรุปได้สั้น ๆ ว่า คณะรัฐมนตรียังมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในเรื่องต่าง ๆ และส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรี พูดง่าย ๆ คือคณะรัฐมนตรีที่ดูแลและเป็นสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะไปเป็นคณะกรรมการที่กำหนดแนวทางให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ผมแบ่งตรงนี้ว่าในส่วนของการกำหนดนโยบายกับในส่วนของการปฏิบัติ จะแยกกันชัดเจน คือนำนโยบายไปปฏิบัติ นั่นเป็นส่วนที่สำคัญ ฉะนั้นการที่จะไปทำอะไรต้องอยู่ที่คณะกรรมการว่าจะกำหนดแนวทางอย่างไร ยินยอมไหม คณะกรรมการนั้นจะนำมารายงานให้กับคณะรัฐมนตรีได้ทราบว่านโยบายเป็นอย่างนี้ นั่นคือความสัมพันธ์ในด้านของนโยบายกับการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของกฎหมายเพื่อความมั่นคง ผมได้พูดไปเมื่อบ่ายวันนี้ว่า จุดที่เราเปิดโอกาสในขณะนี้คือ ต้องการรับฟังแก้ไขข้อปรับปรุงต่าง ๆ ซึ่งสามารถที่จะกระทำได้ในช่วงเวลา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาอยู่ เราอยากเห็นการเข้ามามีส่วนร่วม การให้ข้อคิดเห็น การติติงว่าควรจะปรับอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ ช่วงนี้ก็วิพากษ์วิจารณ์ได้
นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว ควรจะมีส่วนร่วมด้วย ส่วนร่วมที่ว่านี้เราก็เปิดช่องทางคือในส่วนของศูนย์รับฟังข้อคิดเห็นของรัฐบาล ที่ใช้คำว่า 1111 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รับได้ ส่วนที่สองถ้าหากว่าเป็นองค์กรซึ่งมีข้อคิดเห็น มีเอกสารต่าง ๆ ก็เสนอมาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเลย จะได้ช่วยกันปรับปรุง ผมอยากเห็นการทำงานร่วมกัน เพราะว่าไม่มีกฎหมายความมั่นคง เราก็จะแก้ปัญหาสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ และในโอกาสข้างหน้า ลำบาก อะไรที่พี่น้องประชาชนอยากเห็นและรับได้ เราต้องการเห็นสิ่งนั้น เราไม่ต้องการเห็นอะไรที่เอามาบังคับ โดยที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากพี่น้องประชาชน
การเพิ่มงบของกองทัพ
ผู้ดำเนินรายการ อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของงบทางทหาร บางคนมองว่าพอมีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ปีนี้หรือปีหน้างบทางด้านการทหารเพิ่มขึ้นสูงมากแสนกว่าล้าน ท่านนายกฯ จะอธิบายว่ามีความจำเป็นอย่างไร ถึงต้องเพิ่มงบประมาณมากอย่างนั้น
นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่ผมเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผมถูกตัดเนื่องจากมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่เราเรียกว่าฟองสบู่แตก งบทหารถูกตัดไปเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ เรารัดเข็มขัดกันมาตลอดเวลา จนกระทั่งปี 2550 ถึงได้เพิ่ม ช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ได้มีการเพิ่มเลย ซึ่งการที่ไม่ได้เพิ่มนั้นหมายถึงว่าเรามีแต่งบที่บริหารจัดการ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องการฝึก เรื่องการที่จะนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาไม่มีเลย เพราะฉะนั้นเราก็หยุด เท่ากับว่า เราถอดปลั๊กออก เขาก็อยู่แค่นั้นเอง ทีนี้ถ้าเผื่อว่าเราจะมองดูว่าสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปในอนาคต ในฐานะที่เราต้องมองเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเราไม่มีการปรับปรุงเลย และพูดถึงเรื่องความมั่นคง เราจะทำอย่างไร พม่าเองก็มีฝูงบินที่เรียกว่า เอสยู 30 เขาซื้อจากรัสเซีย เรามีอะไรไหม มาเลเซียก็กำลังปรับปรุง สิงคโปร์ซึ่งประเทศนิดเดียวเขาก็ปรับปรุงอย่างเต็มที่ นั่นคงไม่ต้องพูดถึงว่า เราจะปรับปรุงในส่วนของเราอย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเงินแล้วก็ซื้อได้ ต้องคิดและวางแผนล่วงหน้า อย่างน้อย ๆ เป็นความต่อเนื่อง 5 ปี ต้องมีความผูกพัน 5 ปี นั่นคือสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำ ที่เพิ่มขึ้นมาถ้าดูในรายละเอียดจะเห็นว่า ส่วนหนึ่งไปในเรื่องของการแก้ไขปัญหาทางภาคใต้ ต้องทุ่มลงไปพอสมควรในเรื่องของความมั่นคง ถ้าหากเราไม่แก้ไข เราก็ปล่อยให้เรื่องนี้คาราคาซังต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ มีคนว่าอีกเหมือนกันว่าทุ่มงบประมาณลงไปทางภาคใต้ แต่ว่าเม็ดเงินจริง ๆ ส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินเดือน สวัสดิการของข้าราชการ เม็ดเงินที่จะไปถึงเรื่องของการแก้ปัญหาจริง ๆ อาจจะมีน้อย
นายกรัฐมนตรี คงไม่ได้น้อย เพราะเรามีการเพิ่มคน เพิ่มข้าวของที่ลงไปทำงานในเรื่องของการพัฒนา ถ้าพูดกันถึงตรงจุดนี้แล้ว ผมบอกได้เลยว่าในงบทางทหารของเราที่จะไปพัฒนาที่จะไปลงทุนที่จะไปปรับปรุงมีไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่จะต้องใช้ไปในเรื่องของการบริหารจัดการ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือปัญหาของเรา ซึ่งจำเป็นจะต้องหาทางแก้ไข ระบบราชการของเราขณะนี้เป็นอย่างนี้ แม้แต่งบของประเทศไทยก็คืองบลงทุนประมาณไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นงบบริหารจัดการ ในภาพรวมเป็นอย่างนั้น กองทัพก็อยู่ในตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน ฉะนั้นจะพูดถึงว่าเราจะปรับให้ดี ก็จะต้องมีการผูกพันงบประมาณ เพราะทำทีเดียวไม่ได้ ตัวเลขเหมือน ๆ กันเลย
ผู้ดำเนินรายการ อีกเรื่องที่เขาบอกว่ากองทัพก็มีงบประมาณเพิ่มขึ้น แล้วทำไมยังต้องไปขอเงินจากรัฐวิสาหกิจเพื่อจะเอามาซื้อยุทโธปกรณ์บางประเภท เพื่อใช้ในการดูแลเรื่องความมั่นคง อย่างกรณีจะไปซื้อเครื่องดักฟังโทรศัพท์ 800 ล้านบาท ท่านนายกฯ เห็นด้วยไหมครับ
นายกรัฐมนตรี เรื่องของกระทรวงกลาโหม แต่ถ้าหากว่าในส่วนของบริษัทมหาชนต่าง ๆ ถ้าต้องการจะช่วยก็อยู่ที่การพูดจากัน ผมไม่ได้จำกัดในเรื่องเหล่านั้น แม้แต่ในเรื่องทางภาคใต้เอง ผมก็ขอความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ในขณะนี้ผมมีเงินที่ไปช่วยเยียวยาโดยตรงต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ต่อผู้บาดเจ็บ ซึ่งผมสั่งจ่ายได้ทันที นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ผมอยากจะเรียนว่า เราจำเป็นที่จะต้องทำเพราะไม่อย่างนั้นถ้าจะรอในส่วนราชการ เป็นไปไม่ได้จริงๆ เป็นเรื่องที่ลำบาก พูดแล้วก็เหมือนกับว่าไม่เต็มใจช่วย เพราะจำนวนน้อยมากเหลือเกิน ถ้าเป็นเรื่องของทางราชการ จำนวนเป็นหมื่น ที่ผมได้ตัดสินใจทำจำนวนเป็นแสน ที่ไปช่วยเยียวยาเขาได้ อย่างน้อย ๆ ในช่วงที่ครอบครัวเขาระส่ำระสาย ไม่มีผู้นำ ขาดหัวหน้าครอบครัว จะได้เยียวยาในช่วงระยะเวลานี้ได้
ใช้ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขแก้ปัญหายากจนอย่างยั่งยืน
ผู้ดำเนินรายการ เรื่องทางด้านของคนจน มีนักวิชาการเขาวิจารณ์ไว้ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาเหมือนกัน เขาบอกว่ามีนโยบายดี ๆ หลายอย่าง และเป็นที่ยอมรับกัน ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังยากจน แต่พอเปลี่ยนมาเป็นขณะนี้ ดูเหมือนว่าการดูแลปัญหาความยากจนจะไม่ค่อยได้รับความสำคัญเท่าไร ท่านนายกฯ ยังยืนยันว่ายังดูแลคนจนไหมครับ
นายกรัฐมนตรี แน่นอน เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ แต่เราดูในลักษณะที่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคือยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ซึ่งเราจะแก้ปัญหาในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ชุมชนที่ว่านี้คือชุมชนระดับหมู่บ้าน สูงขึ้นมาอีกนิดหนึ่งคือ องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเขามีงบประมาณในส่วนของเขา ขณะนี้รัฐบาลได้นำยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขลงไปช่วยชุมชน ช่วงปี 2550 ขณะนี้ใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 5,000 ล้านบาท ที่จะให้ชุมชนได้เข้ามาดูโครงการของตัวเอง และเอาเงินไปบริหาร โดยที่ทางฝ่ายรัฐเป็นพี่เลี้ยง เมื่อสักครู่นี้ผมประชุมและได้อนุมัติเงินเพิ่มลงไปอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อที่จะช่วยในระยะเวลา 2-3 เดือนที่เหลืออยู่นี้ ที่จะลงไปสู่หมู่บ้าน โครงการคืบหน้าไปได้ด้วยดี ผมคิดว่าในปีหน้า 2551 เราได้ตั้งงบประมาณเพื่อจะให้โครงการมีความต่อเนื่องต่อไปอีก นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะทำให้กระบวนการสร้างความเข้มแข็งในระดับหมู่บ้าน โดยที่เขามีชุมชนซึ่งมีผู้นำโดยธรรมชาติอยู่แล้ว มาเป็นส่วนที่จะทำให้หมู่บ้านของเขามีความก้าวหน้า เราไม่ได้เอาเงินไปแจก แต่ว่าเราเอางบประมาณลงไป เพื่อให้แก้ปัญหาในหมู่บ้านจริงๆ หมู่บ้านที่เขามีความเดือดร้อน ไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณของ อบต. ไม่ซ้ำซ้อนกับงบของส่วนราชการที่จะลงไป นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น ความเข้มแข็งตรงนี้คงไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของความยากจนอย่างเดียว แต่เขาจะเริ่มคิดเอง ทำเอง บริหารเอง มีความเชื่อมั่นว่าเขาดูแลหมู่บ้านของเขาได้
การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4-4.5
(ยังมีต่อ)