นายกรัฐมนตรีเปิดใจในรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก”

ข่าวกฏหมายและประกาศ Saturday May 12, 2007 14:47 —สำนักโฆษก

          วันนี้  เวลา  08.30 น. ณ บ้านพิษณุโลก พลเอก สุรยุทธ์  จุลานนท์  นายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เป็นครั้งแรก โดยมีนางฟองสนาน จามรจันทร์  เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ถึงการทำงานของนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ผ่านมาและสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ รวมทั้งประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน   
การตัดสินใจบวชหลังเกษียณอายุราชการ
คำถาม จริงหรือไม่ที่มีกระแสข่าวว่านายกรัฐมนตรีจะบวชไม่สึก อยู่ช่วงหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี ผมคิด ในส่วนตัวของผมเอง เนื่องจากผมตั้งใจว่าจะศึกษาและจะปฎิบัติในส่วนของทางศาสนาพุทธในบั้นปลายของชีวิต เป็นเรื่องที่ย้อนกลับไปได้ว่า ผมได้คุยกับภรรยาในช่วงที่แต่งงานใหม่ ๆ บอกว่าผมมีความตั้งใจที่จะศึกษาและปฏิบัติในทางศาสนา ก็เป็นข้อตกลงระหว่างสามีกับภรรยาว่า อย่างน้อยเมื่อผมเกษียณอายุราชการแล้ว ก็ขอบวช นั่นเป็นข้อตกลง เมื่อใกล้ ๆ ที่จะเกษียณก็คุยกันเรื่องนี้ ภรรยาผมบอกว่ารู้สึกจะเอาเปรียบที่อยู่ในชีวิตคู่ด้วยกันมา พอมาถึงช่วงสุดท้ายก็บอกว่าจะไปอาศัยพึ่งผ้าเหลือง ถ้าอย่างนั้นก็คงไม่ดี ผมก็ต่อรองว่าขอเป็นสัก 2 พรรษา ทดลองดูก่อน ภรรยาก็ยอม เมื่อผมเกษียณก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นองคมนตรี ผมก็ไม่นึกว่าจะได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เมื่อต้องทำหน้าที่ผมยังตั้งใจว่าอยากจะบวช เมื่อวันที่ผมเข้าไปถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่าแล้วจะบวชเมื่อไร ได้กราบบังคมทูลว่าข้าพเจ้าขอบวชพรรษานี้ และได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลลาอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้พระราชทานอนุญาตให้ผมไปบวช นั่นคือที่มาของการบวชว่าเหลือเพียง 1 พรรษา
คำถาม คาดว่าจะเป็นอรหันต์หรือ เพราะถ้าอยู่แบบธรรมดายังสามารถที่จะเป็นโสดาบันได้ เป็นสกทาคามีได้
นายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ในฐานะที่เป็นคนที่นับถือศาสนาพุทธ อยากจะได้มีโอกาสได้ศึกษาอย่างจริงจัง แล้วมีโอกาสปฏิบัติบ้าง คำที่ว่าศึกษาอย่างจริงจังนี้หมายถึงว่า ส่วนสำคัญที่พระพุทธเจ้าท่านได้มอบให้พระอานนท์ไว้ พระอานนท์ก็ถามพระพุทธเจ้าบอกว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว จะให้ถืออะไร ท่านบอกว่าคำสอนของพระพุทธองค์ที่จะเป็นสิ่งที่ทดแทน นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะเรียนว่าผมใช้เวลาว่างที่มีอยู่ในช่วงกลางวัน ในการศึกษาเกี่ยวกับพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นฉบับย่อและแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้ง่าย เพราะว่าผมไม่ได้เรียนบาลี ไม่มีความรู้ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสได้ศึกษา ก็เป็นจุดที่ทำให้เข้าใจได้นิดหน่อย ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจมากนัก แต่อย่างน้อย ถ้าพูดกันในแง่ของคนทั่ว ๆ ไปคือ ผมได้มีโอกาสขึ้นไปเดเดินอยู่บนเส้นทางที่ถือว่าเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์
การบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ใน รธน.
คำถาม คือพระปฏิบัติสายภาคอีสาน ซึ่งจะเคร่งกันมาก ในเมื่อพระอานนท์บอกว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์จะเป็นที่พึ่ง ท่านคิดอย่างไรกับการที่มีการรณรงค์เพื่อที่จะให้การบรรจุพุทธศาสนาไว้เป็นศาสนาประจำชาติ ในขณะนี้
นายกรัฐมนตรี ในประเด็นนี้อยู่ที่การพิจารณาของแต่ละบุคคล เพราะเป็นความเห็นของแต่ละบุคคล ในพระไตรปิฎกฉบับย่อที่ได้กล่าวเมื่อสักครู่ ถ้าท่านเปิดไปหน้าที่ 402 จะเจอพระสูตรบทหนึ่ง ที่พระราชทานให้กับอภยราชกุมารว่า การที่จะพูด ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือว่าเป็นสิ่งที่ไม่จริง ต้องมีการพิจารณา เมื่อจะพูดแล้วต้องคำนึงว่าเหมาะกับเวลาไหม พูดแล้วจะเกิดประโยชน์ไหม พูดแล้วจะเหมาะกับผู้ฟังไหม พระพุทธองค์สอนไว้หมดแล้วว่า จะพูดในเรื่องใดนั้นจะต้องคิดให้รอบคอบว่าพูดแล้วเกิดประโยชน์ไหม นี่คือคำตอบของผมต่อคำว่า พระพุทธศาสนาควรจะมีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นความเห็นของแต่ละบุคคล ซึ่งผมคงไม่ก้าวล่วงความคิดเห็นของแต่ละบุคคล
คำถาม พระพุทธศาสนาจริง ๆ และประจำชาติเรา เพียงแต่จะบัญญัติไว้หรือไม่บัญญัติไว้ การปฏิบัติของคนก็ไม่เหมือนกัน พระก็มีหลายระดับ ทีนี้ปรากฎการณ์ของจตุคามรามเทพที่กำลังกระหึ่มไปทั่วประเทศ ท่านมองอย่างไรในฐานะที่เป็นพระป่าและอยู่ในสายพระปฏิบัติ
นายกรัฐมนตรี คงไม่ได้เป็นเรื่องที่ถือว่ามีข้อขัดแย้งอะไรมากมาย เพราะว่าถ้าเราดูความเป็นมาของพุทธศาสนาในประเทศไทยแล้ว เราก็มีในเรื่องของประเพณี เรื่องของความนิยมของท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากในประเทศอื่น ๆ หลาย ๆประเทศเหมือนกัน ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับประเทศที่นับถือในส่วนเถรวาทเหมือนกัน อย่างพม่า กัมพูชา ศรีลังกา ก็มีข้อแตกต่าง ขึ้นอยู่กับประเพณีของท้องถิ่น ในเรื่องของความเชื่อที่นอกเหนือจากพุทธศาสนา ก็เป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องพิจารณาเอง อย่างที่ผมได้เรียนแล้วว่า เมื่อศึกษาทางด้านพุทธศาสนามานิด ๆ หน่อย ๆ ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เราควรจะประพฤติปฎิบัติตาม คือคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงสั่งสอนให้เราพิจารณาถึงเหตุที่มา และผลที่จะเกิดขึ้น พิจารณาหลายครั้ง บางครั้งพิจารณาจากเหตุไปหาผล บางครั้งพิจารณาจากผลมาหาเหตุ ทบทวน นั่นเป็นสิ่งที่ท่านสั่งสอน ท่านสอนแม้กระทั่ง อย่างที่เราทราบกันดีว่า อย่าเพิ่งเชื่อ ถึงแม้ว่าครูสอน ขอให้คิดให้ดีก่อน นั่นเป็นสิ่งที่ทรงสั่งสอนว่า เราจะต้องคิดก่อน เราจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ หลังจากนั้นก็เป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคล ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่ผมเรียนว่า เป็นศาสนาของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะในส่วนของเถรวาท เราพูดกันว่าเป็นปัจเจก
กระแสจตุคามรามเทพ
คำถาม ในส่วนของรัฐบาลกำลังจะได้ภาษีจากการจัดสร้างจตุคามรามเทพ และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจในภาคใต้ฮือฮามาก เครื่องบินที่เดินทางไปนครศรีธรรมราช ต้องเพิ่มเที่ยวบิน ในส่วนของประชาชน ส่วนหนึ่งต้องมองเหมือนกันว่าถึงแม้จะเป็นสิทธิเสรีภาพในการนับถือ แต่ว่าท่านห่วงประชาชนที่จะเป็นเหยื่อของการปั่นราคา ถ้าหากว่ากระแสจตุคามรามเทพอยู่ในขาลง ประชาชนจะเดือดร้อนหรือไม่
นายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ผมเรียน มีอะไรที่ขึ้น ก็ต้องมีลง เป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้แล้ว อนิจจังไม่เที่ยง เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน ชาวบ้านต้องคิด ถ้าท่านเป็นคนพุทธ ท่านต้องคิดว่ามีอะไรขึ้นก็ต้องมีลง เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อราคาขึ้นไป ต้องนึกว่าวันหนึ่งราคาต้องลง เราก็คงได้เห็นในเรื่องเหล่านี้มาพอสมควรในช่วงชีวิตของเรา สมัยผมเด็ก ๆ มีเรื่องของแก้ว ที่เรียกว่า โป่งคาม ซึ่งก็ขึ้นเหลือเกิน ขึ้นไปพักหนึ่ง พอตกทุกคนก็ทิ้งไม่มีราคา นั่นก็เป็นธรรมดา อย่างที่ผมเรียนว่าขอให้ทุกท่านได้ยึดถือแนวทางที่รัฐบาลได้พยายามที่จะนำเสนอ ก็เป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน ท่านพระราชทานว่า การที่จะทำสิ่งใด พิจารณาที่จะดำเนินการสิ่งใดดูด้วยเหตุด้วยผลให้รอบคอบ และอยู่ในฐานะที่เราควรจะรับได้ไหม ถ้าเผื่อว่าเกินไป ผมคิดว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เราจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา ยิ่งในสมัยปัจจุบันโลกของเราแคบลง ทุกอย่างสามารถที่จะหมุนเวียนและออกมาเป็นราคาเป็นค่าของเงินได้ทั้งนั้น เราก็จำเป็นจะต้องดูกันในส่วนนี้ให้รอบคอบ
การใช้แนวทางสมานฉันท์แก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
คำถาม นโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาล ตอนนี้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการสมานฉันท์กับคนดี แต่ไม่สมานฉันท์กับคนไม่ดี แต่ชาวบ้านถูกฆ่าตายทุกวัน คำถามที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ติดใจคือนโยบายสมานฉันท์นี้ได้ผลจริงหรือเปล่า
นายกรัฐมนตรี ตรงนี้คงต้องแยกแยะคือพูดถึงแนวคิดหรือนโยบายในส่วนของรัฐบาล อย่างศัพท์ที่ชอบพูดกันในขณะนี้คือ แนวคิดในระดับยุทธศาสตร์ คือเป็นนโยบายในระดับชาติ ถ้าเราจะถามว่าเราจะสร้างความรัก ความสามัคคี ขึ้นในชาติของเราจะดีไหม หรือว่าเราจะใช้วิธีปราบปรามคนในชาติของเรา ซึ่งเขาอาจจะต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรม ประเพณี ต่างภาษา และปราบปรามด้วยวิธีการรุนแรง เราจะใช้วิธีไหนถึงจะทำให้ชาติบ้านเมืองของเรา เกิดความเป็นปึกแผ่นขึ้น นี่คือเรื่องของยุทธศาสตร์ ส่วนในเรื่องของทางยุทธวิธี ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องดูแลความสงบให้ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่ เขาพยายามที่จะทำอยู่ในขณะนี้ คำว่า “พยายาม” หมายถึงว่า เราต้องดูว่ากำลังเจ้าหน้าที่ไม่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เรามีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ที่เราต้องการในระดับพื้นที่หรือยัง ที่ผมลงพื้นที่มาในช่วง3-4 เดือน ก็เห็นความไม่พร้อมของเรา ไม่ว่าจะในส่วนของทางการปกครอง ไม่ว่าจะในส่วนของด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะในเรื่องของการศึกษา จนกระทั่งตำรวจเอง ก็ขาดจำนวนคนพอสมควร นายตำรวจชั้นประทวนประมาณ 3,000 คน ชั้นนายร้อยประมาณ 400 คน ทางผู้บัญชาการทหารบกก็บอกว่าคงจำเป็นที่จะต้องเพิ่ม เพื่อให้ดูแลความสงบให้มากขึ้น ถามว่าทำไมนะครับ เราคงจะต้องตอบว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเขาก็พยายาม พยายามที่จะต่อต้าน พยายามที่จะทำให้สิ่งที่เราเสนอไปนั้นไม่เป็นผล เพราะความมุ่งหมายของเขา ๆ มุ่งหมายอีกด้านหนึ่ง คือเขามุ่งหมายที่จะทำให้เกิดความแตกแยก ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม จะด้วยวัฒนธรรม ประเพณี ด้วยความเชื่อ อะไรที่เขาพยายามจะทำให้เกิดความแตกแยกได้ เขาจะพยายามอย่างยิ่ง ฉะนั้นเราต้องดูว่าวิธีการที่เราจะดำเนินการต่อไป เราสามารถที่จะยึดถือแนวทางตรงส่วนนี้ไว้ได้ และได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้มีความเชื่อในลักษณะที่เป็นฝ่ายตรงข้ามนั้น จะให้ความร่วมมือกับเราหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นช่วงที่สำคัญ
ปัจจัยอีกอันหนึ่งที่ผมอยากจะยกขึ้นมาคือ ในเรื่องของเวลา ปัญหาความขัดแย้งความแตกแยกในชาติของเรานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เกิดขึ้นมานานแล้ว เท่าที่ผมจำได้ คิดว่าผมเป็นเด็กนักเรียนหรือยังไม่ได้เข้าโรงเรียนด้วยซ้ำไป ตั้งแต่สมัยฮะยีสุหลง ก็เป็นเรื่องที่มีขึ้นและก็มีลง อย่างที่ผมได้เรียนมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันถ้าเผื่อเรามองดูว่า เราจะหาทางแก้ไขอย่างไร ผมคิดว่าในเรื่องของนโยบาย ในเรื่องทางยุทธศาสตร์ คงเป็นเรื่องที่เราจะต้องสร้างความสามัคคีขึ้นมาในชาติบ้านเมือง
คำถาม ยุทธศาสตร์ยังสมานฉันท์ต่อ ยุทธวิธีจะมีการปรับหรือไม่
นายกรัฐมนตรี อย่างที่ผมเรียนแล้วว่า ในส่วนทางยุทธวิธีนั้น เรามุ่งที่จะดูแลในเรื่องของความสงบ รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนให้ได้ แล้วสามารถที่จะสร้างความเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมมือกับเรา แล้วมีโอกาสที่จะสร้างงาน มีโอกาสที่จะให้การบริการ มีโอกาสที่จะให้การศึกษากับเยาวชน เพื่อให้เป็นคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เขามองเห็นว่าโอกาสข้างหน้ายังมีสำหรับเขา
คำถาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการของการปิดถนน อย่างที่เบตงไม่มีน้ำมันใช้ และประเด็นการฆ่ารายวันเป็นการแสดงส่งสัญญาณออกมาหรือเปล่าว่า อำนาจของรัฐส่วนกลางย่อหย่อนและคุมไม่ได้แล้วในพื้นที่
นายกรัฐมนตรี เขาก็พยายามทำ
คำถาม แล้วเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถ้าท่านประเมินด้วยตัวเอง
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าคงไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นจริง ถ้าหากว่าพี่น้องประชาชนมีโอกาสลงไปจะเห็นว่าเหตุที่เกิดขึ้นจะมีพื้นที่ ซึ่งถือว่าฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้น เขามีอิทธิพลอยู่ เขาก็จะพยายามเข้ามาทำอยู่ในพื้นที่ที่เขามีอิทธิพล เหตุที่เกิดคงอยู่ในบริเวณย่านเหล่านั้น ถ้าเราดูในแผนที่มาดูว่าเหตุเกิดตรงไหน เราจะเห็นว่ามันเกิดขึ้นซ้ำอยู่ในบริเวณเหล่านั้น นั่นเป็นพื้นที่ที่เขามีอิทธิพล เราคงจะต้องพยายามในเบื้องต้น คือ ดูแลพื้นที่ส่วนที่เป็นส่วนสำคัญ เช่น บริเวณตัวเมือง ตัวอำเภอ ให้มีความปลอดภัย แล้วต่อไปค่อย ๆ คืบหน้าเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นชนบทกันต่อไป
คำถาม โดยภาพรวมเมื่อเกิดเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์รุนแรงภาคใต้ คนไทยจะมองตากัน และถามคำถามว่าอนาคตของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไร ในใจของท่านในฐานะนายกรัฐมนตรี ท่านพอให้คำถามได้ไหม
นายกรัฐมนตรี ผมมีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถที่จะสร้างความสามัคคีขึ้นมาในชาติบ้านเมืองของเราในอนาคตได้ ไม่ว่าที่ไหนในโลก ในขั้นสุดท้ายจะต้องยุติลงด้วยการเจรจา ยุติกันด้วยการที่จะหาทางแก้ไขปัญหาในลักษณะที่ถือได้ว่ามีการเจรจา มีการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ไม่มีที่ในพื้นที่ใดที่จะใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหาแล้วจะได้ข้อยุติ
คำถาม เริ่มเจรจาหรือยัง เพราะเห็นเริ่มมีการติดต่อกันบ้างแล้วในการดึงทางโน้นทางนี้มาช่วย
นายกรัฐมนตรี ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้พยายามตั้งแต่เบื้องต้น ก็ไม่ใช่ในส่วนของผมเพียงอย่างเดียว มิตรประเทศเขาก็พยายามช่วยเรา เขาเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร
คำถาม ท่านยืนยันเลยว่าอย่างที่ชาวบ้านกลัวว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลุดไปไม่ใช่ ๆ ไหม
นายกรัฐมนตรี อยู่ที่การกระทำของเราด้วย ผมคิดว่าอย่างที่ผมยกตัวอย่างขึ้นมา ถ้าเผื่อเราตอบโต้ด้วยวิธีการรุนแรง หมายถึงว่า ทำเหมือนกับว่าเราเป็นคนละส่วนกัน เราไม่ได้เป็นคนไทยด้วยกัน ถ้าเราไม่ยอมรับในส่วนของความเป็นไทยด้วยกันแล้ว ตรงนี้จะรุนแรงมาก ก็เหมือนกับว่าอย่างที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น สมัยสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ เข้าไป เขาก็บอกว่าเป็นเวียดกง เป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นเขาทำอะไรได้ เขาก็ใช้วิธีการรุนแรง ผลออกมาก็เห็นชัดว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะจิตใจของประชาชนได้ด้วยวิธีความรุนแรง สิ่งที่จะแก้ไขได้ขณะนี้ถ้าย้อนกลับไปดูในเวียดนาม สหรัฐฯ กลับเข้าไปใหม่ แต่เขากลับไปด้วยการทำความเข้าใจ การเจรจา เขาไม่ได้ไปด้วยเอ็ม 16
คำถาม สิ่งที่ท่านพูดอิงตำราพิชัยสงครามของซุนวูหรือไม่ ชัยชนะที่ดีที่สุดคือชัยชนะด้วยการเจรจา
นายกรัฐมนตรี คงไม่ได้เป็นตำรา ผมว่าเป็นความเป็นจริง ที่สามารถพิสูจน์ได้
ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
คำถาม กลับมาพบกับเจ้าของบ้านพิษณุโลกชั่วคราวที่เปิดบ้านให้เราวันนี้ ที่ว่าชั่วคราวคือท่านคงไม่เป็นนายกรัฐมนตรีตลอดใช่ไหม
นายกรัฐมนตรี แน่นอนครับ
คำถาม เห็นว่าท่านเตรียมใจตามวาระ
นายกรัฐมนตรี ตามวาระ
คำถาม ไม่ออกก่อนแน่นอน
นายกรัฐมนตรี ไม่ออกก่อนครับ
คำถาม ตอนนี้แรงกดดันเยอะไหม
นายกรัฐมนตรี มีอยู่เป็นระยะ ๆ ก็เป็นเรื่อง ๆ
คำถาม แล้วทำใจอย่างไร ทำใจอย่างที่ท่านพุทธทาสบอกหรือเปล่าว่าเป็นไปอย่างนั้นแหละ
นายกรัฐมนตรี ก็เป็นธรรมดาของความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทุกคนก็มีจุดมุ่งหมาย มีผลประโยชน์ของตัวที่วางไว้เป็นระยะ ๆ ถ้าหากว่าไม่สอดคล้อง ก็ต้องมีแรงกดดันเป็นธรรมดา
คำถาม ถ้าท่านพูดเรื่องกลุ่มผลประโยชน์มีอยู่หนึ่งกลุ่มที่อยากให้ท่านลาออกและเคลื่อนไหวกันตอนนี้ รู้สึกว่าจะเคยสนับสนุนให้ท่านขึ้นมาด้วย แต่บางกลุ่มที่เคยไล่ท่านกลับอยากให้ท่านอยู่ ท่านแปลกใจไหม
นายกรัฐมนตรี ถ้าพูดถึงว่าแปลกใจไหม แปลกใจ เพราะว่าทราบพอเป็นเลา ๆ ว่าแต่ละส่วนนั้นมีเป้าหมาย มีผลประโยชน์อะไรบ้าง คงไม่สามารถที่จะลงไปในรายละเอียดได้ เดี๋ยวเขาหาว่าผมไปหมิ่นประมาทเขา
คำถาม ทีนี้แรงกดดันจะมาทั้งสนับสนุน ทั้งอยากให้ไป ท่านตัดสินที่ตรงไหน เพราะถ้าพูดกันเรื่องการเมืองก็คือเรื่องของผลประโยชน์
นายกรัฐมนตรี ตัดสินอยู่ที่ในส่วนของประชาชน เป้าหมายอยู่ที่ว่าทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์ให้มากที่สุด
คำถาม ณ วันนี้ท่านประเมินแล้วว่า ถ้าท่านอยู่ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า
นายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าที่จะช่วยกันดูแลในการทำกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ผ่านช่วงเวลาไป แล้วมาช่วยกันลงประชามติ
คำถาม แล้วจะบอกกลุ่มสมัชชาประชาชนภาคอีสานหลาย ๆ จังหวัดว่าอย่างไร
นายกรัฐมนตรี อย่างที่ผมเรียนว่าผมก็รับฟังและพิจารณา แต่ว่าการพิจารณาของผม อาจจะไม่เหมือนกับการพิจารณาของเขา
คำถาม อะไรที่จะเป็นฟางเส้นสุดท้าย ถ้าท่านจะตัดสินใจในเรื่องนี้ เพราะว่าแรงกดดันคาดว่าจะยังมาอีกเป็นระยะ ๆ
นายกรัฐมนตรี ฟางเส้นสุดท้ายนี้เป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นกฎกติกา คือเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ผมได้รับการฝึกมาให้เคารพในกฎ กติกา มารยาท เพราะฉะนั้นถ้ามากฎ กติกา มารยาท แล้ว ผมปฏิบัติตามหมด
คำถาม ดูเหมือนว่าจะมีกระแสปล่อยออกมาว่าอาจจะมีทหารเก่าบางส่วนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาเพื่อที่จะกดดันท่านให้ออก ท่านมองประเด็นนี้อย่างไร ถ้าเพื่อนทหารเก่ากลับมาเล่นงานท่านเอง
นายกรัฐมนตรี ทหารเก่า ก็ต้องดูว่ามีเป้าหมาย มีผลประโยชน์อะไรบ้าง ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ามองกันถึงความเกี่ยวพันในปัจจุบัน ก็เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนหนึ่ง คงไม่ได้มีความเชื่อมโยงถึงอดีตที่ผ่านมามากนัก
คำถาม จริงๆ แล้วท่านจะบอกว่าจะตัดสินที่ผลประโยชน์ของประชาชน เพราะประชาชนได้ประโยชน์แล้วท่านจะอยู่ต่อ ถ้าไม่ได้ประโยชน์ ท่านจะไม่อยู่ต่อ คล้าย ๆ จะบอกอย่างนั้นใช่ไหม
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ ที่ผมอยากจะเน้นคือ ผมอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าที่จะทำให้กับกลุ่มส่วนน้อย ๆ
คำถาม กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม
นายกรัฐมนตรี ส่วนน้อย ๆ
คำถาม ท่านยืนยันว่ากดดันอย่างไร ถ้าเป็นของกลุ่มผลประโยชน์น้อย ๆ ท่านจะไม่ยอม พอบอกชื่อได้ไหม
นายกรัฐมนตรี ไม่ได้หมายความว่าไม่ยอม หมายถึงว่าการที่จะดำเนินการในสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น ต้องดูว่าสิ่งที่เขาเสนอมา มีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด อย่างที่ผมเรียนมาตั้งแต่ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือสิ่งที่ผมอยากจะแนะว่า ใช้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะทางด้านการเมือง ไม่ว่าจะใช้กับชีวิตส่วนตัว ถ้าเอาไปพิจารณาให้ดี เราจะเห็นว่าได้พระราชทานสิ่งที่มีคุณค่า ไม่มีขึ้น ไม่มีลง ใช้ได้ตลอดไป
การปรับคณะรัฐมนตรี
คำถาม แล้วทำไมปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลท่าน มีแต่เข้า ไม่มีปรับออก ผิดธรรมชาติ ผิดหลักศาสนาหรือเปล่า และประเด็นคล้าย ๆ กับว่าท่านนายกฯ ปฏิเสธความต้องการของประชาชน ที่อยากจะให้ ครม.ของท่าน active มากกว่านี้ เพราะดูเหมือนว่า ครม.จะเฉื่อยกันไปหรือเปล่า
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าคงจะต้องมองดู มองจากด้านนอกกับมองจากด้านใน ผมคิดว่าผมดูจากด้านใน แล้วฟังเสียงจากด้านนอก ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงการทำงานภายในระยะเวลา 1 ปี คงเรียนได้ว่า 3 เดือนแรก เราเอาของเก่าของรัฐบาลที่แล้วคืองบประมาณปี 2550 มาพิจารณาปรับใหม่ นำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วเริ่มใช้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550 3 เดือนหลังจากนั้น นำสิ่งที่เราได้ปรับปรุงแก้ไข นำออกไปให้เป็นการปฏิบัติ 6 เดือน ถามว่าช้าหรือไม่ นั่นเป็นเรื่องที่อยากจะบอกให้กับประชาชนว่า เราดูว่าสิ่งที่รัฐบาลที่ผ่านมาได้วางโครงการไว้ มีอะไรที่ควรจะทำต่อบ้าง ผมเป็นคนหนึ่งที่เคารพในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำในสิ่งที่ดีแล้ว เราจะสานต่อ อะไรซึ่งอาจจะมีความบกพร่อง อะไรที่อาจจะดูแล้วภาพไม่โปร่งใส เราก็จะปรับและแก้ไข
คำถาม มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท่านเป็นทหาร ท่านไม่ทิ้งเพื่อน แม้กระทั่งท่านพานักข่าวไปเดินป่า นักข่าวโดนกระทิงขวิด ท่านก็บอกว่าเราไม่ทิ้งกัน ทหารเขาไม่ทิ้งเพื่อน จุดนี้หรือเปล่า ท่านถึงไม่ปรับ ครม. ออกเลย ทั้งที่บางคนอาจจะเป็นเกียร์ว่าง เกียร์ถอยหลัง
นายกรัฐมนตรี คงไม่ได้เป็นเกียร์ว่าง เกียร์ถอยหลัง ผมได้ติดตามดูทุก ๆ กระทรวง อย่างที่เห็นพอตอนนี้งานเริ่มมากขึ้น แทนที่จะอยู่ในกระทรวงที่จะทำในเรื่องเกี่ยวกับโครงการ ตัวหนังสือตัวเลข เราก็ต้องออกไปดูที่เราได้แบ่งมอบให้ในส่วนข้าราชการไปทำนั้น เขาไปทำอะไรบ้าง ตามที่เราว่าไหม
จัดอันดับ 5 รัฐมนตรี
คำถาม รัฐมนตรีท่านใดที่ทำงานและเข้าตาท่านตอนนี้ ที่ท่านสรุปออกมา เราไม่พูดถึงคนอื่น เพราะว่าทุกคนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านหมด ใครที่ประทับใจพอยกตัวอย่างสัดนิดหนึ่ง ขอสัก 5 อันดับ
นายกรัฐมนตรี ท่านแรกที่ผมอยากจะพูดถึงคือในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ นั่นเป็นงานที่ผมถือว่าทำได้ค่อนข้างดีมาก ส่วนที่สอง ที่อยากจะพูดถึงคือภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ต่าง ๆ มีรองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ดูแลอยู่ ส่วนที่สาม คือรองนายกรัฐมนตรี (นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) ดูแลอยู่ในภาคสังคม ก็ก้าวหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีกระทรวงซึ่งเป็นส่วนประกอบย่อยๆ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ CL
คำถาม กระทรวงที่กำลังมาแรงตอนนี้ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง CL : Compulsory Licensing ท่านว่าอย่างไร
นายกรัฐมนตรี ถ้าพูดถึงว่าการทำงาน ท่านเป็นคนที่มีความริเริ่มเป็นของตัวเองค่อนข้างสูง เริ่มเข้ามาเผือไม่ได้พูดถึง CLในเรื่องของโฆษณาเหล้า ก็พูดได้ตรง ๆ ว่าไม่ได้เป็นเรื่องของครม. แต่เป็นอำนาจที่ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อท่านเข้ามาก็ประกาศให้งดโฆษณาก่อน 22.00 น. อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งก็เป็นที่ฮือฮา เพราะว่ากระทบกับสื่อเป็นส่วนมาก
เรื่องต่อมาถ้าจะพูดถึงคงเป็นเรื่องของสิทธิบัตรยา ถ้าจะพิจารณากันให้รอบคอบแล้ว ขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ของท่าน ได้ดำเนินการมาเป็นขั้นตอนตามที่ได้มีข้อตกลงกันไว้ระหว่างประเทศ ว่าเป็นสิทธิของเราที่สามารถจะดำเนินการได้ และในเรื่องของยาที่เราได้ดำเนินการไปนั้น เป็นเรื่องของโรคเอดส์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากจนเกินไป นั่นเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าท่านพยายามทำความเข้าใจ ขณะนี้อยู่ที่ต่างประเทศ ท่านโทรศัพท์มาคุยกับผมว่าเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้หมอได้ทำงานต่อไป ทำความเข้าใจต่อไป ส่วนการที่จะตกลงกับทาบบริษัทยา หรือว่าไปลงนามกับมูลนิธิของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ (นายบิล คลินตัน) ก็เป็นสิ่งที่ดี
คำถาม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของยาตอนนี้คือ ประชาชนบางส่วน รวมทั้งสื่อมวลชนบางส่วน คอลัมนิสต์ เขารู้สึกเหมือนว่าประเทศมหาอำนาจบางประเทศ เขาค่อนข้างจะมายุ่งกิจการภายในของเรา ประเด็นที่คนไทยกำลังรู้สึกไม่พอใจตอนนี้ ท่านนายกฯ อยากจะบอกอะไร เราควรที่จะประท้วงไหม และจะมีคนไทยที่อยู่ต่างแดนผสมโรงด้วย หรือเปล่า
นายกรัฐมนตรี ถ้าผมจะพูดก็อยากจะให้พิจารณาว่าเรามีศักยภาพอะไรที่จะไปตอบโต้เขา ผมบอกว่าทุกท่านช่วยกันวิ่งและเอาศีรษะชนกำแพง จะได้ประโยชน์ไหม เรามีทางอื่นไหม
คำถาม เจรจาหรือเปล่า
นายกรัฐมนตรี มีทางอื่นไหมที่เราจะมีทางเลือกอันอื่น ต้องถามตัวของเราว่าเรามีศักยภาพพอไหม
คำถาม ท่านเชื่อไหมว่ามีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ อยู่เบื้องหลังในเรื่องของการที่จะเล่นงานประเทศไทยในเรื่องนี้
นายกรัฐมนตรี ผมไม่แน่ใจครับ เพราะอย่างที่ผมเคยเรียนแล้วว่า ผมไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง ถ้าจะบอกว่าบริษัทที่เขารับไปทำประชาสัมพันธ์เป็นบริษัทเดียวกัน ก็ดูหลักฐานค่อนข้างจะเบาหวิว ถ้าบอกว่าผมไปจ้างบริษัทเดียวกัน บริษัทซึ่งเขาทำประชาสัมพันธ์ เขารับงานไม่รู้อีกเท่าไร ถ้าเขาบอกว่าให้รับรายเดียว ผมคิดว่าบริษัทนั้นยังไงก็พัง
คำถาม ท่าทางท่านบอกว่าไม่อยากให้เอาหัวชนฝา แต่ในส่วนของภาคประชาชน เอ็นจีโอ ทำได้ไหม ช่วยกันชนอีกด้านหนึ่งกับรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี ผมไม่แน่ใจว่าเราจะมีศักยภาพอย่างที่ว่านี้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร โดยที่ในทุก ๆ ประเทศ ในทุก ๆ ส่วน ถ้าเราบอกว่าบริษัทยา ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เขาขายทั่วโลก เขามีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองของเขาแน่ๆ และเมื่อพรรคการเมืองของเขา ขึ้นมาปกครอง เขาก็ต้องดูแลผู้ที่ให้การสนับสนุนเขา เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าตรงไหนที่จะเป็นจุดสมดุล ตรงไหนที่จะเป็นจุดพอดี ย้อนกลับไปปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเราคิดถึงตรงนี้ได้ เราจะเห็นว่าตรงไหนที่เป็นความพอดี เป็นความพอเพียง ที่เราจะรับได้ หรือกำลังของเราเอง ไม่ใช่เราบอกว่าขอยาฟรี คงไม่ได้
ขอให้ประชาชนร่วมมือกันปรับปรุงร่าง รธน. ร่างแรก
คำถาม ดูเหมือนว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศตอนนี้มีหลายกลุ่มเกิดการเผชิญหน้ากันอีก จะไม่สมานฉันท์กัน ประชาชนบางส่วนหวังว่าหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว รัฐบาลของท่านเข้ามาแล้วจะเกิดการสมานฉันท์กัน และประชาชนบางส่วนยังไม่สบายใจ ความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศ ดูเหมือนจะส่งผลทั้งด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ ด้วย นักลงทุนอาจจะไปต่างประเทศ ในช่วงที่ท่านยังเป็นนายกฯ อยู่ ท่านจะทำให้เกิดความแน่นอนทางการเมืองได้อย่างไร
นายกรัฐมนตรี สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ถ้าหากว่าเรามุ่งที่จะเดินตามครรลองของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ช่วยกัน ในปัจจุบันถ้าเราช่วยกันปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ให้อยู่ในสภาวะที่เป็นที่น่าพอใจ แล้วเข้าไปดูในส่วนที่สอง จากนั้นเป็นเรื่องของการลงประชามติ เราช่วยกันในทิศทางอย่างนี้ ผมคิดว่าผู้ที่เขาจะมาลงทุน เขาจะเกิดความมั่นใจเป็นอย่างมาก เพราะเขาเห็นอนาคตว่าที่ได้เขียนไว้ถ้าจะพูดภาษาอังกฤษก็ roadmap
คำถาม ตกลงท่านเห็นว่าอนาคตการเมืองของเราจะมั่นคงขึ้นแน่นอน ถ้าเกิดรัฐธรรมนูญผ่าน ท่านบอก ว่าให้ช่วยกันลงมติให้ผ่านหรือเปล่า
นายกรัฐมนตรี มิได้ หมายความว่าเราต้องร่วมมือกัน ที่จะปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะกับบ้านเมืองของเรา
คำถาม แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเลือกตั้งใช่ไหมที่จะทำให้ความมั่นใจกลับมา ที่ท่านประกาศวันเลือกตั้งไปแล้ว
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ
คำถาม ท่านว่าถ้าเลือกตั้งไปแล้ว ประชาชนยังสงสัยอีกว่าอนาคตทางการเมืองเป็นอย่างไร เพราะว่าแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มทางการเมือง ดูเหมือนจะไม่ยอมกันอีก roadmap ในจิตใจของท่าน อยากจะให้หลังยุคพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ การเมืองของเราเป็นอย่างไร
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ