นายกรัฐมนตรีพบสื่อทำเนียบ ครั้งที่ 8

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday August 6, 2007 15:05 —สำนักโฆษก

          พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พบปะสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล เป็นครั้งที่ 8 พร้อมตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชน  
วันนี้ เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองศาสตราจารย์ ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พบปะสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล พร้อมตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชน
นายกรัฐมนตรี เป็นอีกวาระหนึ่งที่จะได้คุยกัน เรื่องที่จะเล่าให้ฟังคงมีไม่มา เรื่องแรกเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คนเป็นห่วงในเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ คิดว่าท่านรองนายกรัฐมนตรีโฆสิตฯ อยู่ที่นี่แล้ว ถ้าท่านทั้งหลายมีเรื่องที่จะถามท่านคงจะชี้แจงในรายละเอียดให้ทุก ๆ ท่านได้รับทราบได้ ว่า ในส่วนของทางภาครัฐได้มีการกำหนดวิธีการและมีการติดตามกำกับดูแลในสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง ผลที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ก็พร้อมที่จะชี้แจงให้ท่านทั้งหลายได้รับทราบ
เรื่องที่สอง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการเมือง ขณะนี้ถือว่าการพัฒนาทางการเมืองนั้นได้คืบหน้าไปพอสมควร จะเห็นว่าบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ มีการเตรียมตัวกันมากขึ้น และพร้อมที่จะกลับเข้ามาสู่กระบวนการของการเลือกตั้งมากขึ้น นั่นเป็นจุดที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งบอกเหตุที่ดี เมื่อเราผ่านวันที่ 19 สิงหาคมนี้ไป ภาพทางด้านของการพัฒนาทางการเมืองก็ยิ่งจะชัดมากยิ่งขึ้น นั่นจะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งในการดำเนินการ ที่จะขอร้องสื่อในปัจจุบันคือ ขอร้องให้ช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่ว่าจะโดยวิธีการใด ๆ จะโดยวิธีการที่มีการพูดคุยกันถึงข้อดี ข้อเสียของรัฐธรรมนูญ อะไรต่าง ๆ ในลักษณะที่เป็นการให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน ก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่อยากจะให้สื่อได้ช่วยเหลือคือการที่จะช่วยกันชักจูงให้พี่น้องประชาชนได้มาใช้สิทธิในการลงประชามติ ไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตาม จะรับหรือไม่รับ ก็เป็นข้อพิจารณาของประชาชน อยากให้สื่อได้ช่วยกันชักชวนในส่วนนี้
เรื่องที่สาม เรื่องสถานการณ์ทางภาคใต้ อย่างที่ผมได้พูดกับสื่อบางท่านที่ติดตามลงไปในภาคใต้ว่า ในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แน่นอนว่าทางภาครัฐนั้นได้มีความริเริ่มในการปฏิบัติเชิงรุก แต่เช่นเดียวกันทางผู้ก่อการก็มีการตอบโต้มีการพยายามที่จะขัดขวาง ในการที่จะประเมินว่าเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดในขณะนี้ คงยังจะไม่สามารถที่จะประเมินได้ชัดเจน คงจะต้องรอ อย่างน้อย ๆ ผมคิดว่าประมาณเดือนตุลาคม อย่างที่เคยได้เรียนให้ทราบไปแล้วว่า เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนในส่วนของสถานการณ์ทางภาคใต้ ว่า จะคลี่คลายหรือว่าเป็นไปในลักษณะใด นั่นเป็น 3 เรื่องใหญ่ ๆ ที่อยากจะเรียนชี้แจงในเบื้องต้น ต่อไปขอเชิญถามครับ
การส่งผู้อพยพกลับประเทศจะไม่มีการดำเนินการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผู้สื่อข่าว ขอถามเกี่ยวกับปัญหาม้งในพื้นที่ชายแดนบ้านเรา ตกลงนโยบายของรัฐบาลนี้เกี่ยวกับม้ง 8,00 คน เราจะดำเนินการอย่างไร เพราะล่าสุดทางสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา 13 คน ทำหนังสือถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอให้ใช้พระราชอำนาจยับยั้งการส่งม้ง กลับไปลาว
นายกรัฐมนตรี ในส่วนของรัฐบาล เราถือว่าเราคงจะต้องดูแลเรื่องของผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ต้องเริ่มก่อนว่าเข้าเมืองในลักษณะใด ถ้าหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องดูแล เพราะในขณะนี้ไม่ได้มีเหตุการณ์สู้รบเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเรา มีบุคคลที่เป็นคนในสัญชาติของประเทศเพื่อนบ้านได้หลบหนีเข้ามา เราก็ต้องดูแล นั่นเป็นเรื่องแรก ส่วนการที่จะมีสมาชิกสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสูงของสหรัฐฯ นำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราได้มีการหารือเบื้องต้นกับทางประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ผมเดินทางไปเยือนว่า เราจะดำเนินการโดยที่มีประเทศที่เป็นกลาง ประเทศที่ 3 เข้ามาเป็นผู้ดูแลด้วยในการที่จะให้มีการส่งกลับ การดำเนินการนั้นหมายถึงว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น จะมีการดูแลผู้ที่กลับไป นั่นเป็นเรื่องที่เราได้พูดคุยกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านในช่วงต้นปี เราก็ยังคงดำเนินการตามนั้นอยู่ เพราะเรามองไม่เห็นว่าโอกาสที่จะมีประเทศที่ 3 มารับไป จะเป็นเมื่อไร ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าเรารอให้มีการรับในลักษณะอย่างนี้ จะมีแรงจูงใจที่จะให้อีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาอีก และจะหมดไหม เราต้องถามกันว่า เมื่อก่อนนี้มีอยู่ที่สระบุรี ก็ดำเนินการไปกลุ่มหนึ่งแล้ว นี่ก็เข้ามาอีกกลุ่มหนึ่ง ฉะนั้นปัญหานี้จะไม่มีการจบสิ้น สถานการณ์ในประเทศลาวจบลงเมื่อปี 2518 นี่ปี 2550 แล้ว ถ้าหากเหตุการณ์อย่างนี้ไม่มีการดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เราคงเป็นประเทศที่จะต้องรับผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและดูแลเขา ซึ่งเป็นภาระของเราในทุก ๆ ด้าน นั่นเป็นเรื่องที่เราจะต้องดูแลว่า การดำเนินการต่าง ๆ ของเรานั้นเป็นไปตามหลักการอย่างไร
ผู้สื่อข่าว ตกลงแนวทางคือ 8,000 คน เราจะผลักดันกลับ โดยใช้วิธึคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนใช่ไหมครับ
นายกรัฐมนตรี เราไม่ได้ผลักดัน จะเป็นการส่งกลับ เพราะว่าเขาเป็นคนสัญชาติของประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่มีประเทศที่ 3 มาเป็นผู้ดูแลว่า เมื่อส่งกลับไปแล้ว จะไม่มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผู้สื่อข่าว ที่ผ่านมาเราได้ตกลงกับลาวแล้วไม่ใช่หรือว่า พวกนี้ให้กลับโดยสมัครใจ เพราะประเทศที่ 3 มายืนยันแล้วว่า เขาจะไม่รับอีกต่อไป ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (UNHCR) ก็ยืนยัน แล้วพวกนี้มีนายหน้าหรอกมา เพื่อส่งไปประเทศที่ 3 และบอกว่าจะร่วมกันจับกุมพวกนี้ ไม่ทราบว่าดำเนินการไปถึงไหน
นายกรัฐมนตรี ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอยู่ตามที่ได้ตกลงกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน ผมไม่อยากให้เราระบุ เพราะเดี๋ยวจะเกิดปัญหากันขึ้นมาก่อน ขอให้พูดกันตรงนี้ว่า เขาอพยพหลบหนีเข้าเมืองมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และได้มีการตกลงกันแล้วตามหลักการที่ผมว่า คงไม่ได้อยู่ในลักษณะที่จะมีการบังคับอะไรมากมาย เราจะค่อย ๆ ดำเนินการส่งกลับอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว ไม่ได้เป็นการผลักดัน ซึ่งจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผู้สื่อข่าว ประเทศที่จะเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องการส่งกลับคือประเทศใดและองค์กรอะไร แล้วจะดำเนินการส่งกลับลาวอพยพเมื่อไร
นายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าจะเป็นในส่วนของกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันที่จะมาทำหน้าที่เป็นประเทศที่ 3 ในการดูแล แต่ว่าจะเมื่อไร อย่างไร คงจะต้องรอ อย่างที่ผมได้เรียนแล้วว่าขั้นตอนนั้นดำเนินมาถึงขั้นนี้
พลเอก เปรมฯ ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเข้ายึดอำนาจ
ผู้สื่อข่าว หลังจากที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เคลื่อนไหว อ้างว่าพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อยู่เบื้องหลังการทำปฏิวัติ ตอนนี้หนังสือ "ทักษิณ 24 ชั่วโมง" ก็มาตอกย้ำ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะว่าพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศด้วย ในส่วนของรัฐบาลจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
นายกรัฐมนตรี รัฐบาลคงทำความเข้าใจ อย่างที่ผมได้ชี้แจงไปแล้วว่า ผมได้ไปพบ ไม่ใช่ผมคนเดียว คณะรัฐมนตรีด้วยทั้งคณะ ได้ไปพบท่านประธานองคมนตรีแล้ว และทุกคนรับฟังมาด้วยตัวเองว่า ท่านไม่ได้อยู่เบื้องหลัง ส่วนการตั้งข้อสงสัยต่าง ๆ นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ที่ตั้งข้อสงสัยนั้นอาจจะอยู่ในส่วนที่เขาตั้งข้อสงสัยได้ แต่ผมคิดว่าในความเป็นจริง เราคงจะต้องยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริง คือ ท่านไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของการเข้ามายึดอำนาจทางทหาร
การเดินไปสู่ครรลองของประชาธิปไตยเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าว ในแง่ของมาตรการสกัดกั้นหนังสือ "ทักษิณ 24 ชั่วโมง" ในส่วนของรัฐบาลไทยจะมีการขอความร่วมมือในส่วนของต่างประเทศ รวมถึงในส่วนของการเผยแพร่ในประเทศไทยด้วยหรือเปล่า
นายกรัฐมนตรี ในเรื่องนี้คงไม่จำเป็นเพราะว่าเดี๋ยวจะไปเข้าข่าย รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องสื่อ เรื่องการเผยแพร่ต่างๆ แต่เรามีหน้าที่ที่จะทำความเข้าใจ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้นเอง เราคงไม่ได้ไปปิดกั้น
ผู้สื่อข่าว รัฐบาลมั่นใจใช่ไหมว่า ข้อมูลที่อยู่ในหนังสือดังกล่าวต่างชาติถ้าได้อ่านแล้ว เขาจะเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลชี้แจงไปก่อนหน้านี้มากกว่าข้อมูลในหนังสือ
นายกรัฐมนตรี การชี้แจงทำความเข้าใจอยู่ที่ผู้ที่จะรับฟัง แน่นอนว่าคนที่รับฟัง คนที่อ่านเขาคงจะต้องดูทั้งสองด้าน เราจะไปบังคับเขาไม่ได้ว่าให้เขาเชื่อตามที่ผมพูด
ผู้สื่อข่าว นายกรัฐมนตรีไหมว่าตอนนี้บทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในต่างประเทศโดยเฉพาะในอังกฤษ หลังจากซื้อทีมฟุตบอลไปแล้ว ค่อนข้างจะเป็นที่นิยม เป็นบุคคลที่ได้รับความสนใจมาก น้ำหนักในคำพูดของคุณทักษิณฯ จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเวทีโลกไหมครับ
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่คน ๆ หนึ่ง อย่างที่ผมได้พูดในตอนต้นว่าเมื่อเราได้พูดกันถึงเรื่องการกลับมาสู่ครรลองของประชาธิปไตยที่จะมาจากการเลือกตั้ง นั่นเป็นทางที่ดีที่สุดที่เราจะแก้ปัญหา เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว เราจะสามารถบริหารได้อย่างที่ถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับจากสังคมโลกกันต่อไป
รัฐบาลยืนยันจะจัดการเลือกตั้งภายในปลายปี 2550
ผู้สื่อข่าว เรื่องเลือกตั้งไม่ใช่สูตรสำเร็จอย่างเดียว ดูสภาพปัญหาบ้านเมืองคงจะยุ่งต่อไปอีกมาก จากตัวละครต่างๆ ที่ออกมาขนาดนี้ ในส่วนนี้รัฐบาลจะยืนยันกับประชาชนได้อย่างไรว่า ความสงบสุข อะไรทั้งหลายจะกลับมา
นายกรัฐมนตรี รัฐบาลคงยืนยันไม่ได้ คงอยู่ที่พี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกันที่จะต้องช่วยกัน เพราะไม่ใช่บ้านเมืองของผมคนเดียว เป็นบ้านเมืองของพวกเราทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนมีส่วนที่จะต้องทำให้บ้านเมืองนี้มีความเจริญก้าวหน้า มีความสงบร่มเย็น นั่นเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าพี่น้องคนไทยทุกคนอยากเห็น และทำอย่างไรที่จะไปสู่จุดนั้นได้ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วม อย่างที่รัฐบาลได้พูดตลอดเวลาว่า อยากให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอน นั่นคือสิ่งที่จำเป็น เพราะไม่เช่นนั้น บ้านเมืองของเราจะไม่มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าเหมือนกับบ้านเมืองคนอื่น ซึ่งเขามีความเข้าใจว่าเขาทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าทำเพื่อประโยชน์ของส่วนตัว
ผู้สื่อข่าว ตรงนี้จากหนังสือ "ทักษิณ 24 ชั่วโมง" หลังรัฐประหาร มีการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่บิดเบือนไปในหลายกรณี รัฐบาลจะดำเนินการแก้เกมอย่างไร และจะมีการต่อสายพูดคุยกับคุณทักษิณฯ หรือไม่
นายกรัฐมนตรี คงไม่ต่อสายคุยกัน แต่ว่าเรื่องการทำความเข้าใจ ทำคำชี้แจงต่างๆ จะค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เราคงไม่ได้ทำในวาระเดียว ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจแล้วว่า เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ทุกคนอยากจะให้ช่วงเวลาวิกฤติผ่านพ้นไป
ผู้สื่อข่าว การที่ พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี กลับมาเล่นการเมือง จะลงรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งต่อไป ท่านมีความเห็นอย่างไรบ้าง
นายกรัฐมนตรี ไม่มีความเห็นครับ เป็นสิทธิส่วนบุคคล
ผู้สื่อข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีมองอย่างไรก้บในอนาคตการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้จะมีทหารที่เกษียณอายุราชการมาลงรับสมัครจำนวนมาก ในความเห็นของท่านนายกรัฐมนตรีคิดอย่างไร
นายกรัฐมนตรี ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง ไม่ว่าใครก็ตามมีสิทธิ์ที่จะมาลงรับสมัคร ถ้าเขาไม่มีข้อขัดข้องตามกฎหมาย ก็มีสิทธิ์ แต่ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน
ผู้สื่อข่าว ถ้าหากว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ รัฐบาลจะให้ความมั่นใจได้หรือไม่ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในปลายปีนี้ หรือกำหนดเดิม
นายกรัฐมนตรี ผมได้แถลงไปแล้วว่า จะพยายามอย่างที่สุดที่จะให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ ถ้าไม่มีเหตุผลอันอื่น ไม่มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าว เมื่อสักครู่ที่ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่า เชื่อว่าประชาชนคงจะเข้าใจในคำชี้แจงของรัฐบาลเกี่ยวกับกรณีการยึดอำนาจมาในครั้งนั้น กับการที่คุณทักษิณฯ ได้ชี้แจงในส่วนของเขาตรงนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีใช้หลักการประเมินอย่างไรว่าประชาชนในประเทศเข้าใจ เพราะว่าดูเหมือนว่า เท่าที่ฟังเสียงระดับรากหญ้าส่วนใหญ่ยังยกมือให้กับขั้วอำนาจเก่าอยู่
นายกรัฐมนตรี ผมก็ฟัง ผมคิดว่าส่วนใหญ่เขาอยากจะให้มีการเลือกตั้ง และก้าวไปข้างหน้ามากกว่าที่จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นใด นั่นเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจอยู่แล้ว ผมไม่ได้เป็น ผู้ที่เข้าไปดำเนินการยึดอำนาจ แต่เข้ามาทำหน้าที่ช่วยแก้ไขเหตุการณ์ในเวลาวิกฤติช่วงนี้เท่านั้น ฉะนั้น อะไรที่เราสามารถที่จะทำได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตรงนี้ เราจะพยายาม อย่างที่ผมได้ชี้แจงอยู่ตลอดเวลาว่า อะไรที่เป็นเรื่องที่เป็นการวางแนวทางที่ถูกต้อง ที่จำเป็นแล้ว เราก็จะทำ
ให้กกต.เสนอครม.พิจารณากำหนดวันหยุดหลังวันลงประชามติหากมีความจำเป็น
ผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับเรื่องของการทำประชามติ ตอนนี้มีการรณรงค์ที่จะไม่รับร่าง แต่รูปแบบเหมือนจะมีกระแสข่าวกับการใช้เงินไปว่าจ้างให้ประชาชนไปลงประชามติ รัฐบาลได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้หรือไม่ แล้วจะมีผลกระทบกับการลงประชามติหรือไม่
นายกรัฐมนตรี มีการตรวจสอบข่าว มี่การยืนยันว่าเป็นไปตามข่าวลือที่ปรากฏ อย่างที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าเป็นการให้เบี้ยประชุม อะไรต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่าเรื่องการให้เงินเป็นเรื่องที่ลำบากมาก เราจะไปห้าม คงจะเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะว่ามีเงินมากมายเหลือเกินในวงการเมืองของเราในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปลายปีนี้เองก็ตาม ผมคิดว่าเป็นเรื่องการใช้เงินที่มีอยู่เป็นพื้นฐานของการเมืองของเราอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าว มีการตรวจสอบที่มาของเงินหรือไม่ ว่ายังเกี่ยวข้องกับส่วนอำนาจเก่าหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้ตรวจสอบในเรื่องนั้น แต่ตรวจสอบว่ามีการแจกเงินหรือไม่ ที่มาของเงินคงไม่มีใครยอมรับ
ผู้สื่อข่าว ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีมองว่าการเลือกตั้งว่าจะต้องมีการใช้เงินมากๆ ในส่วนนี้รัฐบาลจะทำอย่างไรเพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม และได้คนดีเข้ามามากที่สุด
นายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ยาก แต่ได้มีการหารือกันแล้ว อย่างที่ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้กล่าวในการที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลูก นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมคิดว่าถึงแม้ว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่การที่จะไม่ให้มีการใช้เงินเลยเป็นเรื่องที่เกือบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ผู้สื่อข่าว มีการพูดกันถึงว่าหลังจากลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 นี้ วันที่ 20 สิงหาคมนี้ จะมีการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยถือเป็นวันหยุด ตรงนี้ได้มีการหารือกันหรือไม่
นายกรัฐมนตรี รอการหารือจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีการพูดคุยกัน ผมได้บอกกับท่านประธาน กกต. ว่า ถ้าท่านเห็นว่าจำเป็นก็ขอให้ทำเรื่องเสนอมา ทางรัฐบาลจะได้พิจารณา
ผู้สื่อข่าว แต่การตัดสินใจเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่ทาง กกต. บอกว่า คณะรัฐมนตรีควรจะต้องพิจารณาในส่วนนี้
นายกรัฐมนตรี ผมได้คุยกับท่านประธานแล้ว รอท่านอยู่ว่าท่านจะว่าอย่างไร คุยเมื่อวันที่มีการรณรงค์ที่เมืองทองธานี
ผู้สื่อข่าว จะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้การลงประชามติของประชาชนมีมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะสนใจมากขึ้นหรือไม่
นายกรัฐมนตรี อย่างที่เรียนแล้ว คือว่าขึ้นอยู่กับผู้ที่ไปทำงานในต่างถิ่นต่างๆ ตัวเลขตรงนี้ ผมไม่มีว่าเขาได้มาลงขอใช้สิทธิ์ก่อนล่วงหน้ามากน้อยเท่าไรอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทาง กกต. จะต้องพิจารณา และเสนอมาว่าสมควรจะให้มีการหยุดอีกหนึ่งวันเพื่อให้ประชาชนที่ไปทำงานนอกภูมิลำเนาของตนเอง กลับมาลงคะแนนเสียงได้หรือไม่ อย่างไร
การตัดสินใจเล่นการเมืองของประธาน คมช.
ผู้สื่อข่าว เรื่องพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีแนวโน้มที่ท่านจะลงเล่นการเมือง ในส่วนของพลเอก สนธิฯ ได้เคยมาคุยกับท่านหรือไม่ และท่านมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร เพราะว่าที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้ม แต่พลเอก สนธิฯ ก็ยังไม่พูดชัดเจน
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าคงจะต้องรอท่าน พลเอก สนธิฯ เพราะตอนนี้ยังอยู่ในราชการอยู่ พูดว่าจะเล่นการเมืองในตอนนี้ก็ผิด คงต้องรอให้ท่านเกษียณอายุราชการก่อน นั่นเป็นส่วนที่จะทำได้อย่าง ถูกต้อง ถ้าพูดตอนนี้ถือว่าผิดมารยาท
ผู้สื่อข่าว โดยส่วนตัวท่านนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าอย่างไรบ้าง ถ้าพลเอก สนธิฯ จะลงเล่นการเมืองจริงๆ จะเหมือนการย้อนรอยประวัติศาสตร์หรือไม่ จะเป็นการทำให้กลับมาสู่ความแตกแยกอีกครั้งหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ผมคงไม่มีข้อคิดเห็น เพราะไม่ใช่เรื่องของผมเอง เป็นเรื่องของพลเอก สนธิฯ ซึ่งท่านคงจะต้องพิจารณาด้วยตนเอง
ประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 ผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้ว
ผู้สื่อข่าว ประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 ตอนนี้ถึงขั้นตอนใดแล้ว
นายกรัฐมนตรี ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาแล้ว คงอยู่ในขั้นของการที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา คงต้องรอ
ผู้สื่อข่าว เรื่อง คปค. ฉบับที่ 15 รัฐบาลได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือยัง และเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีผลหลังวันลงประชามติแล้ว
นายกรัฐมนตรี คงตอบไม่ได้ แต่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ส่วนที่จะลงพระปรมาภิไธยเมื่อไรนั้น คงต้องรอ
การแก้ไขปัญหาภาคใต้
ผู้สื่อข่าว ความคืบหน้าในการเจรจากับผู้ก่อการร้าย มีการทราบหรือยังว่าผู้ก่อการร้ายได้มีการยื่นเสนอชื่อเพื่อที่จะมาคุยกับรัฐบาล เพราะเมื่อคราวที่ผ่านมาท่านนายกรัฐมนตรีได้บอกว่าต้นเดือนนี้จะมีความชัดเจนกับผู้ที่จะมาเจรจากับเรา
นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีครับ
ผู้สื่อข่าว การไปเยือนลังกาวี ได้มีการหารือกับผู้นำมาเลเซียเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่
นายกรัฐมนตรี ไม่มีครับ
ผู้สื่อข่าว ขณะนี้ด้านการข่าวมีการเตือนว่ากลุ่ม RKK เตรียมจะก่อเหตุก่อนวันลงประชามติ ทางรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหานี้อย่างไรบ้าง
นายกรัฐมนตรี เมื่อเช้าได้ประชุมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 และ ผู้อำนวยการ ศอ.บต. มีความห่วงใยในเรื่องที่เช่นกัน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้ได้เตรียมความพร้อมสำหรับวันที่จะลงประชามติอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าว ขอย้อนถามเรื่องข่าว RKK ที่จะก่อเหตุในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 รัฐบาลเกรงหรือไม่ว่าจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ในการลงประชามติน้อย ในส่วนของภาคใต้
นายกรัฐมนตรี ได้ทำความเข้าใจกัน ผมคิดว่าหน่วยงานที่อยู่ในท้องถิ่นพยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ ส่วนจะมากแค่ไหนก็ยังไม่แน่ใจ
เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550
ผู้สื่อข่าว ถ้าสมมติว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ผ่านการลงประชามติ ท่านนายกรัฐมนตรีจะหยิบฉบับใดมาใช้
นายกรัฐมนตรี ต้องรอหลังวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ผมจะตอบ ตอนนี้ยังไม่ตอบ
ผู้สื่อข่าว เรื่องจะประกาศหรือไม่ ถ้าจะทำในรูปแบบอื่นๆ ที่จะไม่ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เช่น เป็นสัญญาประชาคมไปก่อน เพื่อให้การลงประชามติมีความสง่างามกว่านี้ ทำไม่ได้หรือไม่
นายกรัฐมนตรี มีกฎออกมาอยู่แล้ว ผมทำตามกฎ อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่า อะไรคงไม่สง่างามเท่ากับการทำตามกฎ
การทำงานของคณะกรรมาธิการคมนาคม
ผู้สื่อข่าว จะขอสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของคณะกรรมาธิการคมนาคม พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน ลงไปตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ บางครั้งถึงขนาดไปสั่งให้แต่ละหน่วยงานหยุดการทำงาน หรือระงับการทำงานไว้ก่อน ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร มองว่ากรรมาธิการทำงานเกินขอบเขตหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจากกระทรวงคมนาคมแล้ว และท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ทำเอกสารไปถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว
ผู้สื่อข่าว หนังสือที่ส่งไปเป็นไปในลักษณะที่ไม่พอใจที่กรรมาธิการทำงานเกินขอบเขตใช่หรือไม่
นายกรัฐมนตรี คงไม่ได้ไม่พอใจ แต่หมายถึงว่า การทำงานไม่ควรจะก้าวก่ายกัน ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร
ผู้สื่อข่าว ข้อร้องเรียนที่มาถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีประเด็นอะไรบ้าง
นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นข้อร้องเรียน เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้รายงานให้ทราบถึงการก้าวก่ายอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เราก็ทำหนังสือไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อข้อความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้
ผู้สื่อข่าว มีระบุผลเสียงมาหรือไม่ว่า ทำให้ฝ่ายบริหารเสียโอกาสในการบริหารจัดอย่างไรบ้าง
นายกรัฐมนตรี ผมไม่ถึงกับเสียโอกาสอะไรที่มากมาย อย่างที่ได้กล่าวไว้คือว่า เป็นลักษณะที่ไม่บังควรที่จะปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าว อย่างคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่ไปถึงขนาดทำให้ พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน ระงับการกระทำดังกล่าวหรือไม่
นายกรัฐมนตรี ทางฝ่ายบริหารคงไม่สามารถจะไปสั่งทางฝ่ายนิติบัญญัติได้ คงเป็นการประสานกันอย่างที่ในข่าวไปแล้ว
ผู้สื่อข่าว ขอถามเรื่องเลือกตั้งว่า ปัจจัยที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดถึงที่ว่าจะไม่มีการเลือกตั้งถ้าหากไม่มีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยตรงนี้คืออะไร
นายกรัฐมนตรี ผมพูดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปีนี้ ถ้าไม่มีปัจจัยตัวอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัจจัยตัวอื่นที่ว่านั้น ก็หมายถึงสิ่งที่จะส่งผลกระทบ ไม่ว่าจะด้วยปัญหาของการที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับไหน ไม่ว่าจะมีการปรับแก้กันอย่างไร นั่นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดกัน และจะมีกฎหมายลูกที่จะต้องมาพิจารณาด้วย ถ้าการดำเนินการในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นทำให้ระยะเวลาที่จะดำเนินการไปสู่การเลือกตั้งภายในปลายปีนี้กระทำไม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่จนใจ
ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เกิดความผันผวนที่รุนแรง
ผู้สื่อข่าว 2 สัปดาห์หลังจากรัฐบาลออกมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทประเมินดูหรือยังว่า สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ และจำเป็นต้องออกมาตรการอื่นเพิ่มหรือไม่
รองนายกรัฐมนตรีฯ (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์) กราบเรียนว่าขณะนี้ติดตามอยู่เป็นประจำ เหตุการณ์เรียบร้อยดี ถ้าสมมติว่า ไม่มีอะไรที่เข้ามาก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องมีอะไรเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าว มีแนวโน้นที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
รองนายกรัฐมนตรีฯ (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์) แนวโน้มเท่าที่เห็นคือ ความสามารถของกลไกที่จะดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนที่รุนแรง ปรากฎว่าเป็นความสามารถอยู่ในระดับที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ผู้สื่อข่าว ตกลงประเด็นที่คณะรัฐมนตรีสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปพิจารณาว่า จะสามารถชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์ ตกลงธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ทำตามใช่หรือไม่
รองนายกรัฐมนตรีฯ (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) คิดว่าไม่มี ไม่ได้สั่ง ผมคิดว่าที่พูดจากันก็คือว่า เราอาจจะจำเป็นจะต้องไปหาวิธีการที่จะมีการดูแลให้มีการชำระล่วงหน้าสำหรับรัฐวิสาหกิจ อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า ให้ดูแลว่าเงินที่เป็นเงินเหรียญที่มีการฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์จะจ่ายเป็นเงินเหรียญเพื่อค่าใช้จ่ายบางประเภทได้หรือไม่ได้ ซึ่งวันนี้ก็คงมีรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องพวกนี้
ผู้สื่อข่าว ถามอาจารย์โฆสิตฯ ว่า ไม่ทราบว่าทางรัฐบาลได้มีการกำชับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปดูแลในเรื่องของการใช้บัตรเครดิตไปรูดเงินที่ต่างชาติเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาทในส่วนต่างประมาณ 4 บาทตรงนี้หรือไม่
รองนายกรัฐมนตรีฯ (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ภาพรวมก็คือเรื่องของตลาดที่เรียกว่า "ตลาดออฟชอร์" ภาพรวมก็คือว่า ราคาของตลาดนั้นไม่ได้สะท้อนราคาของตลาดภายใน นี่ก็เป็นภาพรวม ส่วนวิธีการดูแลนั้นมีกติกาของการนำเงินเข้าเงินออก ซึ่งก็มีองค์กรที่รับผิดชอบดูแลอยู่
สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
ผู้สื่อข่าว ขอเรียนถามถึงปัญหาเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ในรอบหลายสัปดาห์เห็น ผู้ประกอบร้านค้า (โชห่วย) มาชุมนุมและเริ่มขยายตัวกันมากขึ้น อยากจะถามจุดยืนของรัฐบาลในเรื่องของการบริษัทค้าปลีกต่างชาติที่เข้ามาว่า รัฐบาลมีจุดยืนอย่างไร อยากจะให้ต่างชาติอยู่ได้ หรือจะให้ประชาชนในท้องถิ่นอยู่ได้มากกว่ากัน
นายกรัฐมนตรี ครับ ต้องอยู่ได้ทั้ง 2 ส่วน ถึงเขามาลงทุนแล้วต้องอยู่ได้ และพี่น้องประชาชนของเราก็ต้องมีโอกาสที่จะประกอบธุรกิจได้ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติการค้าปลีก ค้าส่ง ยังอยู่ในขั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็คงต้องรอ แล้วคงไปทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้ คงจะต้องใช้วิธีการที่ทางคณะรัฐมนตรีได้ใช้เป็นมาตรการชั่วคราวคือ การใช้ประกาศของกระทรวงมหาดไทย เป็นเงื่อนไขที่จะไม่ให้มีการอนุญาตให้ร้านค้าปลีกของต่างชาติเข้ามาขออนุญาตต่อตั้งภายในช่วงระยะเวลานี้ ที่เขาได้ดำเนินการไปนั้นเป็นการขออนุญาตตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา ได้ทำไปแล้ว
ผู้สื่อข่าว โครงการอยู่ดีมีสุขของรัฐบาลจนถึงขณะนี้มีการสำรวจหรือไม่ว่า ประชาชนนั้นอยู่ดีมีสุขจริง ๆ หรือไม่
นายกรัฐมนตรี ผมตอบได้เลยว่า กำลังพยายาม เราพยายาม คือคำว่า "อยู่ดีมีสุข" เราก็พยายามที่จะเสนอแนวทาง ทางสภาพัฒน์ฯ เองก็พยายามที่จะหาตัวชี้วัด เราอยู่ในขั้นตอน อย่างที่ผมได้บอกว่า เป็นการวางรากฐาน แต่อย่างน้อย ๆ เราก็ได้เริ่มก้าวเดินไปข้างหน้าในแนวความคิดที่จะมีการพัฒนาอย่างยั้งยืนและอยู่บนรากฐานที่ควรมีควรเป็น นั่นก็เป็นเรื่องของโครงการอยู่ดีมีสุข หรือยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ถ้าจะเรียนตรง ๆ ก็คงเป็นเรื่องของการที่จะให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ชุมชนมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไป นอกเหนือไปจากแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าว ท่านนายกรัฐมนตรีขยายนิดหนึ่งได้หรือไม่ว่า อยู่บนรากฐานควรมีควรเป็นที่ว่านี้จะเป็นลักษณะไหน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ