In Focus“เบบี้บูมเมอร์" จากยุค “รุ่งเรือง" สู่วัย “ร่วงโรย"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 29, 2012 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะที่เศรษฐกิจโลกส่อแววย่ำแย่ชนิดที่แทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้น ปัญหาหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในการรับมือ และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีแนวโน้มจะซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจที่ทุลักทุเลของแต่ละประเทศให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือปัญหาโครงสร้างประชากรของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ (Baby boomers)

เบบี้บูมเมอร์ คือ กลุ่มประชากรที่เกิดในช่วงปี 2489-2507 หรือในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปิดฉากลงเมื่อปี 2488 ภาวะสงครามทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ประเทศต่างๆเผชิญกับความบอบช้ำในทุกๆด้านทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ภาพเครื่องบินทิ้งระเบิดที่พุ่งเป้าไปยังบ้านเมืองจนทำให้เพลิงสงครามโหมปะทุลุกลาม หรือแม้กระทั่งกลุ่มควันหนาทึบที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าคล้ายรูปดอกเห็ดที่ยังคงติดตาเราจากภาพยนตร์สารคดีไปจนถึงเศษซากบ้านเรือนและสภาพไร้วิญญาณของทหารกล้าและพลเรือนที่ทอดร่างปะปนกันอย่างไร้ชนชาติและชนชั้น รวมทั้งภาพผู้คนที่หนีตายจากความรุนแรงของสงครามเพื่อหาที่พักพิงในการเอาชีวิตรอด ต่างก็ตอกย้ำถึงหายนะของมวลมนุษยชาติที่ไม่มีใครอยากให้เกิดหรืออยากพบเจอในช่วงชีวิต แต่เมื่อพายุสงครามสงบลงฟ้าหลังฝนย่อมมีความสดใสเสมอ ชายฉกรรจ์ที่เข้าร่วมสู้รบในสงครามเริ่มเดินทางกลับบ้านเรือน ขณะที่ผู้คนที่โชคดีมีชีวิตรอดจากสงครามต่างต้องเร่งซ่อม สร้าง เยียวยา ฟื้นฟูประเทศให้กลับมามีความแข็งแกร่งมั่นคงอีกครั้ง ซึ่งต้องการแรงงานที่จะมาขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า จึงนำมาซึ่งค่านิยมของการมีลูกหลายๆคน จนนำมาสู่ยุค “เบบี้บูม" ซึ่งในช่วงนี้จะกินเวลาถึง 18 ปีเลยทีเดียว

กลุ่มเบบี้บูมเมอร์นับว่า เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของจำนวนประชากรโลกในปัจจุบัน และมีสัดส่วนมากที่สุดของประชากรสหรัฐ ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีจำนวนราว 80 ล้านคน และด้วยสัดส่วนจำนวนมากดังกล่าวย่อมหมายถึงอิทธิพลที่มหาศาลต่อภาวะเศรษฐกิจของโลก

สถานการณ์มาถึงจุดเปลี่ยน

ณ วันนี้ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ได้ทยอยเข้าสู่วัยชรากันไปพร้อมๆกันกับที่เศรษฐกิจโลกก็ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลให้อิทธิพลของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่เคยมีต่อโลกและเศรษฐกิจโลกต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวัยที่ล่วงเลย

จากที่เคยเป็นเรี่ยวแรงหลักในการวางรากฐานความแข็งแกร่งและความมั่นคงแก่ประเทศ จากที่เคยเป็นผู้บริหารและขับเคลื่อนองค์กรที่มีความเชื่ยวชาญและประสบการณ์สูง ได้เริ่มถึงวัยเกษียณอายุกันออกไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้สืบทอดรุ่นต่อไปก็มีจำนวนไม่เพียงพอหรือไม่ก็ยังขาดประสบการณ์ บรรดาผู้นำประเทศและองค์กรที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลคงต้องวางแผนรับมือกับโครงสร้างประชากรที่กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ก่อนที่คนยุคเบบี้บูมคนแรกจะเข้าสู่วัยเกษียณในปี 2549 และภาวะที่โลกเข้าสู่ยุคของคนสูงวัยนี้อาจจะยืดเยื้อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าขึ้น ประกอบกับความตื่นตัวด้านสุขภาพทำให้อายุขัยของประชากรในปัจจุบันยืนยาวขึ้น

เริ่มอำลาตลาดแรงงาน

กลุ่มเบบี้บูมเคยเป็นเรี่ยวแรงหลักในการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างพรวดพราดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่เมื่อประชากรกลุ่มนี้เริ่มตบเท้าออกจากตลาดแรงงาน นั่นยอมหมายถึงผลกระทบต่อกลไกการผลิต พูดง่ายๆก็คือหากแรงงานน้อยลง ก็เป็นเรื่องปกติที่การผลิตหรือผลผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย เมื่อเกษียณอายุ รายได้ประจำที่เป็นรายได้หลักก็ย่อมไม่มี และหากไม่มีงานอื่นทดแทน เม็ดเงินที่ผ่านมือเบบี้บูมเมอร์กลุ่มนี้ก็ต้องยุติลง ซึ่งหมายถึงอุปสงค์หรือกำลังซื้อที่จะหดตัวลงตามเม็ดเงินนั่นเอง นั่นจะกลายเป็นภาระของประชากรวัยทำงานในปัจจุบันที่มีจำนวนไม่มากพอที่จะรองรับกลุ่มเบบี้บูมเบอร์จำนวนมหาศาล ยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน การรัดเข็มขัด จำกัดต้นทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงาน โดยการลดจำนวนแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กรเป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในช่วยหลายปีที่ผ่านมา นี่ทำให้อัตราว่างงานที่สูงอยู่แล้ว พุ่งสูงขึ้นไปอีก โดยยังไม่ต้องพูดถึงการจ้างงานใหม่ ภาวะตลาดแรงงานในปัจจุบันนับว่าสร้างภาระอีกประการหนึ่งแก่งบประมาณด้านสวัสดิการของรัฐบาล จึงแทบจะเลิกหวังถึงการมาแบกรับภาระเลี้ยงดูคนวัยเกษียณจากยุคเบบี้บูมที่เคยรุ่งเรือง

เริ่มเบิกใช้สวัสดิการ บำนาญ

การก้าวสู่สังคมของคนสูงวัย สิ่งที่ตามมาก็คือการที่สังคมต้องรับภาระในการดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพ ถึงแม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จนส่งผลให้คนเรามีอายุขัยเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่เมื่อวัยเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะแปรผกผันกันก็คือสุขภาพที่อ่อนแอและเสื่อมโทรมลง จึงต้องการบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้นด้วยซึ่งนับเป็นรายจ่ายจำนวนมหาศาลของทุกประเทศที่มีนโยบายรัฐสวัสดิการ และยิ่งประชากรอายุยืนมากเท่าไร ค่าใช้จ่ายก้อนโตส่วนนี้ก็จะยิ่งเป็นภาระระยะยาวมากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็นับเป็นการตอบแทนประการหนึ่งต่อกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาได้ยืนหยัดช่วยก่อร่างสร้างความแข็งแกร่งแก่โลกและศรษฐกิจโลกที่ยับเยินหลังการเผชิญความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ที่ดูเหมือนว่ารัฐบาลในหลายประเทศก็แทบจะเอาตัวไม่รอดจากภาระหนี้ท่วมหัว

ตัวอย่างที่ชัดเจนและกำลังอยู่ในกระแสความสนใจของทั่วโลก นั่นก็คือกรีซ ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในอาการร่อแร่เต็มที หลังจากที่ผ่านการหารือเจรจากันมาอย่างยืดเยื้อมาราธอน ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาระหว่างผู้นำภาคการเมืองภายในประเทศด้วยกันเอง หรือการหารือกับบรรดาเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ จนทั่วโลกเริ่มจะถอดใจกับการแก้ไขวิกฤติหนี้ของกรีซแล้วนั้น ในที่สุดก็มีข้อตกลงแบบ “หมาดๆ" เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากบรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซนได้อนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือกรีซวงเงิน 1.3 แสนล้านยูโร เพื่อที่จะช่วยให้กรีซเลี่ยงภาวะผิดนัดชำระหนี้จำนวน 1.45 หมื่นล้านยูโรในการครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรของกรีซในวันที่ 20 มี.ค.นี้ ซึ่งกว่าจะตกลงกันได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย กรีซต้องยอมเจ็บยอมแลกชนิดที่เรียกว่า “เจ็บแต่ยังไม่รู้ว่าจะจบหรือไม่" แต่ก็ไม่มีทางเลือกแล้ว โดยก่อนหน้านี้ไม่นาน คณะรัฐมนตรีกรีซได้ให้การรับรองมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจากนานาประเทศก้อนนี้

สาระสำคัญประการหนึ่งในมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลกรีซก็คือ การลดเงินบำนาญลง 12% เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐลงให้ได้ 3.2 พันล้านยูโร แม้กระทั่งผู้นำประเทศยังต้องออกมาชี้แจงว่า การลดเงินบำนาญนั้นเป็นสิ่ง “จำเป็น" และ “ต้องทำ" (เพราะหมดหนทาง) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติหนี้ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบถ้วนทั่วต่อคนทุกรุ่น แม้กระทั่งกลุ่มคนจากยุคเบบี้บูม ที่เรียกได้ว่าถึงวัยที่ควรได้พักผ่อนใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสบายๆหลังจากกรำงานหนักมาทั้งชีวิต

โครงสร้างประชากรเริ่มระส่ำ

หันกลับมาที่เรื่องของโครงสร้างประชากรในปัจจุบัน ปัญหาประชากรที่ลดลงกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในหลายๆประเทศทั่วโลก อย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือฮ่องกง อันเนื่องมาจากค่านิยมของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ต้องการความเป็นอิสระ จึงเลือกครองตัวเป็นโสดหรือแต่งงานช้าลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยิ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมีครอบครัวและในการมีลูกมากขึ้นด้วย จึงนับเป็นเรื่องยากที่จะทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเพื่อมาทดแทนกับคนในยุคเบบี้บูมที่กำลังทยอยออกจากวงจรเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในขณะนี้

แม้กระทั่งประเทศยักษ์ใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีน ก็กำลังประสบปัญหาประชากรที่ลดลงเช่นกัน หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีเติ้ง เสี่ยวผิงของจีนได้เริ่มดำเนิน “นโยบายลูกคนเดียว" เมื่อปี 2522 ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 3 ทศวรรษแล้วนั้น โดยจีนได้กำหนดแต่ละครอบครัวสามารถมีลูกได้เพียงคนเดียว เพราะรัฐบาลหวั่นเกรงว่าจีนจะเผชิญปัญหาประชากรล้นประเทศ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ นโยบายดังกล่าวกำลังทำให้เกิดปัญหาด้านประชากรของจีนในอีกด้านหนึ่งนั่นก็คือ ทำให้จำนวนประชากรในวัยทำงานของจีนลดลงอย่างมาก โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่าประชากรวัยทำงานของจีนได้ลดจำนวนลงในปี 2554 ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกนับแต่ปี 2545 ขณะที่ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปกลับเพิ่มจำนวนขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลจีนต้องผ่อนปรนกฎระเบียบให้ประชาชนสามารถมีลูกคนที่สองได้มากขึ้นในบางพื้นที่ แต่ก็ยังไม่ได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวแต่อย่างใด

“ลิตเติ้ล เบบี้บูม" ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ปี 2555 นับเป็นโอกาสทองสำหรับหลายประเทศในเอเชีย เพราะตรงกับปีมังกรตามความเชื่อของคนเชื้อสายจีนว่าเป็นปีนักษัตรที่เป็นศิริมงคล ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นปีที่มีเด็กเกิดใหม่จำนวนมากกว่าปกติ โดยตามความเชื่อจีนนั้นถือว่ามังกรเป็นสัตว์ชั้นสูงและใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์จักรพรรดิในสมัยโบราณ ชาวจีนจึงเชื่อว่าเด็กที่เกิดในปีมังกรจะมีสติปัญญาดีและนำความโชคดีมาสู่วงศ์ตระกูล และเมื่อใดที่ปีมังกรเวียนมาถึง พ่อแม่ชาวจีนก็มักจะไม่พลาดที่จะให้ลูกถือกำเนิดขึ้นในปีดังกล่าว ดังนั้น จึงคาดกันว่าในปีมังกรทองนี้ ประเทศที่มีประชากรเชื้อสายจีนและกำลังเผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำ อย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน หรือฮ่องกง อาจจุดกระแส “เบบี้บูม" ได้อีกครั้ง แม้จะเป็นกระแสเล็กๆในวงจำกัดเฉพาะผู้ที่มีเชื้อสายจีนและไม่ได้เกิดขึ้นทั่วโลกดังเช่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็เป็นความหวังหนึ่งในการเพิ่มความสมดุลด้านประชากรได้บ้าง

ทางด้านนักวิเคราะห์จำนวนมากเห็นพ้องกันว่าแม้ปีนี้จะเป็นปี (มังกร) ทองสำหรับการให้กำเนิดทายาทสำหรับผู้ที่มีเชื้อสายจีน แต่ก็ไม่ใช่ปีทองสำหรับเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและวิกฤติที่กำลังฉีกทึ้งยูโรโซนในปัจจุบัน ดังนั้น ปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการจะมีลูกอาจจะไม่ใช่เพียงแค่ความเชื่อที่ยึดถือกันมาแต่โบร่ำโบราณเพียงอย่างเดียว แต่ประเด็นเรื่องรายได้ ความมั่นคงของหน้าที่การงาน ภาวะเศรษฐกิจและปัญหาปากท้อง ก็มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเช่นกัน จึงไม่ใช่ว่าพ่อแม่ที่มีเชื้อสายจีนทุกคนจะยอมเสี่ยงที่จะมีลูกในปีมงคลนี้ โดยคาดว่าพ่อแม่จำนวนมากจะชะลอการมีลูกออกไปจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและฐานะการเงินภายในครัวเรือนอยู่ในระดับที่ลงตัวและมีความพร้อมมากกว่านี้

ท้ายที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศและกลุ่มผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องขบคิดกันต่อไปในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากร ซึ่งนับเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมที่เราไม่อาจมองข้ามได้ และไม่ใช่ปัญหาที่จะสามารถแก้ไขได้ในระยะใกล้หรือระยะกลาง แต่ต้องในเวลาในระยะยาว เพราะกว่าที่ทารกเกิดใหม่ 1 คนจะสามารถเดินเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพนั้นไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่ 2 หรือ 3 ปี แต่อาจนานกว่า 10 หรือ 20 ปีเลยทีเดียว และในระหว่างนั้นก็คงต้องค่อยๆปรับใช้วิธีการและนโยบายที่เหมาะสมไปพลางๆ เพื่อให้เศรษฐกิจโดยรวมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เราคงต้องรอดูและเอาใจช่วยให้โลกของเราฝ่าฟันทั้งวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติโครงสร้างประชากรครั้งนี้ไปให้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ