นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะต่างๆ ได้แก่ เกาะมะพร้าว เกาะนาคาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เกาะพระทอง จังหวัดพังงา ด้วยวงเงินลงทุนรวม 233 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ในประเทศวงเงิน 175 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟภ.อีก 58 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ กำชับให้ กฟภ.กำกับดูแลและติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของบริษัทที่รับหน้าที่วางสายเคเบิลใต้น้ำให้ดำเนินการโดยใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดการฟุ้งกระจายของสารแขวนลอย วิธีการควบคุมการแพร่กระจายปริมาณสานแขวนลอยตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อแนวปะการัง หญ้าทะเล ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีความสำคัญในช่วงดำเนินการวางสายเคเบิลใต้น้ำอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายหลังการดำเนินการวางสายเคเบิลใต้น้ำด้วย
การก่อสร้างระบบจำหน่ายด้วยสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะต่างๆ ได้แก่ เกาะมะพร้าว เกาะนาคาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต จะต้องไม่ขัดกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2546 ในเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรการห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรมการเก็บหรือทำลายปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง หรือการกระทำใดๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบหรือทำให้ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการังถูกทำลาย หรือเสียหาย
กฟภ.ควรสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำแผนการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแผนการใช้ที่ดินเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช้เกินขีดความสามารถในการรองรับของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการในพื้นที่
และการพัฒนาโครงการในอนาคต เมื่อพื้นที่เกาะต่างๆ มีความเจริญมากขึ้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เกาะ เช่น การบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดิน ความแออัดของนักท่องเที่ยว ปริมาณน้ำเสียและขยะ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงในการจ่ายไฟ เพื่อรองรับไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาล ถ้าไม่มีการจัดการด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ดี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามมาจนเกินความสามารถในการรองรับการพัฒนาของพื้นที่ได้ ซึ่ง กฟภ. ควรตรวจสอบและดูแลเรื่องการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เฉพาะราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่โดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 เพื่อมิให้เป็นการส่งเสริมให้บุกรุกพื้นที่เกาะมากขึ้น