นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มีสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 10 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโคกสำโรง จ.ลพบุรี 1 แห่ง ที่บุรีรัมย์ 2 แห่งคือโรงพยาบาลบ้านกรวด และศูนย์สาธารณสุขชุมชนสายตรี ที่เหลืออยู่ในจ.นครราชสีมาได้แก่ ที่อ.ปักธงชัย 2 แห่งคือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอปักธงชัย และสถานีอนามัยนกหอก ที่อ.เมือง 5 แห่งคือสถานีอนามัยงิ้ว สถานีอนามัยบ้านแปลง โรงพยาบาลหัวทะเล ซึ่งได้ปิดทำการชั่วคราว และย้ายผู้ป่วยในไปโรงพยาบาลมหาราช โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา
โรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด มี 2 แห่ง คือโรงพยาบาลมหาราช และโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ติดกัน น้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ที่โรงพยาบาลมหาราชขณะนี้มีผู้ป่วยใน 1,300 คน ยังให้บริการได้ โดยจ้างบริษัทเอกชนและให้โรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็น
ส่วนโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ขณะนี้มีผู้ป่วยนอนรักษาประมาณ 100 คน ยังให้การดูแลต่อเนื่อง โดยย้ายผู้ป่วยไปนอนที่ชั้น 2 นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนอีก 1 แห่งคือโรงพยาบาลเซนต์แมรี ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมด้วยใน
เบื้องต้นโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีเครื่องซักผ้า เครื่องครัวต่าง ๆ ได้รับความเสียหายมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท ยังไม่ รวมเครื่องรังสีรักษาหรือเครื่องโคบอลต์ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ระบบไฟฟ้าในเครื่องเสียหาย ส่วนรังสีโคบอลต์นั้นเก็บอยู่ในแค็ปซูลอย่างดี ไม่มีการกระจายออกมาแต่อย่างใด
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน 4 เรื่องดังนี้ 1. ตั้งวอร์รูม ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม โดยมีน.พณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานศูนย์ มีกรมและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเป็นคณะทำงาน ให้รายงานความคืบหน้าผลการช่วยเหลือทุกวัน 2. สั่งการให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจรักษาโรคทั้งทางกายและสุขภาพจิต ฟรี และขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์จังหวัดใกล้เคียงไปช่วยจังหวัดที่ประสบภัย
3.ให้การดูแลผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งทีมสนับสนุนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา และหากโรงพยาบาลใดมีความจำเป็น ให้เปิดจุดบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมนอกโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยได้ทันท่วงที ส่วนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เปิดบริการตามปกติ สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง ให้จัดหน่วยแพทย์เข้าไปดูแลถึงที่บ้านเป็นกรณีพิเศษ 4.ให้วอร์รูมจัดระบบเครือข่ายการดูแลผู้ป่วย และระบบส่งต่อผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินขณะเกิดน้ำท่วมไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงให้ชัดเจน เพื่อให้ปฏิบัติงานอย่างคล่องตัวและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยให้มากที่สุด
ด้านแพทย์หญิงสุวรรณี ตั้งวีระพรพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลมีความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวด นมกล่อง และอาหารแห้ง รวมทั้งของใช้เบ็ดเตล็ดผู้ป่วย เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ผ้าอนามัย เป็นจำนวนมาก