In Focusจากปฏิบัติการกู้ชีพคนงานเหมืองในชิลี สู่โศกนาฏกรรมที่แดนมังกร

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 20, 2010 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากตัวเลข "33" คือจำนวนคนงานเหมืองในชิลีที่รอดชีวิตหลังจากติดอยู่ใต้ดินนาน 69 วัน ตัวเลข "37" คือจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่ประเทศจีน

โศกนาฏกรรมในภาคอุตสาหกรรมเหมืองครั้งล่าสุดเกิดขึ้นกับเหมืองถ่านหินที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทผิงหยู โคล แอนด์ อิเล็กทริค คอมพานี จำกัด (Pingyu Coal & Electric Company Limited) ในมณฑลเหอหนาน ทางภาคกลางของจีนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16 ต.ค.) หลังจากที่คนงานขุดหลุมระบายความกดอากาศ ในขณะที่มีคนงานอยู่ใต้เหมืองทั้งสิ้น 276 คน โดยรายงานข่าวล่าสุดในเช้าวันนี้ (20 ต.ค.) ระบุว่า พบศพผู้เสียชีวิตทั้งหมดแล้ว 37 ราย

ข่าวอุบัติเหตุเหมืองระเบิดยังคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก แม้ว่าปกติแล้วข่าวในลักษณะนี้จะไม่สามารถกระชากเรทติ้งจากหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อแขนงอื่นๆ ได้มากนัก แต่มาถึงวันนี้คงต้องยอมรับว่าทุกสายตาเริ่มจับจ้องไปที่อุตสาหกรรมเหมืองมากขึ้น หลังมีการถ่ายทอดสดภารกิจบันลือโลกเพื่อช่วยชีวิตคนงานเหมืองในชิลี ซึ่ง ณ เวลานี้ ชีวิตที่เปรียบเสมือนตายแล้วเกิดใหม่ของพวกเขากำลังแปรเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย

แม้เหตุการณ์เหมืองถ่านหินระเบิดในประเทศจีนจะไม่ได้เป็นข่าวครึกโครมเท่ากับข่าวเกาะติดสถานการณ์การช่วยชีวิตคนงานเหมืองที่เกิดขึ้นในอีกฟากหนึ่งของโลก แต่ถึงกระนั้น จุดร่วมและจุดต่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดอาจสะท้อนเรื่องราวของอุตสาหกรรมเหมืองทั่วโลกในมิติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของสวัสดิภาพ โศกนาฏกรรม ความหวัง และแม้กระทั่งเรื่องราวที่ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์

สวัสดิภาพการทำงาน...ยอดปรารถนาของมนุษย์ใต้ดิน

คำกล่าวที่ว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อว่า "เสี่ยงภัยและอันตรายมากที่สุดในโลก" ดูจะไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยความจริงไปแม้แต่น้อย เมื่อหวัง กัง ลูกหลานพันธุ์มังกรวัย 24 ปี ผู้สืบทอดอาชีพคนงานเหมืองรุ่นที่สามในครอบครัวออกมายืนยันคำล่ำลือดังกล่าว โดยเขาได้บอกเล่าผ่านทางหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ว่า ตนคือผู้ใช้ชีวิตที่เสี่ยงอันตรายในการทำงานอยู่ใต้พื้นดิน ซึ่งในแต่ละเดือน เขาและเพื่อนร่วมชะตากรรมจะลงกะทำงานในเหมืองประมาณ 20 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 12 ชั่วโมง

กัง ระบายความอัดอั้นให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า "ตอนที่ผมลงไปในอุโมงค์ครั้งแรก ผมรู้สึกได้เลยว่า เหมืองนี้คือนรกดีๆ นี่เอง ถ้าผมเลือกได้ ผมจะไม่ขอทำงานในเหมืองเด็ดขาด เพราะไม่ใช่แค่ผมเท่านั้นที่ต้องทำงานอย่างระวังหน้าระแวงหลัง แต่ทุกคนในครอบครัวที่ชะเง้อคอรอผมกลับบ้านก็ไม่เคยมั่นใจว่า ผมจะกลับบ้านมาด้วยอวัยวะที่ครบสามสิบสอง"

อย่างไรก็ตาม มาตรการล้อมคอกหลังวัวหายของรัฐบาลจีนที่ทุกฝ่ายน่าจะคาดเดากันได้ คือ นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีนได้ประกาศให้เจ้าของเหมืองยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย โดยรัฐบาลกำหนดบทลงโทษทั้งในส่วนของค่าปรับที่เรียกเก็บจากการดำเนินกิจการเป็นเงิน 1.5 แสนถึง 5 ล้านหยวน ขณะที่เจ้าของเหมืองจะต้องถูกปรับเงินเพิ่มอีก 10,000 หยวน โดยกำหนดเพดานค่าปรับสูงสุดไว้ที่ร้อยละ 80 ของรายได้การดำเนินธุรกิจเหมืองในปีก่อนหน้า ไปจนถึงการสั่งห้ามประกอบกิจการเหมืองตลอดชีวิต

สำหรับชิลีนั้น รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มงบประมาณในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขึ้นถึงสามเท่า พร้อมยกเครื่องกฎระเบียบการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเหมืองให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อปกป้องชีวิตคนงานเหมืองในประเทศ นอกจากนี้ ชิลีจะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาที่ 176 ขององค์การแรงงานสากลที่กำหนดให้คนงานเหมืองมีสิทธิ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านความปลอดภัยด้วย

จากเรื่องราวสวัสดิภาพความปลอดภัยในการทำงานข้างต้นอาจสะท้อนได้ว่าในยามที่ "เงินตรา" และ "ความก้าวหน้า" คือสุดยอดปรารถนาของมนุษย์เงินเดือน "สวัสดิภาพ" และ "ความปลอดภัย" อาจเป็นปัจจัยแรกๆ ที่คนงานเหมืองใต้ดินต้องการ

โศกนาฏกรรมในอุตสาหกรรมเหมือง...การทำงานที่เดิมพันด้วยชีวิต

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุบัติเหตุในอุตสาหกรรมเหมืองที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งมักนำมาซึ่งความเสียหายที่คิดเป็นมูลค่ามหาศาล รวมไปถึงชีวิตคนงานเหมืองที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายที่เจ้าของเหมืองต้องสูญเสียไปด้วย

จากโศกนาฏกรรมเหตุเหมืองระเบิดในจีนครั้งล่าสุดนี้ นายตู้ โบ รองหัวหน้าสำนักงานกู้ภัยของจีนเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้กู้ร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 37 รายขึ้นมาหมดแล้วท่ามกลางอุปสรรคจากฝุ่นถ่านหินหนาทึบที่อัดแน่นเต็มอุโมงค์เหมืองกว่า 2,500 ตัน โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่า คนงานเหมืองส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ

ในส่วนของภารกิจการช่วยชีวิตคนงานเหมืองในชิลี ที่แม้จะปิดฉากลงไปอย่างสวยสดงดงาม ท่ามกลางความประทับใจของคนทั่วโลก แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลชิลีเปิดเผยว่า รัฐบาลหมดเงินไปกับภารกิจครั้งนี้ถึง 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ขณะที่บริษัทเหมืองที่เกิดเหตุเองก็ถูกศาลชิลีมีคำสั่งอายัดบัญชีเงินฝากมูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปใช้จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย ส่วนครอบครัวของคนงานเหมืองชิลีต่างพร้อมใจยื่นเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่ากว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความสูญเสียที่สามารถประเมินมูลค่าเป็นวงเงินได้นั้น ความสูญเสียในแง่ของทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ถือเป็นความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับภาคอุตสาหกรรมเหมืองในประเทศจีน โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สังเวยให้กับภาคอุตสาหกรรมเหมืองของจีนเมื่อปีที่แล้วมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2,600 ราย ขณะที่หนังสือพิมพ์พีเพิ่ล เดลีของทางการจีนรายงานอ้างการเปิดเผยของสำนักงานพลังงานแห่งชาติว่า ในปีนี้ ทางการได้สั่งปิดกิจการเหมืองถ่านหินขนาดเล็กไปแล้ว 1,611 แห่งทั่วประเทศ

ความหวัง...อันเรืองรองของชิลี กับ ความหวัง…อันริบหรี่ในจีน

"ฟ้าหลังฝน ย่อมสดใสเสมอ" อาจเป็นคำเปรียบเปรยที่ใช้พูดถึงชิลีได้อย่างถูกที่ถูกเวลา หลังจากทั่วโลกต่างประทับใจกับความอดทนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของวีรบุรุษคนงานเหมืองในภารกิจช่วยชีวิตที่ปิดฉากลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง จนทำให้ชิลีกลายเป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์ดีขึ้นมาทันตาเห็น ตรงข้ามกับอุตสาหกรรมเหมืองในจีนที่ย่ำแย่ขนาดหนัก จนถึงขั้นกู่ไม่กลับเสียแล้ว

ประธานาธิบดี เซบาสเตียน ปิเนราแห่งชิลี กล่าวภายหลังประสบความสำเร็จในการช่วยชีวิตของคนงานเหมือง 33 รายที่ติดอยู่ใต้ดินครั้งนี้ว่า ความมหัศจรรย์ครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงชิลีไปตลอดกาล ชิลีจะกลายเป็นประเทศที่มีเอกภาพอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะที่โชคกำลังเดินทางมาเยือนคนงานเหมืองที่ผ่านพ้นการเผชิญเคราะห์กรรมแสนสาหัส ก่อนที่วันนี้พวกเขาจะกลับมาใช้ชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง

หากอุตสาหกรรมเหมืองในชิลีสะท้อนให้เห็นถึงด้านสว่าง อุตสาหกรรมเหมืองในจีนคงสะท้อนถึงด้านมืดที่เกิดขึ้น โดยบรรดานักท่องเว็บได้พากันตั้งกระทู้เปรียบเทียบกรณีการช่วยชีวิตคนงานเหมืองในชิลีและจีนว่า "ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นโชคดีของชาวชิลีโดยแท้ เพราะถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนงานในจีน พวกเขาคงมีหวังโดนฝังทั้งเป็น" ที่สำคัญพวกเขายังแขวะไปที่การทำงานรัฐบาลจีนเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่รัฐของชิลีที่กระตือรือร้นและทุ่มเทแรงกายแรงใจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างแข็งขันมากกว่าจีนอยู่หลายขุม

ด้านหลี่ จงหุ่ย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย China University of Mining and Technology (CUMT) แสดงความเห็นว่า ปฏิบัติการช่วยชีวิตคนงานเหมืองในชิลีประสบความสำเร็จได้ก็เพราะความร่วมมือกันอย่างแข็งขันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่คนงานเหมืองเอง ที่มีทักษะความรู้ และมีสัญชาติญาณในการทำให้ตัวเองมีชีวิตรอดต่อไปได้

ขณะที่ตู จี่ผิง ศาสตราจารย์อีกท่านจากมหาวิทยาลัยเดียวกันให้ทัศนะว่า เหมืองถ่านหินแต่ละแห่งมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหากมองเฉพาะปฏิบัติการกู้ชีวิตคนงานเหมืองชิลีนั้นพบว่า สภาพเหมืองทองแดงในชิลีไม่ต้องเผชิญกับน้ำท่วม และก๊าซระเบิดในอุโมงค์เหมืองถ่านหินซึ่งมักเป็นสาเหตุหลักของโศกนาฎกรรมเหมืองในจีน ทั้งนี้ ทัศนะดังกล่าวดูจะสอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่ออกมาชี้ว่า แคปซูลกู้ภัยของชิลี อาจไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ช่วยคนงานเหมืองถ่านหินในจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยก๊าซพิษและอุปสรรคจากภาวะน้ำท่วม พร้อมกันนี้ผู้เชี่ยวชาญยังระบุด้วยว่า เหมืองของทางการจีนเองมีระบบความปลอดภัยและการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสูง แต่ติดอยู่ที่ปัญหาด้านเทคโนโลยีในเหมืองซึ่งยังด้อยประสิทธิภาพ

จากปฏิหาริย์ใต้พื้นปฐพี...สู่ความโชคดีที่แฝงอยู่ในความโชคร้าย

ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนงานเหมืองในชิลีเป็นสิ่งที่ฝรั่งมังค่าเรียกว่า "blessing in disguise" จากเรื่องราว "ต้นร้ายปลายดี" ที่เปรียบเสมือนของขวัญจากพระเจ้าซึ่งประทานให้กับพวกเขา หลังผ่านช่วงเวลาแห่งการจองจำมานานกว่า 2 เดือน เพราะจากนี้ต่อไปเรื่องราวปาฏิหาริย์สุดแสนประทับใจของมนุษย์ผู้ใช้ชีวิตลึกลงไปใต้ดินเกือบ 700 เมตรกำลังจะถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ขณะที่สมาชิกบางคนอาจได้โลดแล่นอยู่ในโลกของเซลลูลอยด์

รายงานข่าวระบุว่า คนงานเหมืองทั้งหมดจะได้รับทรัพย์ก้อนโตจากการเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของการเป็นมนุษย์ใต้ดิน รวมถึงการนำเรื่องราวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งบางคนอาจได้ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ ขณะที่สถานีโทรทัศน์ค่ายต่างๆ เสนอเงินมากถึง 2.5 แสนปอนด์ เพื่อแลกกับการสัมภาษณ์พิเศษแบบเจาะลึก นอกจากนี้ ยังมีคนงานเหมืองบางรายถูกทาบทามให้เป็นแม้กระทั่งพรีเซนเตอร์เหล้ายา ไปจนถึงโฆษณาวิตามินอาหารเสริม จากเดิมที่พวากเขาก็เป็นเพียงคนทำงานเหมืองเพื่อแลกกับเงินที่ได้รับโดยเฉลี่ยเพียง 417 ปอนด์ต่อเดือน

นอกเหนือจากคนงานเหมืองที่ดูเหมือนจะเจอโชคหล่นทับหลังเผชิญเคราะห์กรรมแสนสาหัสมาแล้ว นักการเมืองก็พลอยได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นทันที โดยเฉพาะท่านประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนราแห่งชิลี และลอว์เรนซ์ โกลบอร์น รัฐมนตรีกิจการเหมืองแร่ โดยเฉพาะรายหลังนี้มีคะแนนนิยมพุ่งกระฉูดถึง 85% ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานเหมืองตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งทั้งหมดพิสูจน์ได้จากความป๊อปปูลาร์บนทวิตเตอร์ของเขาที่มีคนแห่เข้าไปเป็น follower ถึง 15,000 รายในสัปดาห์เดียว

นักสังเกตการณ์มองว่า นอกจากโกลบอร์นจะประสบความสำเร็จในการนำทีมเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคนงานเหมืองแล้ว เขายังประสบความสำเร็จในการแย่งซีนคนงานเหมืองและกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงที่สุดของชิลีไปแล้ว และความสำเร็จของรัฐบาลชิลีในครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้ประชาคมโลกเห็นแล้วว่า รัฐบาลชิลีวางแผนช่วยเหลือประชาชนอย่างรัดกุม เป็นขั้นตอน และมีประสิทธิภาพจนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก

ปิดท้ายที่พระเอกคนสำคัญซึ่งไม่พูดถึงไม่ได้ในภารกิจนี้ นั่นคือ "ฟีนิกซ์" แคปซูลช่วยชีวิตความสูง 4 เมตร หนัก 450 กิโลกรัม ซึ่งถูกใช้เป็นพาหนะสำคัญในการนำคนงานทั้งหมดขึ้นมาจากใต้พื้นหินน้ำหนัก 700,000 ตัน ด้วยแผนการช่วยเหลือที่เป็นไปอย่างระมัดระวังมากที่สุด มาวันนี้แคปซูลฟีนิกซ์ได้โอกาสแจ้งเกิดแบบโกอินเตอร์อย่างเต็มตัว เมื่อโรดริโก้ ฮินซ์ปีเตอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยของชิลีเปิดเผยว่า รัฐบาลดำเนินการส่งตัวอย่างแคปซูลฟีนิกซ์เดินสายโชว์ตัวอยู่ในพาวิลเลี่ยนของชิลี ที่งานเซี่ยงไฮ้ เอ็กซ์โป 2010 ตั้งแต่วันนี้จนกระทั่งสิ้นสุดงานในวันที่ 31 ตุลาคม 2553

ปาฏิหาริย์แห่งปฏิบัติการช่วยชีวิตคนงานเหมืองในชิลีอาจสะท้อนถึงความหวังของมนุษย์หยิบมือหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจากใต้พื้นดิน ขณะที่ความจริงอีกด้านยังมี "นักรบนิรนาม" บนสมรภูมิเหมืองของจีนที่ต้องซุกตัวอยู่ใต้อุโมงค์มืดมิดและเสี่ยงอันตราย และสุดท้ายอาจจบชีวิตลงอย่างไร้คนเหลียวแล

สุดท้ายนี้ สิ่งที่จีนและประชาคมโลกได้เรียนรู้ร่วมกันจากปฏิบัติการช่วยชีวิตคนงานเหมืองชิลี คือ การตระหนักถึงคุณค่าการมีชีวิตของเพื่อนมนุษย์ ด้วยจิตสำนึกด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยอันเป็นหัวใจสำคัญในการคุ้มครองคนงาน ท่ามกลางความหวังว่า โศกนาฏกรรมในภาคอุตสาหกรรมเหมืองจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ