นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำที่ อ.ปักธงชัย ปริมาณน้ำในเขื่อนลำพระเพลิง เริ่มมีระดับลดลง และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์ สำหรับพื้นที่น้ำท่วมที่ อ.ปักธงชัย ขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงประมาณ 10 เซนติเมตร/วัน คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์
ส่วน อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำมูลสูงกว่าระดับน้ำในลำตะคอง ทำให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมอย่างช้าๆ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2553 ส่วนขณะนี้สภาพอากาศพบร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนกระจายถึงเกือบทั่วไป กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนกระจาย สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ
ข้อมูล ณ วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมดรวม 52,492 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด น้อยกว่าปี 2552 จำนวน 5,271 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 489.94 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย จำนวน 194.09 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 21,063 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ ยังคงมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น คาดว่าจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 21-22 ตุลาคม 2553 ในอัตรามากกว่า 2,200 ลบ.ม./วินาที เล็กน้อย สำหรับสถานการณ์น้ำ ณ ปัจจุบัน 1,980 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรัง และปริมาณน้ำท่าเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ไหลลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 688 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำไหลถึงเขื่อนเจ้าพระยารวม 2,617 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำ โดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านระบบชลประทาน ฝั่งตะวันตกและตะวันออก รวม 284 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพียง 2,333 ล้าน ลบ.ม./วินาที สำหรับปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณ 930 ล้านลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำท่าท้าย เขื่อนป่าสัก มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ปริมาณ 1,185 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำไหลผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่อ.บางไทร รวม 2,948 ลบ.ม./วินาที ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ
นายธีระ กล่าวต่อว่า ระดับน้ำทะเลจะเริ่มหนุนสูงตั้งแต่วันที่ 24-27 ตุลาคม 2553 ในช่วงเวลาก่อนที่น้ำทะเลจะหนุนสูง กรมชลประทาน จะเร่งลดระดับน้ำท่วมขังและระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ส่วนในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทาน จะลดการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้ไหลผ่านกรุงเทพฯ โดยไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมกับกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศในช่วงนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในการบริหาร จัดการน้ำ กรมชลประทานได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กปร. ประชุมวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง
โดยในวันนี้ก็จะมีการประชุมเพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่งที่กรมชลประทาน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด