นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ที่ประชุมความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการบริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในเขตกรุงเทพมหานคร เห็นชอบให้กทม. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยให้กทม. กำหนดมาตรฐานการดูแล การซ่อมบำรุง พร้อมทั้งมาตรฐานของกล้องที่ต้องมีความละเอียด 3 ล้านพิกเซล เพื่อการจับภาพที่ให้รายละเอียดสูงสามารถบันทึกลักษณะและรูปร่างของสิ่งผิดปกติได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย และการป้องกันอาชญากรรมความรุนแรง
ทั้งนี้ กทม.จะทำหนังสือถึง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อพิจารณาให้เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงระบบกล้องจากเอกชนผ่านระบบไฟเบอร์ออฟติกสัญญาณแบบไร้สาย (ไวเลส) ซึ่งหากกระทรวง ICT ไม่มีความพร้อม กทม. ก็อาสารับเป็นแกนกลางเชื่อมโยงกล้อง CCTV จากเอกชน แต่จะเชื่อมเฉพาะในพื้นที่กทม. เท่านั้น
ส่วนด้านการติดตั้งของเอกชนในที่ประชุมได้รายงานว่า เอกชนมีการติดตั้งกล้องเพื่อความปลอดภัยแล้ว 2,096 กล้อง ในย่านราชประสงค์ ในสถานีรถไฟฟ้า BTS MRT และดอนเมืองโทลเวย์ ในจำนวนนี้ไม่รวมโรงแรมต่างๆ ที่ติดตั้งกล้องภายในเท่านั้น แต่พร้อมให้การสนับสนุนติดตั้งเพื่อความปลอดภัยภายนอกตัวอาคารด้วย
นอกจากนั้น ยังมีสถานประกอบการติดตั้งอื่นอีก คือ สถานให้บริการน้ำมัน 782 กล้อง มินิมาร์ท 2,533 กล้อง ธนาคาร 1,908 กล้อง ร้านขายทอง 1,324 กล้อง ร้านอินเตอร์เน็ต 2,299 กล้อง และกล้องในพื้นที่เสี่ยงของ บช.น.ที่ให้กทม. ติดตั้งอีก 467 กล้อง รวมทั้งหมด 8,846 กล้อง เมื่อรวมกับกล้องที่กทม. ติดตั้งแล้วประมาณ 3,000 กล้อง จะรวมเป็นมากกว่า 1 หมื่นกล้องทั่วกรุงเทพฯ
ด้านกล้องเพื่อความปลอดภัยที่ บช.น.ร้องขอให้กทม. ติดตั้งอย่างเร่งด่วนอีก 829 ตัวนั้น มั่นใจว่ากทม. สามารถติดตั้งให้เสร็จก่อนปีใหม่ 2554 แน่นอน ซึ่งจะเร่งให้ติดตั้งเสร็จก่อน 5 ธ.ค. 53 จำนวน 500 กล้องก่อน
อนึ่ง ในการประชุมความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการบริหารจัดการกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในเขตกรุงเทพมหานคร มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กระทรวงไอซีที กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กรมทางหลวง สมาคมโรงแรม ผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ BTS, MRT, BMCL, และทางยกระดับดอนเมือง