กทม.มั่นใจรับมือน้ำเหนือได้หากฝนไม่ตกซ้ำ แต่ยังเฝ้าระวัง 13 เขตริมน้ำ

ข่าวทั่วไป Friday October 22, 2010 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและหารือถึงแผนการเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กทม. โดยขอให้ประชาชนอุ่นได้ เพราะเขื่อนริมเจ้าพระยารองรับน้ำได้ 2.50 เมตร แม้น้ำจากท้ายเขื่อนมากกว่า 4,500 ลบ.ม./วินาที ก็ไม่น่าห่วง หากมากกว่านั้นยังเสริมกระสอบทรายสูงขึ้นอีก 20-30 ซ.ม. แต่เตือนประชาชน 27 ชุมชน ใน 13 เขต 1,273 ครัวเรือน เฝ้าระวังน้ำทะลัก เตรียมพร้อมขนย้ายตลอดเวลา

ทั้งนี้ จากการรายงานของสำนักการระบายน้ำถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันมีฝนตกรวม 1,886 มิลลิเมตร มากกว่าปริมาณเฉลี่ย 30 ปี และจากสถิติทุกเดือนที่ผ่านมาในปีนี้พบว่ามีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น โดยมีการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณ 4,134 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะถึงเขตกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 ต.ค.53 คาดการณ์ว่าจะมีระดับน้ำสูง 2.08 เมตร

อีกทั้งการคาดการณ์จากกรมอุทกศาสตร์ ระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค 53 รายงานว่าหากมีปริมาณน้ำท้ายเขื่อน 3,500 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 1.86 เมตร หรือหากมีปริมาณ 4,000 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 2.13 เมตร และหากมีปริมาณ 4,500 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำจะอยู่ที่ 2.35 เมตร ซึ่งหากไม่มีฝนตกในวันดังกล่าว กทม. สามารถรองรับน้ำได้ โดยระดับเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความสูง 2.50 เมตร อีกทั้งได้มีการเสริมแนวเขื่อนด้วยกระสอบทรายสูงขึ้นอีก 20-30 เซนติเมตรด้วย

สำหรับปริมาณน้ำที่ลงมาถึงเขตกรุงเทพฯ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ และพื้นที่ที่ยังไม่สร้างแนวเขื่อน และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา 27 ชุมชน ใน 13 เขต 1,273 ครัวเรือน แต่อย่างไรก็ดี ได้มีการเตรียมรับสถานการณ์ไว้แล้ว ทั้งการเตรียมวางกระสอบทราย การเตรียมการอพยพ การเตรียมเวชภัณฑ์ อาหาร รถขนย้ายสิ่งของ สะพานไม้ แต่ประชาชนก็ต้องเตรียมพร้อมตัวเองด้วย หากมีเหตุฉุกเฉินได้มีการเตรียมโรงเรียน วัด มัสยิด ไว้สำหรับเคลื่อนย้ายประชาชน จำนวน 20 แห่งแล้ว

ในส่วนของการเตรียมพร้อมในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ก็ได้เตรียมการไว้ตลอดเวลา หากมีน้ำไหลเข้าพื้นที่ก็สามารถระบายน้ำด้วยประตูระบายน้ำ 214 แห่ง สถานีสูบน้ำ 157 สถานี เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,065 เครื่อง บ่อระบายน้ำใต้ดินจากท่อสู่คลอง 180 แห่ง หน่วยเบสท์ 79 หน่วย หน่วยเทศกิจให้ความช่วยเหลือ 3 ชุด โดยน้ำอาจท่วมขังอยู่บ้าง 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมของสำนักการระบายน้ำในการป้องกันและเตรียมแผนรับมือน้ำทะเลหนุนในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมทั้ง 13 เขต คือ เขตดุสิต เขตบางซื่อ เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตคลองเตย เขตบางเขตบางกอกน้อย เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตทวีวัฒนา เขตราษฎร์บูรณะ ตั้งข้อสังเกตว่า ควรเร่งทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะได้รับผลกระทบได้รับทราบและเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้หากเกิดน้ำท่วม เนื่องจากการสำรวจบางพื้นที่ประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีพื้นที่ใดที่ได้รับผลกระทบบ้าง

ทั้งนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบข้อมูลเพื่อเตรียมการป้องกันก่อนได้รับผลกระทบ โดยสำนักการระบายน้ำควรร่วมมือกับสำนักงานเขตในการจัดส่งเจ้าหน้าลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจและเป็นเตือนภัยจุดเสี่ยงเพื่อให้ประชาชนย้ายข้าวของที่จำเป็นและมองหาที่พักสำรองไว้ตั้งแต่ต้น อีกทั้งจะเป็นการแจ้งภัยล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครตื่นตระหนกจากสถานการณ์ในครั้งนี้ รวมถึงควรใช้งบประมาณในการก่อสร้างสะพานไม้ในพื้นที่จุดเสี่ยงในการแก้ปัญหาและเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และเป็นการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้าวของอีกด้วย

ด้านนายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา โฆษกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักการระบายน้ำจำเป็นต้นให้ข้อมูลที่ชัดเจนและตรงไปตรงมากับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกในสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางมาตรการแก้ไขตั้งแต่ต้นและเตรียมแผนในการเยียวยาทางจิตใจให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน รวมถึงประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมแผนแม่บทระยะยาวในการวางระบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคต

พร้อมเห็นว่า ควรตั้งคณะกรรมการหารือร่วมกับพื้นที่เขตที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สรุปปัญหาและนำเสนอต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมประชุมกับรัฐบาลในการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ